กพร.ชี้แจงปม "อัครา" เตรียมกลับทำ "เหมืองทอง" - ไม่เกี่ยว "คิงส์เกต" ถอนฟ้อง

การเมือง
4 ก.พ. 65
15:38
296
Logo Thai PBS
กพร.ชี้แจงปม "อัครา" เตรียมกลับทำ "เหมืองทอง" - ไม่เกี่ยว "คิงส์เกต" ถอนฟ้อง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กพร.ชี้แจงกรณี "อัครา" เตรียมกลับมาเปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำ ใน จ.พิจิตร อีกครั้ง ระบุให้ทำในพื้นที่เดิมไม่ได้ขยายเพิ่ม และ ไม่เกี่ยวข้องกับกรณี "คิงส์เกตฯ" ถอนฟ้องคดี พร้อมตั้ง คกก.เฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมือง

วันนี้ (4 ก.พ.2565) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีภาคประชาชนขอให้ตรวจสอบบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) รวมถึงความบกพร่องในกระบวนการต่าง ๆ หลังเตรียมเปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำใน จ.พิจิตรอีกครั้ง โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. กรณีขาดการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่ การต่ออายุประทานบัตรจำนวน 4 แปลงของบริษัท อัคราฯ เป็นการอนุญาตให้ประกอบกิจการในพื้นที่เดิม ไม่ได้มีการเพิ่มหรือขยายพื้นที่ใหม่แต่อย่างใด แม้การต่ออายุประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ไม่ได้กำหนดให้ต้องจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ แต่เนื่องจาก กพร. ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ และความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณรอบพื้นที่เหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ ในรัศมี 500 ม. และในรัศมี 500 ม. - 3 กม. ในพื้นที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก ในช่วงปี 2558-2564 รวม 5 ครั้ง ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง เพื่อให้ทุกหลังคาเรือนมีโอกาสได้มีส่วนร่วมเท่า ๆ กัน ซึ่งผลปรากฏว่าส่วนใหญ่ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการ

นอกจากนี้ กพร. ยังได้มอบนโยบายให้บริษัท อัคราฯ ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ทั่วถึงมากขึ้น และกำชับให้บริษัทฯ ส่งเสริม ช่วยเหลือ ดูแล และพัฒนาชุมชน เพื่อให้การประกอบกิจการได้รับการยอมรับมีความสัมพันธ์ที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

2. การเตรียมงบประมาณเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนเพียงร้อยละ 0.1 อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ต่างประเทศ ต้องเตรียมงบฯ ดังกล่าวร้อยละ 0.9 นอกจากการดำเนินโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทดำเนินการด้วยความสมัครใจแล้ว บริษัทยังต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของทางราชการ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท อัคราฯ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่โครงการมากกว่า 600 ล้านบาท และนำเงินเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ปีละ 10 ล้านบาท

ปัจจุบันมีเงินคงเหลือสะสม 80 ล้านบาท และตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ 2560 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุน จำนวน 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง ซึ่งบริษัทต้องนำเงินเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 21 ของค่าภาคหลวงแร่ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าภาคหลวงย้อนหลัง 6 ปี (ปี 2554-2559) กพร. จัดเก็บค่าภาคหลวงทองคำและเงินในอัตราก้าวหน้าหรือประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าแร่ จากบริษัท อัคราฯ ได้มากกว่าปีละ 500 ล้านบาท สามารถประมาณการเงินที่บริษัทต้องนำเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท ดังนั้น เงินที่จะถูกจัดสรรไปเพื่อการพัฒนาชุมชนจึงมีมากกว่าร้อยละ 1.0 ของมูลค่าแร่ นอกจากนี้ เงินค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จะถูกจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดร้อยละ 50 เพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนอีกด้วย

3. ไม่มีแนวกันชนระหว่างชุมชนกับเขตเหมืองแร่ ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการทำเหมือง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำ แนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง พ.ศ. 2562 กำหนดให้พื้นที่บ่อเหมืองต้องมีระยะห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 300 ม. โรงแต่งแร่หรือโรงประกอบโลหกรรมที่อยู่ในเขตเหมืองแร่ต้องมีระยะห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 500 ม. พื้นที่เก็บกักหางแร่หรือกากโลหกรรมที่อยู่ในเขตเหมืองแร่ต้องมีระยะห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 500 ม. และพื้นที่เก็บกองมูลดินทรายต้องมีระยะห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 200 ม.

สำหรับการต่ออายุประทานบัตรและต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท อัคราฯ เข้าข่ายเป็นโครงการที่ต้องจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองตามประกาศดังกล่าว ซึ่งได้มีการกำหนดแนวพื้นที่กันชนที่มีระยะห่างจากชุมชนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยครบถ้วนแล้ว

4. หลีกเลี่ยงหรือหาช่องทางกฎหมายในการไม่สร้างหลักประกันและแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเหมืองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการอนุญาตให้เหมืองดังกล่าวกลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยไม่ได้มีการกำกับดูแลที่รัดกุมเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนโดยรอบ อาจเป็นการสมยอมในเรื่องคดีความ แลกกับการกลับมาดำเนินการเหมืองทองในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง

บริษัท อัคราฯ ได้จัดทำแผนงานการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองตลอดอายุโครงการพร้อมงบประมาณที่ใช้เสนอ กพร.ประกอบการพิจารณาอนุญาต พร้อมวางหลักประกันสำหรับการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การพิจารณาอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ ต่ออายุประทานบัตรเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการแร่ตามขั้นตอนปกติของกฎหมายที่กำหนดไว้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริษัท คิงส์เกตฯ ถอนฟ้องคดีแต่อย่างใด

อีกทั้งการกลับมาประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ ทั้ง พ.ร.บ.แร่ 2560 และกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ 2560 ซึ่งมีมาตรการที่เหมาะสมรัดกุมและสามารถปกป้องคุ้มครองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่อาจเกิดจากการทำเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (Baseline data) การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง (Buffer zone) การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ การวางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง การทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรของบริษัท อัคราฯ คณะกรรมการแร่ยังได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมประกอบการอนุญาต โดยกำหนดให้ กพร. แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยผู้แทนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการตรวจสอบการประกอบกิจการภายหลังได้รับอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตร

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง