ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้นโยบายการเงินปี 2565 ต้องช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง

ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้นโยบายการเงินปี 2565 ต้องช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง

ธปท.มองนโยบายการเงินปี 2565 ต้องช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามเป้าหมาย - รับมือดาวน์ไซด์จากโควิด พร้อมตรึงดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5%

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน MFA CEO Forum with BOT Governor: “Getting the policy response right” จัดโดยกระทรวงต่างประเทศ ว่า โควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างหนัก โดยในปี 2563 จีดีพีปรับตัวลดลงกว่า 6% ขณะที่ปี 2564 คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่า 1% อยู่ที่ 0.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในไตรมาส 1 ปี 2566

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่สูงอยู่ที่ 12% ของจีดีพี และมีการจ้างงานในภาคดังกล่าวสูงถึง 20% ของการจ้างงานทั้งหมด ส่งผลให้เกิดปัญหาว่างงาน และลุกลามไปยังปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเดิมอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 44 ล้านคนได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนหนึ่งเพราะนักท่องเที่ยวจีนยังไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศจากมาตรการที่คุมเข้มของรัฐบาล

ขณะที่ การฟื้นตัวในระยะข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะพึ่งพาภาคบริการสูง รวมถึงการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน หรือเป็นการฟื้นตัวแบบตัวเค (K-shaped Recovery) เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก โดยภาคการผลิตที่เชื่อมโยงกับภาคการส่งออกสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเชื่อว่าจะสามารถฟื้นตัวได้เป็นลำดับท้ายๆ

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤติ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังมีบทบาทสำคัญอย่างมาก จากเดิม ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจปี 2563 จะหดตัวกว่า 9-10% และปี 2564 จะยังหดตัว 5% มองไปข้างหน้า ธปท.ยังตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% เพื่อให้มั่นใจได้ว่านโยบายการเงินจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมถึงดูแลระบบการเงินให้ทำงานได้ปกติที่สุด และพร้อมดำเนินมาตรการอย่างยืดหยุ่นเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในปี 2565 มองว่านโยบายการเงินจะต้องช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องได้ตามเป้าหมาย และต้องรับมือกับโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะไม่หายไปไหน สะท้อนจากการกลับมาระบาดในแต่ละระลอก รวมถึงการกลายพันธุ์ของโรค อาทิ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งอาจกลายเป็นความเสี่ยงขาลง (ดาวน์ไซด์) ของภาคการท่องเที่ยว

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์