เอสเอ็มอี“1.3ล้านราย”อ่วมโควิด อีไอซีหั่นจีดีพีโต2.2%คลังจ่อตาม

เอสเอ็มอี“1.3ล้านราย”อ่วมโควิด  อีไอซีหั่นจีดีพีโต2.2%คลังจ่อตาม

“ทีเอ็มบี”ชี้โควิด-19 กระทบรายได้ธุรกิจเอสเอ็มอีสูญ 2.7หมื่นล้านบาท กระทบผู้ประกอบการ 1.3 ล้านราย จ้างงาน 6.1 ล้านคนสะเทือน พบชลบุรรีกระทบหนักสุด ขณะที่กสิกรคาดปีนี้เอ็นพีแอลจ่อพุ่งแตะ 3.53% ด้านอีไอซีหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.2%

   นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะทำให้รายได้ของธุรกิจเอสเอ็มอีภาคการค้าบริการและท่องเที่ยวทั่วประเทศรวมลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบถึง 1.3 ล้านราย มีการจ้างงานรวมกันกว่าอยู่ 6.1 ล้านคน

    โดยพบว่าพื้นที่ที่มีการควบคุมสูงสุด รายได้ลดลง 2.2 หมื่นล้านบาท มีเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบราว 5.7 แสนราย มีจ้างงานกว่า 3.4 ล้านคน ขณะที่พื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูง รายได้ลด 2.7 พันล้านบาท และ 2.2 พันล้านบาท และมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนราย และ 5.7 แสนราย ตามลำดับ

    ทั้งนี้จากโครงสร้างธุรกิจ พบข้อสังเกตว่าในพื้นที่ควบคุมสูงสุด กลุ่มเอสเอ็มอี นิติบุคคลที่อยู่ในภาคการค้าบริการและท่องเที่ยว มีบทบาทสำคัญในการจ้างงานถึง 1.8 ล้านคนหรือคิดเป็น 55% ของการจ้างงานเอสเอ็มอีในพื้นที่ ส่วนกลุ่มพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวัง กลุ่มธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลมีสัดส่วน 20-27% ของการจ้างงานเท่านั้น

     โดยกระทบหนักสุดคือ ธุรกิจร้านขายปลีกเสื้อผ้า รายได้ลดลงกว่า 5 พันล้านบาท ร้านค้าเบ็ดเตล็ด รายได้ลดลง 4.7 พันล้านบาท สำหรับธุรกิจโรงแรม/ที่พัก และธุรกิจร้านอาหาร รายได้ลดลง 3.8 พันล้านบาทและ 2.7 พันล้านบาท

    นอกจากนี้พบว่าในกลุ่มร้านค้า ขายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป มีผู้ประกอบการที่กระทบมากถึง 4.6 หมื่นราย มีการจ้างงาน 3.3 แสนคน รองลงเป็นร้านขายปลีกเสื้อผ้ามีธุรกิจอยู่ 1.1 หมื่นราย จ้างงาน 6.4 หมื่นคน กลุ่มร้านอาหารและโรงแรมที่พัก มีจำนวนธุรกิจ 1 หมื่นรายและ 7 พันรายตามลำดับ มีการจ้างงานรวมกันกว่า 2.9 แสนคน

เอสเอ็มอีชลบุรีกระทบหนักสุด

    โดยพบว่า เอสเอ็มอีในชลบุรีกระทบหนักสุด เนื่องจากมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมาก ทำให้เอสเอ็มอีมรายได้ลดลง 6.2 พันล้านบาท และมีการจ้างงาน 2.46 แสนคน รองลงมา กทม.รายได้จะลดลง 5 พันล้านบาท ขณะที่ จังหวัดสมุทรปราการ รายได้ลด 1.38พันล้านบาท ประจวบคีรีขันธ์ 1.13พันล้านบาท และสุราษฎร์ธานี 1.08 พันล้านบาท

    ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานบางส่วน เพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจรักษาการจ้างงานไว้ เพื่อช่วยพยุงผู้ประกอบการและแรงงานให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้

ทีดีอาร์ไอคาดเศรษฐกิจปีนี้โต2-3%

   นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าภายในงาน “2021 FACING CHANGE OR MORE CHALLENGES” ที่จัดโดย Kbank PRIVATE BANKING ธนาคารกสิกรไทย ภายใต้หัวข้อ “เจาะลึกทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย” คาดการณ์ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวที่ 2-3% จากปีก่อนมีอัตราติดลบ 7-8% หลักๆมาจาก ส่งออกและการลงทุนการใช้จ่ายภาครัฐเป็นตัวหนุน

     ขณะที่มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติก่อนเกิดควิด-19 จะใช้ระยะเวลาอีก 2-3 ปี หรือในปี 2566 อีกทั้งมองว่าคนไทยยังต้องเจอกับการระบาดโควิด-19 ต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลา 4-6 เดือนกว่าที่จะเห็นการแพร่ระบาดสงบลงได้ ทั้งนี้คาดว่าภาคการท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เท่าก่อนเกิดโควิด-19 ราว 2-3ปี ระดับ 40 ล้านคน

อีไอซีหั่นจีดีพีปีนี้โต 2.2%

   นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ส่งผลให้อีไอซีปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ เติบโตลดลงเหลือ 2.2% จากเดิมคาดขยายตัว 3.8% เนื่องจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่คาด

    อีไอซี คาดว่าประเมินว่าประเทศพัฒนาแล้วจะทยอยมีภูมิคุ้นกันหมู่ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2021 ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยจะทยอยมีภูมิคุ้นกันหมู่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2564 จนถึงไตรมาสที่ 4/2564 ซึ่งช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

   ส่งผลให้ปรับจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้เหลือ 3.7 ล้านคน ขณะที่ภาคส่งออกมีแนวโน้มชะลอกว่าที่คาด คาดขยายตัวได้ 4.0% ปีนี้ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศถูกกระทบ จากโควิด-19

    ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตา ระยะเวลาระบาดของโควิดรอบใหม่ความล่าช้ากระจายวัคซีน ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการเมืองในประเทศ ที่อาจกระทบต่อการลงทุน และยังมีผลกระทบภัยแล้ง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกได้

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(28 ม.ค.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง จะแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนธ.ค.และ ปี 2563 ซึ่งจะมีการปรับประมาณการจีดีพีปี 2564 รอบใหม่จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5%

กสิกรคาดโควิด-19ดันหนี้เสีย64พุ่ง

   ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากผลกระทบโควิด-19 น่าจะส่งผลให้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ 3.53% หรืออยู่ในกรอบ 3.40-3.80% จากปีก่อนหน้าที่คาดเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.16%

    ปัจจัยต้องจับตาสำคัญคือ ยอดภาระหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน อาจกลับมาเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ หลังลดระดับลง เมื่อครึ่งปีหลังมาอยู่ที่ 22.7% อีกทั้งประเมินว่า ปัญหาหนี้เสียมีโอกาสกระจายตัวในหลายกลุ่มธุรกิจมากขึ้น ที่น่าห่วงคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขายส่ง-ขายปลีก เอสเอ็มอีในภาคการผลิต ธุรกิจที่ให้เช่าอาคารอพาร์ทเม้นท์ ฯลฯ

    ดังนั้นกสิกรเชื่อว่า การดูแลคุณภาพหนี้จะยังเป็นโจทย์สำคัญต่อเนื่องในปี 2564 และอาจข้ามไปถึง 2565 ดังนั้นมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจต้องกลับมาประเมินความจำเป็นของการขยายเวลาผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ให้กับสถาบันการเงิน รวมถึงการเว้นการกันเงินสำรองสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2564

กรุงศรีงัดมาตรการช่วยเอสเอ็มอี

    นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ เอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ธนาคารจึงเร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติมแบบเชิงรุก เพื่อบรรเทาผลกระทบและแบ่งเบาภาระของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

    โดยสรุปมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากผลกระทบโควิด เช่น ลูกค้าธุรกิจขนาดย่อม จะมีทั้งในรูปแบบพักชำระเงินต้น พักชำระค่างวดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด

    สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง และลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก จะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไป ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจะพิจารณาตามผลกระทบที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้า