น้ำมัน-ผักสด แพง ดันเงินเฟ้อเดือนต.ค.สูงขึ้น 2.38%

น้ำมัน-ผักสด แพง ดันเงินเฟ้อเดือนต.ค.สูงขึ้น 2.38%

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนต.ค.อยู่ที่ 2.38 % ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลจากราคาน้ำมัน ผักสด ขณะที่ 10 เดือนแรกปีนี้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.99 %

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนต.ค.2564 เท่ากับ 101.96 เทียบกับเดือนก.ย.2564 เพิ่มขึ้น 0.74% เทียบกับต.ค.2563 เพิ่มขึ้น 2.38% ซึ่งเป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.21%  เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) ปี 2564  เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.99 %

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เฟ้อที่สูงขึ้นมาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น  37.09% ตามราคาตลาดโลก ประกอบกับสินค้าในกลุ่มอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะผักสด ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่เพิ่ม  7.08% และไข่ไก่ราคายังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลง นอกจากนี้ อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน  นอกจากยังมีผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

น้ำมัน-ผักสด แพง ดันเงินเฟ้อเดือนต.ค.สูงขึ้น 2.38%

ส่วนราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดอื่นๆ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด และสินค้าอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิต ยกเว้น สินค้ากลุ่มอาหารสดราคาค่อนข้างผันผวนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  

โดย เดือนต.ค.2564 มีสินค้าที่ปรับขึ้นราคา 226 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันพืช ผักกาดขาว ผักคะน้า แตงกวา ผักบุ้ง ไข่ไก่ ไก่ย่าง อาหารกลางวัน เป็นต้น สินค้าลดลง 133 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร เงาะ มะม่วง หัวหอมแดง มะนาว ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาภาครัฐบาล เป็นต้น และสินค้าไม่เปลี่ยนแปลงราคา 71 รายการ

นายรณรงค์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ จะยังคงเป็นขาขึ้น คงไม่สูงเท่าเดือนต.ค.2564 แต่ยังคงสูงอยู่ โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมัน ที่แม้จะมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงการขนส่ง แต่รัฐบาลได้เข้ามาดูแล ทำให้ราคาไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้ และยังมีปัจจัยกระตุ้นการบริโภคจากการเปิดประเทศ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจดำเนินการได้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น แต่ผักสด ที่ราคาเคยสูง แนวโน้มราคาน่าจะปรับตัวลดลง

เพราะผลผลิตจะเริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และสินค้าอาหารสดอื่นๆ เช่น ข้าว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสถานการณ์โควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งจะต้องเฝ้าระวังและส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.8 – 1.2%  ค่ากลางอยู่ที่  1.0%  ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์