ธปท.ผุด ‘BOT RAT’ ตัวช่วย ชี้วัดเศรษฐกิจเชิงลึก แบบรายวัน

ธปท.ผุด ‘BOT RAT’ ตัวช่วย ชี้วัดเศรษฐกิจเชิงลึก แบบรายวัน

ธปท.ผุดเครื่องมือใหม่ ชี้วัดเศรษฐกิจเชิงลึกระดับตำบล จังหวัด รายภาคละเอียดยิบ หวังชี้วัดเศรษฐกิจรวดเร็วขึ้น แบบเรียลไทม์ หวังประชาชน ธุรกิจ ใช้ดูทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต

       จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)ที่เกิดขึ้นระลอกแล้ว ระลอกเล่า ล้วนสร้างผลกระทบ ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แม้ว่าที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีข้อมูลในภาพรวม มีข้อมูลเร็ว เพื่อดูผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ก็อาจไม่ได้ละเอียด และลงลึกให้เห็นในเชิงพื้นที่มากนัก

    ดังนั้นการมีข้อมูล “เชิงลึก”ที่สามารถทำให้เห็นภาพไปถึงแต่ละพื้นที่ แต่ละภาค ตำบล อำเภอ จังหวัดได้แบบละเอียด และเรียลไทม์ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยที่ครบถ้วน รวดเร็ว และทำให้การมองภาพเศรษฐกิจในอนาคตชัดเจนมากขึ้นด้วย

      จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า หน้าที่ของ ธปท.เราดำเนินนโยบายการเงิน และดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดังนั้นการติดตามภาวะเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น

     โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วค่อนข้างมาก ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ทั้งจากการแพร่ระบาด การกระจายวัคซีน การเปิดเมือง ปิดเมือง ล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นการติดตามสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

     ธปท.จึงได้มีพัฒนาเครื่องมือใหม่ เพื่อทำให้มีความสามารถในการ “จับชีพจร”เศรษฐกิจภูมิภาคได้ชัดเจนมากขึ้น ผ่านเครื่องชี้เร็วเศรษฐกิจภูมิภาค หรือที่เรียกว่า “BOT RAT” ซึ่งย่อมาจาก Regional Activity Tracker เพื่อใช้ยกระดับขีดความสามารถในการจับชีพจรและแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาค ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนในแต่ละพื้นที่

     รวมถึง สามารถสะท้อนภาพใกล้กับภาพปัจจุบันมากที่สุด สามารถฉายภาพเชิงพื้นที่ ทำให้สามารถเห็น Unever development

    ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ข้อมูลเร็วที่สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจ เพื่อประกอบการวางแผนธุรกิจในระยะข้างหน้าได้ดีขึ้น ในโลกปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง

    “BOT RAT” ตัวนี้จะเป็นตัวที่ติดตาม เชิงพื้นที่โดยมีกรอบแนวคิด เสมือน Doughnut Ecomomics ที่สะท้อนทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งด้านสาธารณะสุขต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงซับซ้อนได้ เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจปัจจุบันให้มากที่สุด และฉายภาพแต่ละพื้นที่ ที่แตกต่างกันเพื่อที่อนาคต ผู้ที่จะนำข้อมูลไปใช้ จะสามารถเข้าไปดูแลหรือออกนโยบายได้ตรงจุดมากขึ้น

     ข้อมูลที่ “BOT RAT” นำมาวิเคราะห์ นำมาชี้วัดเศรษฐกิจมาจาก 13 เครื่องชี้เร็ว  ที่ครอบคลุม 5 สาขาการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค ด้านแรกจาก ภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาค จาก Facebook Movement รายวัน เพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวของประชาชนในภูมิภาค ในระดับอำเภอ หรือลงลึกไปถึงระดับตำบลได้

    ถัดมาคือ ข้อมูลจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งจากดัชนีสะท้อนการจองห้องพัก จากการจองห้องพักในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญๆ ดัชนีสะท้อนการเดินทางบก ที่ชี้ให้เห็นถึงการท่องเที่ยวในภูมิภาคผ่านการเดินทางด้วยยานพาหนะ 4 ล้อ รวมไปถึงดัชนีสะท้อนการเดินทางทางอากาศ จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนของภูมิภาคที่เดินทางโดยเครื่องบิน

     นอกจากนี้ ยังมีการนำข้อมูลด้าน “การจับจ่ายใช้สอย” มาเป็นเครื่องชี้วัดด้วย ทั้งจากดัชนีสะท้อนภาคการขนส่งสินค้า ที่ชี้ให้เห็นถึงการขนส่งสินค้า และการค้าในพื้นที่ผ่านการจราจรของรถบรรทุก แม้กระทั่งดัชนีการซื้อสินค้าออนไลน์ จาก Google Trends ที่สะท้อนให้เห็นถึง ความสนใจของประชาชนในการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นการใช้จ่าย ที่รวบรวมข้อมูลมาจากโซเชียลมีเดียต่างๆ

     “การจ้างงาน” ก็เป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจได้ โดยดูจากความเชื่อมั่นการจ้างงานของประชาชน โดยใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากสื่อโซเชียลต่างๆ หรือจากตำแหน่งงานที่เปิดรับใหม่ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความต้องการ การจ้างงานโดยรวบรวมจากประกาศหางานของนายจ้าง ผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัด

    สุดท้าย เครื่องชี้วัดจาก “ภาคเกษตร” เช่นดัชนีความเสี่ยงภัยแล้ง ที่ชี้วัดจากความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีอิทธิพล รวมถึงการดูไปถึงปริมาณน้ำในเขื่อน สำหรับใช้ทำการเกษตร และราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ เพื่อช่วยสะท้อนทิศทางการเปลี่ยนแปลงของราคาได้อย่างรวดเร็ว

    ดังนั้นข้อมูลใน BOT RAT จะมีความรวดเร็ว ทันเหตุการณ์เรียลไทม์  และมีความถี่สูง ที่ทั้งสามารถดูข้อมูลได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่นำมาใช้ รวมไปถึงข้อมูลจากกรมทางหลวง กรมการท่าอากาศยาน กรมจัดหางาน Gistda สำนักเศรษฐกิจการเกษตร เหล่านี้จะยิ่งตอกย้ำ “แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ”ได้ 

    "ข้อมูลจาก BOT RAT เป็นข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น อีกด้านเราเรียกว่า soft information คือ ข้อมูลที่มาจากการขอความเห็น เช่นที่เราคุยกับผู้ประกอบการเป็นรายๆ ที่ครอบคลุมอยู่ในภาคการผลิตทุกสาขา และแต่ละพื้นที่ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั้ง 4 ภาคในจังหวัดต่างๆ ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ ธปท.ก็นำมาจากการประมวลมาจากทั้งข้อมูลจริง และจากการวิเคราะห์ข้อมูล บางส่วนมีการใช้ data analytics

    ประมวลผลขึ้นมา เพื่อวาดภาพเศรษฐกิจ ให้เห็นภาพมากขึ้น"

    ซึ่ง ข้อมูลเหล่านี้ ธปท.ก็จะนำมาใช้ในการแถลงข่าวเศรษฐกิจไทย และใช้ในการประเมินทิศทางเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ด้วย เพราะระยะหลังๆ กนง.ให้ความสำคัญมากขึ้น กับการฟื้นตัวเชิงพื้นที่ และเซ็กเตอร์ 

     อย่างไรก็ตาม จากการใช้ “BOT RAT” เพื่อดูแนวโน้มเศรษฐกิจ ธปท.พบว่า จากการคลายล็อกดาวน์โควิด-19 การเปิดเมือง ส่งผลให้กิจกรรมในเศรษฐกิจกลับมาขยับตัวได้มากขึ้น

    โดยเห็นอัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นในทุกภาค แม้ว่าจะยังไม่เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากนักในช่วงเริ่มต้นเปิดเมือง แต่การท่องเที่ยวในประเทศ เริ่มขยับดีขึ้น รวมไปถึงการใช้จ่ายในประเทศ ภาคการเกษตร รวมถึงแรงงาน ปรับตัวดีขึ้น

     “โดยรวมแล้ว “ BOT RAT ” ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยระยะสั้นปรับตัวดีขึ้น ทั้งเดือนพ.ย. และธ.ค.ที่จะถึง ที่จะดีต่อเนื่อง ทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น หากเทียบกับช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก วันนี้เครื่องชี้ให้เห็นว่า จากตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่เป็นแดง แดงเข้ม มาเป็นเหลืองแดงระเรื่อๆ ค่อนไปทางชมพู และหวังว่าระยะถัดไป หวังว่าจะเห็นสีเขียวได้ เพราะเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว”

    โดย BOT RAT จะเริ่มเปิดเผยแพร่ข้อมูลครั้งแรกในวันที่ 15 พ.ย.นี้ และจะเผยแพร่ข้อมูลทุกประจำวันที่ 15 ของทุกเดือน ผ่าน 3 ผลิตภัณฑ์ ทั้งผ่านเอกสารสรุป ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคในรูปแบบกราฟฟิก รวมไปถึงคลิปวิดีโอ การเล่าเศรษฐกิจภูมิภาคล่าสุด จากเครื่องชี้ BOT RAT เพื่อให้ประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ สามารถเข้ามาติดตามข้อมูล และนำข้อมูลจากเครื่องชี้วัดต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้  

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์