โควิดฉุด "การค้า-ท่องเที่ยว" รายได้วูบ 1.4 -2.23 แสนล้าน

โควิดฉุด "การค้า-ท่องเที่ยว" รายได้วูบ 1.4 -2.23 แสนล้าน

สำนักวิจัยทีเอ็มบี และ กรุงไทย ประเมินผลกระทบรายได้ท่องเที่ยว-การค้า หลังการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่หลายแสนล้านบาท สะเทือนถึงการจ้างงาน 6.9 ล้านคน

161055398666      นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics ประเมินว่า ผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงร้านอาหาร สถานบันเทิง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้ลดลง โดยเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ เพราะไทยมีการพึ่งพาการค้าและภาคการท่องเที่ยวสูง

    หากพิจารณารายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจังหวัด(จีดีพี) พบว่าในภาพรวม ไทยมีสัดส่วนพึ่งพาภาคการค้าและการท่องเที่ยวถึง 22% ต่อจีดีพีรวม มีการจ้างงานสูง รวมกันที่ 6.9 ล้านคน ดังนั้นคาดว่าผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ จะกระทบทำให้รายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวลดลงรวมกันกว่า 1.4 แสนล้านบาท

     นอกจากนี้ตามกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานการผลิต แหล่งการกระจายสินค้า และขายสินค้าที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว

    โดยกลุ่มนี้มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 23% การจ้างงานในพื้นที่ 4.1 ล้านคน คาดว่ากระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยว 1.28 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 91% ของรายได้ที่ถูกกระทบทั้งหมด

   ขณะที่กลุ่มที่เหลือซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมและเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 20% มีการจ้างงานในพื้นที่ 2.8 ล้านคน ผลกระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวคาดรวมกันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

    หากเจาะเฉพาะ 14 จังหวัดแรก ผลกระทบที่มีต่อการค้าและการท่องเที่ยวสูง ส่วนใหญ่อยู่กลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ที่มีรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สูงสุดของประเทศ ที่พึ่งการค้าการท่องเที่ยวถึง33% มีการจ้างงาน 2.1 ล้านคน ดังนั้นคาดรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวจะลดลง 81,424 ล้านบาท

    รองมาเป็น ชลบุรี ที่มีจีดีพีสูงอันดับ 3ของประเทศ และพึ่งพาการค้าการท่องเที่ยวถึง 19% มีการจ้างงาน 2.7 แสนคน ทำให้คาดได้รับผลกระทบต่อรายได้อยู่ที่ 15,463 ล้านบาท ส่วนภูเก็ต มีการพึ่งพาการค้าการท่องเที่ยวสูงถึง 53% มีการจ้างงาน 1.5 แสนคน ผลกระทบต่อรายได้อยู่ที่ 2,799 ล้านบาท

    ในขณะที่ ระยองและสมุทรสาคร มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าการท่องเที่ยวต่ำกว่า โดยอยู่ที่ 8% และ 15% ทำให้ผลกระทบต่อรายได้ลดลงน้อยกว่าอยู่ที่ 2,748 และ 2,682 ล้านบาท ตามลำดับ

   ดังนั้นภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตามระดับผลกระทบของธุรกิจในแต่ละพื้นที่ เช่นธุรกิจค้าปลีกทั่วไป ร้านอาหาร โรงแรม และสถานบันเทิง ฯลฯ ซึ่งมีการจ้างงานอยู่กว่า 6.9 ล้านคน เช่นมาตรการพยุงค่าครองชีพของแรงงานที่ได้รับผลกระทบฯลฯ

    ด้าน นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ปีก่อน 3.5% แต่อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจจะผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การฟื้นตัวของปีนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

    สาเหตุที่มีการปรับจีดีพีปีนี้ลง หลักๆมาจาก ผลกระทบจากโควิด-19 ที่เข้ามากระทบตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายภาคเอกชน การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยวในประเทศให้ลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวในประเทศ ที่คาดจะลดลง เหลือเพียงระดับ 109.6 ล้านครั้ง จากประมาณการเดิมที่ 131.8 ล้านคน/ครั้ง

    ทั้งนี้ คาดว่ากระทบดีมานด์ในประเทศให้หายไปจากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ราว 1.67 แสนล้านบาท ภายใต้การคาดการณ์ว่าสามารถคุมโควิด-19ได้ภายในสองเดือน ม.ค.และก.พ. แต่ภายใต้การเยียวยาของภาครัฐล่าสุด ที่คาดใช้งบราว 1.7-2 แสนล้านบาท คาดมีส่วนพยุงเศรษฐกิจไทยปีไม่ให้ปรับลดลงมากนัก

    อย่างไรก็ตามหากโควิด-19 ยืดเยื้อ ลากยาวถึง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) คาดว่าจะกระทบต่อดีมานด์ในประเทศให้หายไปถึงระดับ 2.39 แสนล้านบาท ซึ่งจะฉุดจีดีพีปีนี้ให้เติบโตได้เพียงระดับ 2% เท่านั้น ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวกว่านี้ เชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจก็อาจเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้าอีก

    "ภายใต้การคุมเข้มโควิด-19 ใน2เดือนนี้ คาดว่ากระทบท่องเที่ยวเหลือเพียง 109 ล้านครั้ง กระทบต่อเม็ดเงินท่องเที่ยวหายไป 1.1 แสนล้านบาท แต่หากต้องคุมเข้มยาวถึง 3 เดือน ทำให้นักท่องเที่ยวลดเหลือ 100 ล้านครั้ง คาดเม็ดเงินจากท่องเที่ยวจะหายไปถึง 1.5 แสนล้นบาท ดังนั้นเราหวังว่าจะสามารถคุมโควิด-19รอบใหม่ได้ภายในสองเดือนนี้”

      นอกจากนี้เศรษฐกิจไทย ยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่คาดกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ราว 4.4 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังต้องเผชิญกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น จากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และเผชิญกับผลกระทบจากค่าเงินบาท ที่คาดจะแข็งค่าทั้งปี 2564 ที่คาดแข็งสุดไปแตะระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นในปีนี้

    หากสถานการณ์โควิด-19กระทบรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันที่ยังอยู่ที่ 0.50% เพราะดอกเบี้ยถือเป็นกลไกในการช่วยหนุนเศรษฐกิจ

    นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแค่ปัจจัยความไม่แน่นอนจากในประเทศเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากต่างประเทศมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลง Megatrend ของโลก เช่น กระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

   รวมถึงต้องจับตา ความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการค้ารอบใหม่ จากแนวนโยบายภายใต้ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนใหม่ด้วย