ไทยแห่ใช้สิทธิประโยชน์ “อาร์เซ็ป” ส่งออกสินค้า

  • แค่ 2 เดือนใช้สิทธิมูลค่ากว่า 1.16 พันล้านบาท
  • จีนนำโด่ง 453 ล้านบาทตามด้วยญี่ปุ่น เกาหลีใต้
  • กฎถิ่นกำเนิดสินค้าง่าย-ตรวจปล่อยสินค้าเน่าเสียใน 6 ชม.

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.65 จนถึงวันที่ 28 ก.พ.65 ผู้ส่งออกไทยได้ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลง  (ฟอร์ม อาร์เซ็ป) เป็นมูลค่าสูงถึง 1,165.52 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกไปญี่ปุ่นมากที่สุด 540.36 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าปลาปรุงแต่งประเภทปลาเฮอร์ริง ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ค ผักปรุงแต่ง และสิ่งทอ ส่วนอันดับ 2 จีน 453.95 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าพืช ผัก ผลไม้สด เช่น มันสำปะหลัง ลำไย ทุเรียน และมะพร้าว เป็นต้น และอันดับที่ 3 เกาหลีใต้  171.21 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลม รถจักรยานยนต์ ไขมันและน้ำมันชนิดระเหย แชมพู เชิ้ตของบุรุษหรือเด็กชายทำด้วยฝ้าย

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น นอกจากประเทศสมาชิก ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย หรือลดภาษีนำเข้าให้แล้ว ผู้ส่งออกไทยยังได้รับประโยชน์จากเกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้อาร์เซ็ป ที่มีข้อกำหนดของหลักเกณฑ์ที่ง่ายขึ้น เพราะอาร์เซ็ปไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการได้มาซึ่งวัตถุดิบที่นำมาผลิต ทำให้ผู้ส่งออกนำวัตถุดิบจากทั้งประเทศสมาชิก และนอกสมาชิก มาผลิตแล้วส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ได้ ต่างจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)  เช่น ไทย-ญี่ปุ่น  ถ้าไทยจะส่งออกปลาแปรรูปไปญี่ปุ่นและใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น กำหนดว่า ปลาที่นำมาแปรรูป ต้องได้จากเรือประมงที่ได้รับอนุญาต และอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่กำหนดว่า ต้องเป็นปลาจากสมาชิกเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังได้รับประโยชน์จากการอำนวยความสะดวกภายใต้อาร์เซ็ปมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ที่กำหนดให้ศุลกากรประเทศผู้นำเข้า ต้องตรวจปล่อยสินค้าเกษตรเน่าเสียง่ายให้เสร็จภายใน 6 ชั่วโมง จากปกติที่กำหนดภายใน 48 ชั่วโมง ทำให้ผู้ส่งออกสามารถวางแผนการนำเข้าส่งออกสินค้าล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น รวมถึงผู้ส่งออกยังสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง จากเอฟทีเออื่นๆ จะต้องให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนออกให้ แต่ผู้ส่งออกต้องมาขอขึ้นทะเบียนกับเพื่อเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตก่อน จึงจะออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้ โดยขณะนี้ ผู้มีมาขอขึ้นทะเบียนแล้ว 22 ราย ในสินค้าเครื่องประดับ อาหารสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น