หนี้สาธารณะปี 63 แตะ 49.34%

หนี้สาธารณะปี 63 แตะ 49.34%

ครม.รับทราบหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นงบประมาณ 63 แตะ 49.34% วงเงินรวม 7.8 ล้านล้าน เพิ่มจากปี 62 ที่อยู่ 41.1% ชี้ยังอยู่ในกรอบวินัยการคลังที่ยังบริหารได้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า   คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ตามที่กระทรวงการคลังรายงานดังนี้คือ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2563 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)อยู่ที่ 49.34% จากกรอบที่กำหนดไม่เกิน60% สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ที่ 25.38% จากกรอบที่กำหนดไม่เกินร้อยละ 35 สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.78% จากที่กำหนดไม่เกิน10% และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.01% จากที่กำหนดไม่เกิน 5%

 

สำหรับสถานะหนี้สาธารณะคงค้างมีจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท คิดเป็น 49.34 % ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่41.10% เนื่องจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการสร้างขีดความสามารถของประเทศผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนสถานะหนี้เงินกู้คงค้างของหน่วยงานของรัฐมีดังนี้ รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ

ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีหนี้เงินกู้คงค้างจำนวน 94,733.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.03%, รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน ได้แก่ รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจให้กู้ยืม รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจประกันสินเชื่อ มีหนี้เงินกู้คงค้างรวม 538,077.72 ล้านบาท ขณะที่สถานะหนี้เงินกู้คงค้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 38,069.47 ล้านบาท และ สถานะหนี้เงินกู้คงค้างของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีจำนวน 5,263,049 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการเงินของธปท.

                นอกจากนี้ในส่วนของการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดจากหนี้สาธารณะ ทางกระทรวงการคลังระบุว่า หนี้สาธารณะจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท แยกเป็น หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรงจำนวน 6,267,230.04 ล้านบาท คิดเป็น 79.86% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด

โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินโดยมีรัฐบาลค้ำประกัน ขณะที่หนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง คือหนี้ที่หน่วยงานเป็นผู้รับภาระหรือมีแหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้มีจำนวน 1,580,925.84 ล้านบาท คิดเป็น 20.14 % ของหนี้สาธารณะทั้งหมด

                “เมื่อวิเคราะห์ภาระหนี้ประกอบกับแผนการกู้เงินและการชำระหนี้ในอนาคตพบว่า อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้”