นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า แนวโน้มภาคการผลิตของไทยเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนตุลาคม 2564 ระดับ 97.99 ขยายตัว 2.91% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้ MPI 10เดือน(ม.ค.-ต.ค.)อยู่ที่ 97.26 ขยายตัว 5.93% ดังนั้นสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)จึงได้ทำการปรับประมาณการ MPI ปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.2% จากเดิม 4-5% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเป็น 3.9% จากเดิม 3-4% และในปี 2565 ประมาณการ MPI ขยายตัว 4.0-5.0% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.5-3.5% โดยดัชนีผลผลิตอุตฯปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก หลังจากที่หลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยเติบโตโดยปีนี้คาดว่าจะโต 15-16% จากปีก่อนและมองว่ายังเป็นปัจจัยหนุนในปีหน้า รวมถึงมาตรการรัฐบาลที่ได้เข้ามาสนับสนุนการดูแลค่าครองชีพ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 พ.ย. เป็นต้นไป ก็จะทำให้ภาพการผลิตของไทยทยอยปรับตัวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของโควิด-19 ที่ต้องติดตามใกล้ชิดโดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลายประเทศได้กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตฯ เดือนต.ค.อยู่ที่ระดับ 97.99 ถือเป็นค่าดัชนีที่เข้ามาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 64.07 โดย 10 เดือนอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.26 ส่งสัญญาณดีขึ้น จากสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ความต้องการซื้อสินค้าในประเทศและต่างประเทศเริ่มขยายตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว อีกทั้งมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่โดยเฉพาะภาคส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องทำให้คาดว่า MPI เดือนพ.ย.จะเติบโตได้ต่อ โดยสศอ.ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิดโดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ โอไมครอน ทั้งต่างประเทศและไทยโดยไทยนั้นต้องดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการดูแลอย่างไรในระยะต่อไป แต่ในส่วนของการควบคุมการแพร่ระบาดของทุกส่วนยังคุมเข้มโดยเฉพาะ Bubble and Sea ในโรงงาน ประกอบกับแรงงานส่วนใหญ่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว โดยมองว่าปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอีกคือการขาดแคลนแรงงานระดับเข้มข้นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนของไทยที่สูงขึ้น