ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน ยื่นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร้องตรวจสอบ 'คิงส์เกต' เตรียมรีสตาร์ทเหมืองทองพิจิตร ด้าน 'นพ.ชลน่าน' ยันจะเร่งนำเข้าสภาฯ เหตุสอดคล้องอภิปรายซักฟอกรัฐบาล

ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วย ตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้านรับหนังสือจากภาคประชาชน ร้องขอให้ตรวจสอบกรณี บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เตรียมรีสตาร์ทเหมืองทองพิจิตร พร้อมเปิดความบกพร่อง 4 ประการที่เหมืองสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สภาวะแวดล้อม ธรรมชาติ และระบบนิเวศในพื้นที่ 

โดย จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตัวแทนเครือข่ายฯ เปิดเผยว่า ความบกพร่องประการแรก ของการประกอบกิจการเหมืองทองคำคิงส์เกตในนามบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการประกอบกิจการเหมืองทองคำดังกล่าวที่รอยต่อสามจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก ถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด เพราะไม่มีมาตรการทางสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะในการกำกับควบคุมการทำเหมืองทองคำตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีแต่เฉพาะการปรึกษาหารือในระดับแจ้งเพื่อทราบ เพื่อดำเนินการตามคำขอประทานบัตร และการปรึกษาหารือให้แสดงความคิดเห็นพอเป็นพิธีกรรม เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสองเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมในช่วงก่อนการอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่เท่านั้น ไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะมีผลในระดับการตัดสินใจในการอนุญาตประกอบกิจการ และหลังจากได้รับการอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่แล้วก็จะไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนใด ๆ อีก 

ประการ2 ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนของเจ้าของกิจการก็อยู่ในระดับต่ำ เพราะมีงบประมาณเพื่อการนี้เพียงร้อยละ 0.1 ของมูลค่าทองคำที่ผลิตได้เท่านั้น ในขณะที่งานศึกษาวิจัยที่ถูกยอมรับในระดับนานาชาติ พบว่าเหมืองทองในต่างประเทศมีการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาชุมชนถึงร้อยละ 0.9 ของมูลค่าทองคำที่ผลิตได้ 

ประการ3 เป็นการทำเหมืองโดยไม่มีแนวกันชนที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างชุมชนกับเขตเหมืองแร่ จนทำให้หมู่บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้างและบ้านแตกสาแหรกขาด 

ประการ4 เป็นการทำเหมืองที่หลีกเลี่ยงหรือหาช่องโหว่ของกฎหมาย เพื่อไม่สร้างหลักประกันและแผนปฏิบัติการในการฟื้นฟูเหมืองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งการฟื้นฟูระหว่างการทำเหมืองและหลังการปิดเหมือง เพื่อให้สภาพพื้นที่คืนกลับมาเป็นธรรมชาติดังเดิม 

ด้วยสาเหตุทั้ง 4 ประการ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้เหมืองทองแห่งนี้ในนามคิงส์เกตและบริษัทอัคราฯ ตกเป็นจำเลยของสังคมมายาวนาน เพราะเป็นการประกอบกิจการที่ถูกสังคมพิพากษามาว่ามีปัญหาค่อนข้างมากทั้งในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบเหมือง แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเสียใจที่รัฐบาลไทยไม่ได้นำข้อมูลนี้ไปใช้สู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างเพียงพอ เสมือนว่ามีพฤติกรรมสมยอมให้ไทยต้องแพ้คดี หรือแลกกับการไม่แพ้คดีโดยให้คิงส์เกตกลับมาทำเหมืองทองใหม่ได้ 

ซึ่งทำให้คิงส์เกตได้รับอนุญาตประทานบัตรให้กลับมาทำเหมืองใหม่ตามข่าวที่ออกมาในช่วง2-3 วันนี้ ซึ่งเป็นการได้รับอนุญาตประทานบัตรและการอนุญาต/ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เกินไปกว่าข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการ เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลประยุทธ์ไม่ต้องถูกอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดให้ต้องแพ้คดีซึ่งต้องเสียค่าปรับประมาณ 24,750 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน 

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า ผลประโยชน์ที่คิงส์เกตได้ หรือข้อยุติที่ทำให้ไทยไม่ต้องแพ้คดีโดยที่คิงส์เกตได้ประโยชน์อย่างมหาศาลนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือข้อพิพาท 

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า หลักการและเหตุผลของการมายื่นหนังสือของทางเครือข่ายฯนั้นสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันว่าจะเร่งผลักดันเข้าสู่กลไกของรัฐสภา โดยการอภิปรายรัฐบาลถึงความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีนี้ต่อไป

สำหรับแนวทางอื่นนอกจากนี้ อาจจะดำเนินการตั้งกระทู้สดถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือลงพื้นที่ พบปะพูดคุยถึงปัญหากับประชาชนที่เดือดร้อนโดยตรง รวมทั้งผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่ชั้นกรรมาธิการเพื่อสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกเรื่องนี้ต่อไป