โจทย์ 3 ข้อกระทรวงการคลัง หวั่นลดถือหุ้น การบินไทย เหลือ 8%

โจทย์ 3 ข้อกระทรวงการคลัง หวั่นลดถือหุ้น การบินไทย เหลือ 8%

“การบินไทย” ยื่นคลังเร่งสรุปปมสัดส่วนหุ้นเหลือ 8% หลังรัฐบาลไม่สนับสนุนเงินทุน 2.5 หมื่นล้าน “แปลงสินทรัพย์เป็นทุน-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน” ด้าน “อาคม” ชี้แนวโน้มฟื้นตัวชัด ผลดำเนินงานดีขึ้นอาจไม่ต้องกู้

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2564 หลังจากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งล่าสุดกระทรวงการคลัง และคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้เข้ารายงานความคืบหน้าต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2564

การรายงานดังกล่าวครอบคลุมประเด็นที่ขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาล โดยเฉพาะการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ในส่วนภาครัฐ 25,000 ล้านบาท ซึ่งแผนฟื้นฟูกำหนดให้เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐหรือบุคคลใดที่รัฐหรือผู้บริหารแผนร่วมจัดหาในรูปเงินกู้หรือการค้ำประกัน ซึ่งมีข้อสรุปที่รัฐจะไม่มีการสนับสนุนส่วนนี้

รวมทั้งมีประเด็นในกรณีที่การบินไทยได้รับสินเชื่อจากภาคเอกชน 25,000 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 2.54 บาท และมีประเด็นให้กระทรวงการคลังพิจารณาหลังจากนี้ 3 ประเด็นคือ

1.กรณีมีการแปลงหนี้เป็นทุน อัตราหุ้นละ 2.54 บาท ซึ่งปัจจุบันภาครัฐเป็นเจ้าหนี้การบินไทย 13,000 ล้านบาท

2.กรณีการบินไทยออกหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม โดยผู้ถือหุ้นภาครัฐซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะทำให้คงสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ ซึ่งผู้ถือหุ้นในส่วนภาครัฐ ประกอบด้วยกระทรวงการคลังถือหุ้น 47.86% , กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี 8.54% , กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย 8.54% และธนาคารออมสิน 2.13%

3.กรณีกระทรวงการคลังไม่เลือกทั้งการแปลงหนี้เป็นทุนหรือการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะทำให้สัดส่วนหุ้นกระทรวงการคลังลดลงจาก 47.86% เหลือ 8%

โจทย์ 3 ข้อกระทรวงการคลัง หวั่นลดถือหุ้น การบินไทย เหลือ 8%

ย้ำรัฐบาลไม่หนุนเงินทุน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการรายงานความคืบหน้าของการบินไทย โดยต้องมีสินเชื่อสนับสนุน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอที่จะเดินหน้าต่อ โดยอาจต้องแก้แผนฟื้นฟูกิจการและมีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจกรณีการบินไทยขอรับสินเชื่อจากภาคเอกชน 25,000 ล้านบาท จะได้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนและส่งผลให้สัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังลดลง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุว่า การบินไทยยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติ โดยที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนอยู่พอสมควร ซึ่งได้ลดรายจ่ายลง ส่วนเรื่องสภาพคล่องให้ดำเนินการตามกระบวนการ แต่หากมีประเด็นเร่งด่วนก็คงต้องปรับ และวงเงินที่การบินไทยขอมานั้นยังไม่ต้องปรับลด แต่ขอให้หาทางอื่นมาทดแทน ส่วนจะหาทุนเพิ่มทุนอะไรขอให้ไปว่ากันมา แต่ในวันนี้รัฐไม่ได้จ่ายเงินสนับสนุนอะไร

นอกจากนี้ การที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพราะเริ่มเจออุปสรรคในการเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการและอาจไม่สำเร็จตามแผน ซึ่งก่อนหน้านี้หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว เพราะอาจเอื้อเจ้าหนี้บางรายจนฟื้นกิจการไม่ได้จริง และที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียืนยันหลายครั้งว่า รัฐบาลจะไม่ใส่เงินเข้าไปอุ้มกิจการ แต่ปล่อยให้การบินไทยทำตามแผนฟื้นฟูกิจการ 

รวมทั้งที่ผ่านมาเห็นความพยายามของบุคคลในคณะรัฐมนตรีบางส่วน พยายามผลักดันให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีผลสำเร็จ โดยคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้พยายามหาทางออก ซึ่ง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้พยายามเข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือการฟื้นฟูกิจการแต่ไม่เข้าพบจึงขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจใส่เงินเข้ามาอุ้มการบินไทย แต่นายกรัฐมนตรีมีสัญญาณชัดเจนว่าไม่เอาด้วย

ห่วงทรัพย์สินลดลง

นอกจากนี้ อีกแนวทางที่มองว่าจะฟื้นฟูกิจการได้คือ การตั้งบริษัทย่อยขึ้นมา เพื่อช่วยกันดำเนินธุรกิจสร้างรายได้นำใช้หนี้ให้การบินไทย แต่ดำเนินการไม่ได้เพราะมีอุปสรรคที่บางกลุ่มอาจเสียอำนาจในการบินไทย

ในขณะที่การทยอยขายทรัพย์สิน เช่น เครื่องบิน อาคารสำนักงาน ซึ่งทำให้มีรายได้มาหมุนเวียนแต่ไม่ใช่รายได้จากการให้บริการ ดังนั้น สินทรัพย์ของการบินไทยจึงลดลง แต่หนี้คงค้างไม่ลดลง และแม้ภาครัฐจะสนับสนุนวงเงิน 25,000 ล้านบาท และเอกชนสนับสนุน 25,000 ล้านบาท รวม 50,000 ล้านบาท ก็เป็นไปได้ยากที่จะฟื้นฟูกิจการที่มีหนี้สะสมหลายแสนล้านบาทได้ โดยไม่มีแนวทางอื่นประกอบกัน

“ปิยสวัสดิ์”เร่งคลังตัดสินใจ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย กล่าวในรายการอินไซด์ไทยแลนด์ ว่า การเข้าพบนายกรัฐมนตรีได้รายงานความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยยืนยันว่าไม่ได้ไปขอให้เห็นชอบแก้ไขแผนฟื้นฟู

“ได้ชี้แจงนายกฯ ว่าแผนฟื้นฟูกำหนดเงินจากรัฐ และเอกชน 50,000 ล้านบาท แต่จากการประเมินผลดำเนินงานพบว่าวงเงินสนับสนุนจากเอกชน 25,000 ล้านบาท เพียงพอ ดังนั้นหากจะเป็นเงินทุนใหม่เพียง 25,000 ล้านบาท ต้องแก้แผนเพราะว่ารัฐจะไม่ใส่เงินเข้ามา จึงไม่ได้ไปขอความเห็นชอบแก้แผน เพียงแต่ไปรายงาน”

ทั้งนี้ กรณีภาครัฐไม่สนับสนุนวงเงิน 25,000 ล้านบาท จะทำให้รัฐเสียโอกาสเพราะการสนับสนุนวงเงินจะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.54 บาท ซึ่งจะทำให้เอกชนที่สนับสนุนวงเงินให้การบินไทยมีสิทธิซื้อหุ้นส่วนนี้ แต่สัดส่วนรัฐจะลดลงจากที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 48% เหลือ 8% เป็นการบ้านที่รัฐต้องพิจารณาว่าจะตัดสินใจอย่างไร

สำหรับ กรณีกระทรวงการคลังต้องการคงสัดส่วนหุ้นได้รายงานว่ามีหลายวิธี คือ 1.การแปลงหนี้ให้เป็นทุนในราคา 2.54 บาท 2.การแก้แผนให้ออกหุ้นเพิ่มทุนกับผู้ถือหุ้นเดิมได้ โดยรัฐถือหุ้นการบินไทยรวมอยู่ 48% ถ้าทำแบบนี้ก็มีสิทธิซื้อหุ้น และหากรวมกองทุนวายุภักษ์ และธนาคารออมสินแล้วรัฐจะมีสัดส่วนถือหุ้นรวม 67% ดังนั้นยืนยันว่าไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องแฮร์คัต

“มันมีประเด็นที่รัฐต้องไปคิดต่อว่าจะเอายังไง จะยอมให้สัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 8% หรือไม่ แต่หากรัฐไม่ได้คิดเรื่องนี้ และไม่ทำอะไรเลยก็จะเป็นไปตามนั้น โดยอยากได้คำตอบเร็วที่สุดเพื่อให้การบินไทยกลับไปดำเนินการตามแผน”

เผยใช้วิธีแฮร์คัตทางอ้อม

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า เงินทุนก้อนใหม่ 25,000 ล้านบาท จากทางเอกชนจะเป็นเงินกู้ แต่อยู่ขั้นตอนการเจรจากับธนาคาร ซึ่งสถานะการเงินของการบินไทยดีกว่า คาดการณ์มาจากการปรับโครงสร้างหนี้ ลดต้นทุน ดังนั้นจากการที่ประเมินว่าหากแฮร์คัตแล้วการบินไทยจะไปได้หรือไม่ได้ ถือว่าตอนนี้เป็นการแฮร์คัตทางอ้อมแล้วเพราะทำให้ภาระหนี้สินลดลง และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบอยู่ติดลบไม่มาก

สำหรับกรณีที่กล่าวว่า การแฮร์คัตทางอ้อม เช่น การดำเนินงานที่ผ่านมา การบินไทยมีการขอยืดหนี้เงินกู้ของเอกชน หุ้นกู้ 7 หมื่นล้านบาท ทำการยืดหนี้ไป 6 ปี ลดดอกเบี้ย ดังนั้นเมื่อดูมูลค่าปัจจุบันแล้ว การบินไทยจ่ายหนี้แค่ 60% ถือเป็นการแฮร์คัตทางอ้อม และส่วนผู้เช่าเครื่องบิน 57 ลำ ลดค่าเช่าไปมาก เป็นการตัดภาระหนี้สินจากปี 2563-2564 ค่าเช่าจ่ายเป็นรายชั่วโมงที่ใช้งานจริง จ่ายแค่ 17% ของภาระสุทธิ ดังนั้นพอเข้าแผนฟื้นฟูการบินไทยจ่ายค่าเช่าแค่ 17% ก็ถือเป็นการแฮร์คัต

ใช้ทรัพย์สินค้ำกู้เงินได้

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การหาเงินทุนก้อนใหม่ที่จะได้จากทางเอกชนนั้น จำเป็นต้องใช้หลักประกัน โดยปัจจุบันการบินไทยมีอสังหาริมทรัพย์ที่นำไปเป็นหลักประกันได้ เช่น เครื่องบินเก่า 42 ลำที่ปลดระวางรอทำการขาย ที่ผ่านมาเจรจาขายแล้ว 11 ลำ ได้ราคาดีกว่าที่คาด รวมทั้งมีอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศขายไปแล้ว แต่ยังมีที่ดินสำนักงานใหญ่วิภาวดี พื้นที่ 30 ไร่ และอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เช่น ลอนดอน ฮ่องกง

ส่วนกรณีที่การบินไทยจะนำทรัพย์สินไปค้ำประกัน อาจทำให้เจ้าหนี้รายเก่าไม่พอใจนั้น การบินไทยขอชี้แจงว่าในช่วงที่ผ่านมาคณะผู้บริหารแผน ได้หารือร่วมกับกรรมการเจ้าหนี้มาโดยตลอด รายงานให้ทราบถึงการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู มีการประชุมร่วมกันทุกเดือน และการจะเอาหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน เพื่อได้เงินใหม่เข้ามา ก็เป็นเรื่องดีกับเจ้าหนี้ทุกราย

อาคมชี้แนวโน้มฟื้นตัวชัด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นเห็นว่าเริ่มมีความคืบหน้าที่ดีและทำได้ดีกว่าแผน สำหรับปัญหาสภาพคล่องนั้น ก่อนหน้านี้ผู้บริหารแผนระบุว่า สภาพคล่องจะหมดในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังบริหารจัดการได้ และได้รายงานผลประกอบการเดือนต.ค.2564 มีกำไรซึ่งเป็นผลกำไรจากการทำธุรกิจการบิน ไม่ใช่จากการขายสินทรัพย์

“ในฐานะผู้ถือหุ้นเห็นว่าทำได้ดีกว่าแผน เช่น สภาพคล่องที่ว่าจะหมดเดือนก.ค.นี้ ตอนนี้ก็โอเค ส่วนจะไฟแนนซ์ช่วยหรือไม่ ต้องรอฟังเขาก่อน ให้ทำงานถึงที่สุด ที่เคยบอกต้องการ 5 หมื่นล้านบาท วันนี้อาจไม่ถึง และต้องการ 2.5 หมื่นล้านบาท น่าจะพอ ส่วนรูปแบบเป็นอย่างไรต้องให้เขาพยายาม ขณะนี้เขาเป็นเอกชนต้องไปกู้ก่อน เราค้ำไม่ได้”

ผลดำเนินงานดีขึ้นอาจไม่ต้องกู้เงิน

 นายอาคม กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจหลังการเปิดประเทศพบว่ายอดจองตั๋วดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การบินไทยมีสภาพคล่องและมีกำไร และอาจทำให้ความจำเป็นกู้เงินน้อยลง

“อย่าลืมเขาจะเปิดบินได้ ซึ่งเขาก็บอกว่า ยอดบุ๊คกิ้งดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีรายได้เข้ามาด้วย เดือนต.ค.เริ่มกำไรที่เกิดจากการบิน ไม่ใช่จากการขายสินทรัพย์ สภาพคล่องก็มี กำไรก็จะเพิ่ม ความจำเป็นต้องใช้เงินก็น้อยลง”

ส่วนกรณีที่มีข้อกังขาเรื่องการขายสินทรัพย์ที่อาจไม่โปร่งใสนั้นก็ต้องให้ทางการบินไทยชี้แจง ซึ่งเรื่องการขายเครื่องบินนั้น เป็นเรื่องปกติ ซึ่งอดีตก็มีการขายเครื่องบินกันอยู่แล้ว

“การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น ขณะนี้ ทีมผู้บริหารของแผนฟื้นฟูมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ที่ทราบคือ ทุกอย่างคืบหน้าไปมากแล้ว ถือเป็นตัวอย่างการฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้นในการบินไทย และหากดำเนินการสำเร็จเป็นไปตามแผนฯ ประเทศไทยก็จะได้สายการบินแห่งชาติ ที่เข้มแข็งในอดีตกลับมาอย่างแน่นอน

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์