×

เจ็บแต่อาจจะไม่จบ ที่ปรึกษา ศบค. ชี้ล็อกดาวน์แค่ชะลอการระบาด-ซื้อเวลาให้แพทย์ด่านหน้า เป้าหมายผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 1 พันรายอาจเห็นผลในอีก 2-3 เดือน ย้ำมาตรการส่วนบุคคลสำคัญกว่าวัคซีน

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2021
  • LOADING...
อุดม คชินทร

วันนี้ (11 กรกฎาคม) ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Suthichai Live ประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 ดำเนินรายการโดย สุทธิชัย หยุ่น โดยกล่าวถึงมาตรการล็อกดาวน์ตามประกาศของ ศบค. ซึ่งจะมีผลในวันพรุ่งนี้ (12 กรกฎาคม) ว่า 

 

มาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้เป้าหมายไม่ใช่การหยุดการระบาด แต่เป็นการชะลอการระบาด หรือชะลอไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งระหว่างชะลอสิ่งที่เราต้องทำมี 2 อย่างคือ 

 

หนึ่ง คือใช้กำลังคนด้านสาธารณสุขไปจัดการกับผู้ป่วยเก่าสะสมที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยหนักสีแดง หรือผู้ป่วยสีเหลืองซึ่งเราไม่ต้องการให้ผู้ป่วยสีเหลืองกลายเป็นสีแดง ซึ่งการล็อกดาวน์จะช่วยให้เราได้มีเวลาไปจัดการตรงนี้มากขึ้น เพื่อทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง

 

เรื่องที่สอง คือการต้องไปค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ซึ่งแฝงตัวอยู่ในชุมชนทั่วไปให้ได้มากที่สุดภายในระยะเวลาที่มีอยู่ เพื่อที่จะกักกัน รักษา และไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ 

 

สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ในช่วง 14 วันหลังการล็อกดาวน์ นพ.อุดม ประเมินว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่มีการล็อกดาวน์ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน คาดว่าจะมีประมาณวันละ 1 หมื่นรายต่อเนื่องไปอีก 2 สัปดาห์ เพราะเป็นเคสเก่าที่ยังคงปะปนอยู่ในชุมชน ส่วนเคสใหม่ต้องประเมินการลดลงอีกครั้งหลังครบ 14 วันไปแล้วตามระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ

 

“ดังนั้น 14 วันนี้คาดว่าเราจะเคลียร์ 2 เรื่องนี้ให้ได้ และหวังว่าหลัง 14 วันไปแล้วผู้ป่วยใหม่จะเริ่มลดลงเป็นลำดับ ส่วนจะลดลงเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับพวกเราแล้ว คือประชาชนทุกคน สถานประกอบการต่างๆ ทั้งรัฐบาลเอง และทุกส่วนต้องช่วยกันดำเนินการอย่างจริงจัง

 

“ถ้าช่วยกัน เราหวังว่าจะกดยอดผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันให้ลดลง สิ่งที่ทางแพทย์ต้องการ เป้าหมายสูงสุดซึ่งอาจจะยังไม่เป็นความจริงตอนนี้ คือให้ตัวเลขผู้ป่วยไม่เกินกำลังความสามารถด้านสาธารณสุขทุกอย่าง ทั้งแพทย์ พยาบาล ยา อุปกรณ์ เตียงคนไข้ต่างๆ ซึ่งเราต้องการให้มีผู้ป่วยต่ำกว่า 1,000 รายต่อวัน แต่ผมเชื่อว่ายังไม่ถึง มันต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน เพราะเรามีบทเรียนจากต่างประเทศ คือหลังล็อกดาวน์จะควบคุมได้จริงๆ ส่วนใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ย 2-3 เดือน เพราะฉะนั้นผมว่าเราต้องเตรียมใจไว้นิด ไม่ใช่ว่าล็อกดาวน์ปุ๊บจะต้องดีขึ้นทันที”

 

สำหรับการประเมินในช่วง 14 วันหลังการล็อกดาวน์ นพ.อุดม กล่าวว่าสิ่งที่ต้องติดตามมี 2 เรื่อง คือหนึ่ง ยอดรวมผู้ติดเชื้อต่อวัน ซึ่งตั้งเป้าว่าใน 1 สัปดาห์ต้องมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 120,000-150,000 ราย และที่สำคัญคืออัตราการเสียชีวิต ซึ่งเป็นตัวชี้วัดใหญ่ โดยตอนนี้ตั้งเป้าว่าไม่ควรจะเกิน 100 รายต่อวัน 

 

นพ.อุดม ย้ำว่า สิ่งที่สำคัญคือมาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการส่วนบุคคล เพราะแม้วัคซีนจะเป็นตัวควบคุมการระบาดของโรคได้ดีที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้การจัดการวัคซีนยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากภาพใหญ่ของทั้งโลกที่ตอนแรกตั้งเป้าว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลกประมาณ 8-9 บริษัทจะต้องผลิตวัคซีนให้ได้ 11,000 ล้านโดสภายในปี 2564 แต่ขณะนี้ผ่านไปแล้วครึ่งปี ผลิตได้จริงเพียง 3,300 ล้านโดสเท่านั้น เนื่องจากโรงงานผลิตวัคซีนทุกบริษัทต่างเจอกับปัญหาการผลิตที่ล่าช้า ดังนั้นตอนนี้ทุกประเทศจึงแย่งชิงวัคซีนกัน ส่งผลให้ยอดฉีดวัคซีนที่ผ่านมาของไทยทำได้น้อยตามไปด้วย เพราะวัคซีนมาไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

 

“อย่าคิดว่า Sinovac ไม่มีคนแย่งนะ 30-40 ประเทศแย่งจองกันเป็นพันล้านโดสเหมือนกัน AstraZeneca ก็ถูกจองมากที่สุด 3 พันกว่าล้านโดส Pfizer และ Moderna ก็ประมาณยี่ห้อละ 1 พันกว่าล้านโดส Novavax ที่ยังไม่ออก มีคนจองไป 2 พันล้านโดสแล้ว เพราะฉะนั้นต้องบอกให้รู้ว่าที่เหลืออีกครึ่งปีที่คาดว่าคนทั้งโลกจะฉีดไป 70-80% จึงไม่มีทาง รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะวัคซีนมันไม่มาทั้งโลก และตอนนี้ไม่มา ที่เหลืออีกครึ่งปีก็จะแย่งชิงกันมหาศาล”

 

“ถ้าดูสถิติผู้ติดเชื้อใหม่ 9,500 กว่าราย ตอนนี้ 70% ติดในครอบครัว ติดจากเพื่อนร่วมงาน คนที่พบเจอกัน ตอนนี้ที่ติดเป็นคลัสเตอร์เหลือประมาณ 25% เท่านั้น เช่น แคมป์คนงาน โรงงานต่างๆ ซึ่งตอนนี้มีไม่เยอะมาก แต่ที่เยอะมากคือการติดในชุมชน ในบ้าน ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่ากลัว ซึ่งการป้องกันตรงนี้ต้องใช้มาตรการทางสาธารณสุขอย่างเดียว ถ้าเราอยู่ห่างกันเกิน 2 เมตร และทุกคนใส่หน้ากากอนามัย โอกาสติดเชื้อคือศูนย์ ดังนั้นผมคิดว่ามาตรการส่วนบุคคลสำคัญมาก เราต้องระวัง ต้องคิดว่าทุกคนที่เราเจอมีโอกาสติด อย่าคิดว่าลูกหลาน คนในครอบครัว หรือญาติพี่น้องมาเยี่ยมหากัน เพื่อนร่วมงานต่างๆ จะไม่ติด เพราะมันมีช่วงที่เขาจะต้องหลุด เช่น เข้าไปกินอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฉะนั้นผมย้ำว่ามาตรการส่วนบุคคลจะต้องเข้มงวดสูงสุดในช่วง 2-4 สัปดาห์ข้างหน้า”

 

เมื่อถามถึงแผนการจัดหาวัคซีนของไทยที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นพ.อุดม เปิดเผยว่า ตามข้อตกลงเดิมของไทยกับ AstraZeneca คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ไทยจะได้วัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส แต่ขณะนี้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เพราะ AstraZeneca ในต่างประเทศมีปัญหาการผลิตที่ล่าช้า โดยเฉพาะในอินเดียที่เป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดแต่กลับเจอการระบาดหนัก รัฐบาลอินเดียจึงหักดิบสั่งห้ามไม่ให้ส่งออกนอกประเทศ และส่งผลกระทบต่อจำนวนวัคซีนทั้งโลกในภาพรวม ดังนั้นจึงมีการปรับเป้าหมายใหม่ จากเป้าหมาย 10 ล้านโดสต่อเดือนเป็นประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน เพราะ AstraZeneca ที่ผลิตในไทยจำเป็นต้องแบ่งไปให้ประเทศอื่นด้วย 

 

“ในสัญญาเขาให้สิทธิพิเศษว่า AstraZeneca ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซน์ ต้องให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกอย่างน้อย 1 ใน 3 ตอนนี้เขาก็ให้เราเป็นประเทศแรก แต่ขอลดปริมาณลง”

 

เมื่อถามว่าเหตุใดไทยจึงไม่สามารถห้ามไม่ให้มีการส่งออกวัคซีนเหมือนอินเดียได้ นพ.อุดม กล่าวว่า “ผมคิดว่าสถานการณ์บ้านเรายังไม่ได้เลวร้ายเท่าอินเดีย ตอนนี้ผมว่าเป็นเรื่องลำบาก แต่ถ้าเจรจาได้อย่างน้อย 6 ล้านโดสก็ยังพอไหว เพราะตอนนี้เราได้ Sinovac มาอีก 3 ล้าน และได้รับบริจาค AstraZeneca จากญี่ปุ่นมาอีก 1 ล้าน ฉะนั้นตอนนี้ที่เราตั้งเป้าว่าเดือนกรกฎาคมจะมีวัคซีน 10 ล้าน ตอนนี้เราก็ได้ประมาณ 9 ล้านแล้ว ส่วน Pfizer กับ Moderna ที่เราซื้อมา เขาก็ยืนยันว่าได้ไตรมาส 4 ซึ่งไม่ได้บอกว่าจะเป็น 1 ตุลาคม เพราะอาจจะมา 31 ธันวาคมก็ได้”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising