'คลัง'ถก ธปท.รื้อเกณฑ์ซอฟท์โลน จ่อเพิ่มดอกเบี้ยจูงใจแบงก์ปล่อยกู้

'คลัง'ถก ธปท.รื้อเกณฑ์ซอฟท์โลน จ่อเพิ่มดอกเบี้ยจูงใจแบงก์ปล่อยกู้

คลัง-ธปท.หารือแก้ พรก.ซอฟท์โลน จ่อเพิ่มดอกเบี้ยเป็น 5% จูงใจแบงก์ปล่อยกู้อุ้มภาคธุรกิจ “ไทยพาณิชย์” ชี้เป็นผลดีต่อลูกหนี้ “

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังหารือเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาเงินกู้ซอฟท์โลน เพื่อเปิดทางให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนดังกล่าวได้มากขึ้น

ทั้งนี้ข้อเสนอสำคัญในการแก้ไข พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. ซอฟท์โลน) ที่ผ่อนเกณฑ์ คือ การแก้ไขให้ปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าใหม่ได้ จากเดิมกำหนดให้ปล่อยกู้เฉพาะลูกค้าเดิมเท่านั้น ซึ่งมีประเด็นที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวกังวลต่อ​ความรับผิดชอบต่อความเสียหายอาจเกิดขึ้น

“ยกตัวอย่าง ข้อกำหนดเดิมของ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน กำหนดให้กู้เฉพาะลูกค้าเดิมของธนาคารเท่านั้น​ เพราะธนาคารรู้ประวัติลูกค้าตัวเองดี​ ทำให้การอนุมัติเงินรวดเร็วขึ้น​ แต่หากเปิดกว้างขึ้น​ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเก่าของธนาคารก็ได้กู้ซอฟท์โลนได้ด้วยอาจมีความเสี่ยง”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะแก้ไข​ พ.ร.ก.ฉบับนี้ตามข้อเสนอได้​ แต่การอนุมัติสินเชื่อขึ้นกับแต่ละสถาบันการเงิน​ หรืออาจจะแก้ไขโดยปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นไม่เกิน 5% จากปัจจุบันไม่เกิน 2% เพื่อจูงใจธนาคารพาณิชย์ก็ตาม​ แต่ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาเครดิตของลูกค้า​ ซึ่งเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ ในขณะนี้เข้มงวดกว่าธนาคารของรัฐมาก​ เพราะหากปล่อยสินเชื่อออกไปแล้วกลายเป็นหนี้เสีย​ ธนาคารก็มีภาระต้องกันสำรองที่สูงขึ้น

นอกจากนั้น ​ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตาม​ พ.ร.บ.ความรับผิดของสถาบันการเงิน​ ในกรณีปล่อยกู้แล้วเกิดความเสียหายแล้วตรวจพบว่าส่อไปในทางทุจริต ดังนั้นหากแก้​ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ตามข้อเสนอได้​ แต่ธนาคารพาณิชย์​อาจไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะกลัวความเสี่ยง​ ดังนั้นภาระการปล่อยกู้ซอฟท์โลนคงตกอยู่กับธนาคารของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสิน

“ไทยพาณิชย์”ชี้ช่วยลูกหนี้มากขึ้น

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ซอฟท์โลน เชื่อว่า เป็นผลดีกับลูกหนี้ในอนาคต จะทำให้ลูกหนี้มีโอกาสได้รับสินเชื่อมากขึ้น และช่วยลดผลกระทบที่มีต่อลูกหนี้ได้ในอนาคต โดยเฉพาะหากขยายวงเงินกู้มากกว่า 20% ของภาระหนี้เดิม หรือขยายกลุ่มการกู้ออกไปมากกว่าเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ซอฟท์โลนสามารถเข้าถึงลูกหนี้ได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ จากผลกระทบจาก ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่กระทบเป็นวงกว้าง ต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่งผลต่อสภาพคล่องแก่ลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยของธนาคาร ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือระยะ 3 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจให้กับลูกค้าจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

เช่น มาตรการพักหนี้ ให้กับลูกหนี้ราว 3 เดือน นับตั้งแต่วันลงทะเบียน เพราะมองว่าโควิด-19 ครั้งนี้มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด ต่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ ดังนั้นควรเว้นการพักชำระหนี้ไปก่อน หรือบางราย มีการลดดอกเบี้ย ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารมีการยืดระยะเวลาไปถึง 1ปี สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่การช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายจะไม่เท่ากัน แล้วแต่ความรุนแรงของผลกระทบ และพื้นที่ผลกระทบด้วย

จ่อพักหนี้โรงแรมยาวถึงสิ้นปี 64

ขณะเดียวกัน สำหรับภาคธุรกิจบางราย การช่วยเหลือก็อาจต้องช่วยผ่านมาตรการพักหนี้ ยาวไปอีก 6 เดือนหรือ 1ปี เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม ที่ปัจจุบันยอมรับว่า กระทบหนักจากโควิด-19 จากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา ดังนั้นภายในเดือน มี.ค. 2564 นี้ธนาคารจะประเมินการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้อีกครั้งว่า หลังจากต่ออายุการพักหนี้ไปแล้วถึง มิ.ย. 2564 ลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้หรือไม่ หากกลับมาไม่ได้ต้องพิจารณาต่อการพักหนี้อีก 6 เดือนถึงสิ้นปี 2564 สำหรับบางราย

โดยกลุ่มโรงแรมที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคาร ที่ต้องช่วยเหลือต่อเนื่อง ปัจจุบันมีราวกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ราว 6 หมื่นล้านบาท และโรงแรมที่เป็นเอสเอ็มอีอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านมาตรการช่วยเหลือของธนาคารที่ผ่านมา พบว่า ลูกหนี้มีการออกจากมาตรการช่วยเหลือแล้วกว่า 70% ขณะที่มีอีกราว 30% ที่ยังต้องช่วยเหลือต่อเนื่อง จากลูกค้าที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือทั้งหมดตั้งแต่เฟสแรก ราว 8.39 แสนล้านบาท

“รอบนี้เรามองผลกระทบจากโควิด-19ไม่ได้รุนแรงเท่ารอบก่อน ในแง่ผลกับลูกหนี้ เพราะลูกหนี้บางส่วนได้รับการช่วยเหลือแล้ว ขณะที่ไม่มีการล็อกดาวน์ทำให้ลูกหนี้ยังสามารถทำกิจกรรมค้าขายได้ ดังนั้นผลกระทบ และคนที่เข้าโครงการช่วยเหลืออาจไม่มากเท่าเฟสแรก ที่เกิดโควิด-19 รอบแรก ซึ่งจะพยายามช่วยเหลือลูกหนี้ให้มากที่สุดทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการช่วยเหลือมีผลกระทบด้านดอกเบี้ยและรายได้ของธนาคาร แต่เชื่อว่าไม่มากนัก เพราะมีมาตรการ ธปท.รองรับ เช่น มาตรการสำรอง และการจัดชั้นลูกหนี้ ทำให้เหล่านี้บรรเทาผลกระทบที่มีต่อธนาคารได้ค่อนข้างมาก

ส่วนทิศทางเอ็นพีแอลปีนี้ คาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้โควิด-19 ระลอกใหม่ ดังนั้นธนาคารเชื่อว่า การสำรองหนี้เสียระดับสูง ยังคงต้องมีต่อเนื่อง

ช่วยเหลือลูกหนี้ระยะ3

สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธนาคาร ล่าสุด เช่น ลูกค้า บัตรเครดิตไทยพาณิชย์ ทุกประเภท ลูกค้าผ่อนเงินต้นค้างชำระ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 12% ต่อปี นาน 48 เดือน (ยกเว้นบัตร JCB และรายการใช้จ่ายที่ขอใช้บริการดีจังแบ่งชำระรายเดือน) สินเชื่อหมุนเวียน Speedy Cash ลูกค้าผ่อนเงินต้นค้างชำระ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 22% นาน 48 เดือน

สินเชื่อบุคคล Speedy Loan ลูกค้าสามารถปรับลดอัตราผ่อน 30% ของอัตราผ่อนเดิม ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 22% ต่อปี ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ลูกค้าสามารถพักชำระค่างวด 3 เดือน หรือ ปรับลดอัตราผ่อน และขยายระยะเวลาผ่อน และสินเชื่อบ้าน ลูกค้าพักชำระค่างวด 3 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น 3 เดือน และลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ขยายระยะเวลาผ่อนสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย (ยอดขายไม่เกิน 75 ล้านบาทต่อปี) ลูกค้าพักชำระค่างวดสูงสุด 3 เดือน หรือ ปรับลดอัตราผ่อน และขยายเวลาผ่อน ซึ่งสมัครเข้าโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิ.ย.2564

กสิกรไทยเน้นช่วยรายย่อย

ธนาคารกสิกรไทย ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเช่นเดียวกัน โดยสมัครเข้าโครงการช่วยเหลือถึง 30 มิ.ย.นี้ เช่น ลูกหนี้บัตรเครดิต โดยพักเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 รอบบัญชี หรือเปลี่ยนยอดคงค้างเป็นผ่อนชำระ 48งวด ดอกเบี้ยพิเศษ 12% สำหรับลูกหนี้บัตรเงินด่วน ให้พักเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย 6 เดือน หรือ เปลี่ยนเป็นผ่อน 48 ลดดอกเบี้ย 22% สินเชื่อเงินด่วน พักเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย 6 เดือน หรือลดค่างวด 30% เป็นเวลา 6 เดือนดอกเบี้ย 22%

ขณะที่สินเชื่อบ้าน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย และลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.1% 3 เดือน หรือลดค่างวด 50%เป็น 3 เดือน หรือพักเงินต้นดอกเบี้ย 3 เดือน สินเชื่อเงินด่วนสำหรับธุรกิจ จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 3 เดือน หรือลดผ่อนชำระ 30%3 เดือน หรือเลือกพักเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน

ทิสโก้ช่วยลูกหนี้รถ-บ้าน

สำหรับธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยสินเชื่อเงินกู้ ประเภทจำนำทะเบียน ลดค่างวด 30% ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ดอกเบี้ย ไม่เกิน 22% สินเชื่อเช่าซื้อ พักชำระค่างวด 3 เดือน หรือปรับลดค่างวด โดยขยายการชำระ สินเชื่อบ้าน พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือเลื่อนจ่ายเงินต้น 3 เดือนและลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม โดยลูกหนี้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 30 มิ.ย.นี้ 

ชง ครม.เคาะมาตรการ“เราชนะ”

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุม ครม.วันนี้ (19 ม.ค.) กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการเยียวยาประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.) ในโครงการ “เราชนะ” ซึ่งรายละเอียดจะชี้แจงหลังการประชุม ครม.

ทั้งนี้ ยังบอกไม่ได้ว่านอกจาก “เราชนะ” จะมีมาตรการอีกหรือไม่ต้องดูสถานการณ์เฉพาะหน้า เพราะตอนนี้มีความไม่แน่นอนสูงต้องประเมินเป็นระยะ แต่สถานการณ์ปัจจุบันมองว่าการระบาดเริ่มคลี่คลาย และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และควบคุมการระบาดของโรคไว้ได้ใน 2 เดือน ซึ่งต้องดูอัตราการแพร่เชื้อต่อของผู้ป่วยในประเทศ 1 คนที่จะแพร่ไปคนอื่น ซึ่งช่วงแรกอยู่อัตรา 1 ต่อ 7 คือ ผู้ป่วย1 คนแพร่ได้ 7 คน แต่ปัจจุบันเหลือ 0.37 คือ ผู้ติดเชื้อ 1 คนแพร่เชื้อไม่ถึง 1 คน สะท้อนว่าประชาชนร่วมมือป้องกันมากขึ้นทำให้การติดเชื้อลดลง

จ่ายเยียวยา31ล้านคน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มาตรการ “เราชนะ” จะจ่ายเงินเยียวยา 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาท สำหรับแรงงานที่อยู่นอกระบบ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ต้องไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีมากกว่าเรากำหนด คาดจะมีจำนวนผู้เข้าเกณฑ์ 31 ล้านคน และจะใช้งบประมาณจำนวน 2.1 แสนล้านบาท

“จำนวน 31 ล้านคนนั้น เป็นจำนวนที่เราคาดการณ์ แต่ถ้ามีมากกว่านั้น หรือ เข้าเงื่อนไขที่เรากำหนด เราก็พร้อมจะเยียวยา”

ทั้งนี้ ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือเกษตรกร หากเป็นผู้ที่มีรายได้สูง เราก็ถือว่า ไม่เข้าเงื่อนไข เพราะบางรายแม้ประกอบอาชีพอิสระแต่มีรายได้สูง ฉะนั้นต้องกันส่วนนี้ออกไปเพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจริง

หลังเราชนะเหลือเงิน2.5แสนล.

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีจำนวนเงินฝากที่ไม่เข้าเงื่อนไขการรับเงินเยียวยานั้น ทางกระทรวงการคลังกำหนดไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ต้องรอให้ทางคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุมอาจจะมีความเห็นที่แตกต่าง

ทั้งนี้ เมื่อ ครม.เห็นชอบมาตรการดังกล่าวแล้ว เราจะเปิดให้มีการลงทะเบียนผู้ขอรับเงินเยียวยาผ่าน www.เราชนะ.com

สำหรับ​ผู้ที่อยู่ในถังข้อมูล​ของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว​ หรือ ผู้ที่เคยได้รับเงินเยียวยาในรอบที่แล้ว​ เช่น ผู้ถือบัตรคนจน ไม่ต้องเข้ามาลงทะเบียน​ใหม่​ ทั้งนี้เพื่อลดความยุ่งยากของประชาชนซึ่งหากกระทรวงการคลังคัดกรองผู้ที่ผ่านคุณสมบัติแล้ว จะดำเนินการจ่ายเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ทันที

นางสาวกุลยา กล่าวว่า งบประมาณที่เราจะใช้เยียวยาในรอบนี้จะนำมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ขณะนี้ ยังเหลืออยู่ประมาณ 4.7 แสนล้านบาท เมื่อใช้งบสำหรับเยียวยา 2.1 แสนล้านบาท เราจะเหลืองบสำหรับการดูแลโควิด-19 อีกประมาณ 2.5-2.6 แสนล้านบาท

“รัฐบาลมองว่า จะสามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 ในรอบนี้ได้ ดังนั้นเม็ดเงินเหลือก็น่าจะเพียงพอสำหรับการดูแลในรอบนี้”