สยย. - เจโทร ร่วมพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

สยย. - เจโทร ร่วมพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

สยย.-เจโทร จัดทำความร่วมมือครั้งที่ 2 ส่งเสริมการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ต่อเนื่อง แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี พัฒนาทุนมนุษย์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 สถาบันยานยนต์ (สยย.) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO)  จัดทำความร่วมมือภายใต้อนุสัญญาภาคี (Letter of Intent: LOI) กรอบระยะเวลา 1 ปี (พ.ศ.2565 – 2566) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเทคโนโลยีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในประเทศไทย ณ โรงแรม
แชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

โดยนายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI)  ร่วมกับ นายทาเคทานิ อัทสึชิ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก นายฮากิอุดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามครั้งนี้

 

โดยมีสาระสำคัญของความร่วมมือฉบับนี้ ดังนี้ 

1. ส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ 

2. แลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ ความปลอดภัยจากไฟฟ้าแรงสูง การทดสอบ การรีไซเคล และการนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่  

3. การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเทคโนโลยีพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศไทย รวมถึงแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า

4. ร่วมกันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

5. ส่งเสริมความร่วมมือเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในอุตสาหกรรมยานยนต์

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่มีมาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากสาระสำคัญของร่วมมือที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น สถาบันยานยนต์ และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น จะร่วมกันจัดประชุมหารือแลกเปลี่ยนความรู้ด้านยานยนต์แห่งอนาคตขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งเป็นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของทั้งสองประเทศ ให้มีความก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและอนาคต