สรรพสามิตเล็งดัดหลังผู้นำเข้าบุหรี่นอกลดราคาขายปลีก

สรรพสามิตเล็งดัดหลังผู้นำเข้าบุหรี่นอกลดราคาขายปลีก

สรรพสามิตดัดหลังผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ เผยมีอำนาจในการไม่อนุมัติให้ปรับลดราคาขายปลีกให้ต่ำลง เพื่อหวังมาร์เก็ตแชร์ที่สูงขึ้น หลังรัฐบาลประกาศโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่

แหล่งข่าวกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หากบริษัทผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศจะกดราคาขายปลีกบุหรี่ให้ต่ำลง เพื่อหวังเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในตลาดหลังรัฐบาลประกาศโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมฯมีอำนาจที่จะไม่อนุมัติให้ขายในราคานั้นได้ จากเดิมที่กรมฯไม่สามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่​ที่มีผลยังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ​1ต.ค.นี้เป็นต้นไป​ ได้กำหนดอัตราภาษี​ที่ 25% สำหรับบุหรี่ราคาถูกที่ราคาขายปลีกไม่เกิน​ 72 บาทต่อซอง​ และอัตรา ​42% สำหรับบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกมากกว่า 72 บาทต่อซอง

นอกจากภาระภาษีสรรพสามิตที่คำนวณจากราคาบุหรี่แล้ว ตามกฎหมาย ยังกำหนดให้บุหรี่จะต้องชำระภาษีตามปริมาณ โดยคิดภาระภาษี 1.25 บาทต่อมวน ไม่ว่าบุหรี่ยี่ห้อนั้น จะมีราคาต่อซองเท่าไหร่ก็ตาม ดังนั้น เมื่อคำนวนภาษีต่อมวน ซึ่ง 1 ซองมี 20 ม้วน บุหรี่ทุกยี่ห้อจะมีภาระภาษีอีกซองละ 25 บาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า ด้วยโครงสร้างภาษีใหม่ดังกล่าว จะทำให้ราคาบุหรี่ขายปลีกมีการปรับราคาขึ้นมา อย่างไรก็ตาม หากบริษัทผู้นำเข้าบุหรี่ กำหนดราคาขายปลีกในราคาต่ำ เพื่อหวังดึงดูดผู้บริโภค กรมฯมีอำนาจไม่อนุมัติให้ขายปลีกในราคาดังกล่าวได้

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตมีข้อมูลโครงสร้างราคาบุหรี่แต่ละยี่ห้อว่า กำหนดราคาขายปลีกในอดีตเท่าไหร่(ก่อนการใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่)และกำหนดมาร์จินเท่าไหร่ในแต่ละซอง ดังนั้น หากบุหรี่นำเข้ารายใด หวังใช้กลยุทธ์ราคา เพื่อดึงดูดผู้บริโภค โดยยอมลดมาร์จินของตัวเองลงมาให้ต่ำลง กรมฯมีอำนาจตามกฎหมายที่จะไม่อนุมัติให้ขายในราคาดังกล่าวได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนการใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ดังกล่าวข้างต้น การแข่งขันในตลาดบุหรี่มีความรุนแรงมาก โดยเฉพาะบุหรี่นำเข้าในกลุ่มบุหรี่ราคาถูก (Fighter brand) ที่ได้รับลดราคาลงมา จากที่เคยขายปลีกในตลาดที่สูงกว่า 60 บาท ปรับลดลงมาอยู่ที่ 60 บาทต่อซอง ซึ่งนอกจากจะทำให้บุหรี่นำเข้ามีมาร์เก็ตแชร์สูงขึ้นแล้ว ยังมีภาระภาษีเพียง 20% แทนที่จะเป็น 40%(กรณีบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกสูงกว่า 60 บาทต่อซอง)

ดังนั้น การใช้กลยุทธ์ด้านราคาจึงทำให้มาร์เก็ตแชร์ของบุหรี่นำเข้าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมาร์เก็ตของบุหรี่นำเข้า กับบุหรี่ที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบซึ่งผูกขาดการผลิตบุหรี่แต่ผู้เดียวในประเทศไทย อยู่ในสัดส่วน 50:50 ทั้งที่บุหรี่นำเข้ามีต้นทุนที่สูงกว่าบุหรี่ที่ผลิตได้ในประเทศ เนื่องจาก ต้องขนส่งมาจากต่างประเทศและต้องเสียภาษีนำเข้า

สำหรับรายได้ภาษีที่จะได้เพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ในครั้งนี้​คาดว่าจะทำให้กรมฯมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ​ 3.5พันล้านบาท​  จากปกติที่เก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ได้ปีละ​ 6.2 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ กรมฯยืนยันว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่นี้สามารถตอบโจทยที่ตั้งไว้ว่า​จะต้องสร้างความสมดุลในสี่ด้าน คือ

1.​ ด้านสุขภาพประชาชน​  คือการใช้ราคาเพื่อลดแรงจูงใจในการสูบ​ซึ่งโครงสร้างนี้จะทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้น

2.การดูแลเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ​ซึ่งการยาสูบแห่งประเทศไทยจะร่วมกับ​ สสส.จัดหาพืชทดแทนยาสูบให้ชาวไร่

3.รายได้ของรัฐบาลไม่ได้ลดลง ​แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ​

4.การปราบปรามบุหรี่เถื่อน ซึ่งกรมฯมีสมมุติฐานว่า หากราคาบุหรี่ขายปลีกมีราคาสูงขึ้นมาก จะดึงดูดหรือทำให้คนเสี่ยงที่จะลักลอบนำเข้าบุหรี่โดยไม่ชำระภาษี