'จุรินทร์' ขันน๊อต 'ทูตพาณิชย์' เข้มดัชนีเพิ่มยอดส่งออกไทย

'จุรินทร์' ขันน๊อต 'ทูตพาณิชย์' เข้มดัชนีเพิ่มยอดส่งออกไทย

“จุรินทร์” สั่งยกเครื่องทำงาน “ทูตพาณิชย์” ในฐานะเซลส์แมนประเทศใหม่ เข้มดัชนีชี้วัดจากตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้น ขู่ผลงานไม่เข้าเป้าดึงตัวกลับ ไม่ปล่อยอยู่จนครบเทอม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมมอบนโยบายการทำงานให้กับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้เข้าใจตรงกันถึงนโยบายในการทำงานและการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศ ที่จะเพิ่มความเข้มข้น เพราะขณะนี้เป็นช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การทำงานจะหยุดไม่ได้ และหากโควิด-19 คลี่คลาย จากการมีวัคซีน ก็ต้องปรับแผนการทำงานเป็นเชิงรุกทันที เพื่อผลักดันการส่งออกของไทย

“เคยให้นโยบายไปแล้วว่าทูตพาณิชย์ คือ เซลส์แมนของประเทศ ต้องทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนจริงๆ ไม่ใช่ทำแต่ในนาม ต้องวิ่งเข้าหาลูกค้า ต้องไปขายของ แล้วต้องปรับตัวชี้วัดใหม่ จะวัดว่าทูตพาณิชย์ทำงานสำเร็จหรือไม่ ต้องดูที่ตัวเลขการส่งออกไปยังประเทศที่ตัวเองอยู่ เพิ่มขึ้นหรือไม่ ขายสินค้าอะไรได้บ้าง ช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออกอะไร แล้วมีการพาผู้ประกอบการหรือแนะนำการเจาะตลาดได้แค่ไหน เหล่านี้ จะนำมาใช้เป็นตัวชี้วัด”

160751141440

ทั้งนี้ เบื้องต้น จะสั่งการให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รับไปดำเนินการต่อ และให้นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ไปกำชับการทำงานของทูตพาณิชย์ให้เป็นไปตามนโยบาย หากทูตพาณิชย์ทำไม่ได้ หรือไม่ทำ ก็ต้องเอาตัวกลับ ไม่ต้องรอให้อยู่ครบเทอม ถึงจะเอากลับ เพราะทำแบบนี้ ประเทศเสียหาย เสียประโยชน์ หรือหากอธิบดีไม่กำกับดูแล ก็จะพิจารณาการทำงานของอธิบดีด้วย

นอกจากนี้ จะให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการปรับโฉมการทำงานของพาณิชย์จังหวัด ในฐานะเซลส์แมนจังหวัดใหม่ด้วย ต้องทำหน้าที่เหมือนพ่อค้า คอยไปติดต่อค้าขาย ประสานงานให้เกิดการค้าขาย เชื่อมโยงการค้า ซึ่งที่ผ่านมา หลายจังหวัดทำได้ดี แต่ยังมีอีกหลายจังหวัด ที่การทำงานไม่มีความคืบหน้า ต้องมีตัวชี้วัด เพื่อวัดผลงาน ไม่เช่นนั้น จังหวัดที่ทำก็ทำ

160751146312

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ เคยสั่งการให้ทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนประเทศ ในการมอบนโยบายการทำงานเมื่อช่วงต้นปี 2563 ขอให้ปรับแผนการทำงาน รองรับเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการระบาดของโควิด-19 และให้เร่งหาช่องทางผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าที่มีโอกาสและเป็นจุดแข็งของไทย  แต่การมอบนโยบายรอบใหม่นี้ จะกำหนดตัวชีวัดให้เข้มขันมากขึ้นกว่าเดิม