นายกฯสั่งต่ออายุ ‘คนละครึ่ง’ - ‘เที่ยวด้วยกัน’ กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

นายกฯสั่งต่ออายุ  ‘คนละครึ่ง’ - ‘เที่ยวด้วยกัน’ กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

นายกฯ หารือ สุพัฒนพงษ์ อาคม ผู้ว่า ธปท.เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ต่อมาตรการกลุ่มโคเพย์ “คนละครึ่ง” - “เราเที่ยวด้วยกัน” เล็งคลอดมาตรการดึงหนุนคนมีเงินออมใช้จ่ายเพิ่ม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (22 มี.ค.) เพื่อประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีผู้เข้าร่วม คือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการภาครัฐช่วงที่ผ่านมาเพิ่มการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหมุนเวียนผ่านร้านค้าได้ดี โดยภาพรวมของเศรษฐกิจมีความเชื่อมั่นฟื้นขึ้นตั้งแต่ทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานเศรษฐกิจพิจารณาต่ออายุมาตรการที่จะช่วยการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้ต่อเนื่องจากช่วงมาตรการที่จะหมดอายุ ซึ่งมาตรการที่คาดว่าจะต่ออายุได้แน่นอน คือ มาตรการคนละครึ่ง มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะต่ออายุในเฟสที่ 3 โดยโครงการคนละครึ่งต่ออายุได้เพราะใช้เงินไม่มาก และจะใช้ได้ช่วงเดือน มิ.ย.นี้

ส่วนมาตรการเราเที่ยวด้วยกันระยะที่ 3 จะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) วันที่ 26 มี.ค.2564

ดึงคนมีเงินเพิ่มการจับจ่าย

นอกจากนี้ได้รายงานนายกรัฐมนตรีว่า ช่วงที่ผ่านมามีเงินฝากในระบบมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ซึ่งแนวทางที่ภาครัฐเคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ คือ การออกมาตรการช็อปดีมีคืน แต่มาตรการที่ออกมาใหม่จะไม่ได้คิดในเรื่องของฐานภาษีหรือระยะเวลาของการยื่นภาษีเป็นหลัก ซึ่งขอให้รอดูว่าจะออกมาลักษณะใด แต่ได้ฝากให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำไปหามาตรการเพิ่มเติมในการจูงใจให้ผู้นำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงมาตรการเราผูกพัน ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือข้าราชการที่มีรายได้น้อย 1 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องดูแลเช่นกัน เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม้จะไม่ถูกหักเงินเดือน

“นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเศรษฐกิจ ต้องการให้ออกมาตรการเยียวยาและดูแลให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม และต้องการเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมจึงอยากให้เสนอมาตรการเป็นแพคเกจที่ครอบคลุมหลายเรื่อง มาตรการที่จะออกมาในช่วงครึ่งหลังของปีก็เป็นมาตรการที่ใช้แล้วได้ผล แต่ต้องดูระยะเวลาว่าแต่ละช่วงใดจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างไร" 

ส่วนการติดตามเรื่องของสถานการณ์การผิดชำระหนี้ของผู้ประกอบการรายย่อยและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินทั้ง 21 แห่ง นายกรัฐมนตรีได้สอบถามเรื่องนี้เช่นกันและขอให้รายงานความคืบหน้ากลับมาให้ทราบอีกครั้ง

ชง พรก.ซอฟต์โลนวันนี้

นายสุพัฒนพงษ์ ตอบคำถามประเด็นการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท และมาตรการโกดังเก็บหนี้ (Asset Warehousing) ว่า เรื่องนี้กระทรวงการคลัง และ ธปท.นำเสนอรายละเอียดให้นายกรัฐมนตรีทราบ โดยต้องหารือกับสมาคมธนาคารไทยในรายละเอียด ซึ่งหากเสนอ ครม.ได้ทันก็ดำเนินการเลย เพราะจะช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลได้นำข้อเสนอหลายฝ่ายมาพิจารณา เช่น คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งภาคส่วนต่างๆมาพิจารณาแล้ว ซึ่งเมื่อปรับปรุงแล้วจะสร้างผลดีในการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพราะ พ.ร.ก.ซอฟโลนต์ ที่ออกมาเดิม 5 แสนล้านบาท นั้น ปล่อยออกไปได้ 1.3 แสนล้านบาทแล้ว ก็จะแก้ไขให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า กระทรวงการคลังและ ธปท.จะเสนอ ครม.พิจารณาในวันนี้ (23 มี.ค.) โดยสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน มีวงเงินเหลือ 3.7 แสนล้านบาท จะนำมาทำ Asset Warehousing ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ว่าการ ธปท.จะแถลงมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วันนี้ (23 มี.ค.) หลังประชุม ครม. ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

หนุนปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการการเงิน กล่าวว่า การเสนอซอฟท์โลนเข้า ครม.วันนี้ (23 มี.ค.) เพื่อแก้หลักการเดิม หรือหลักเกณฑ์เดิมของซอฟท์โลนระยะที่ 1 เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติม หรือซอฟท์โลน เฟส 2 มีความครอบคลุมและช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีมากขึ้น โดยเงื่อนไขหลายด้านมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น และใช้กลไกภาครัฐ หรือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยรับประกันความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ซอทฟ์โลนด้วย

โดยซอฟท์โลนเฟส 2 ที่มีการปรับเปลี่ยน หลักๆ เป็นในส่วนของวงเงินการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่มีการกำหนดว่า ผู้กู้ซอฟท์โลน จะต้องเป็นลูกหนี้เก่าของสถาบันการเงิน ที่มีสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2562 เท่านั้น แต่เกณฑ์ใหม่ จะเอื้อให้ทั้งลูกหนี้ เก่าและลูกใหม่ ให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อซอฟท์โลนครั้งนี้ด้วย โดยกำหนดวงเงินการกู้ต่อรายอยู่สูงสุดอยู่ที่ 150 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงซอฟท์โลนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้องต้น คาดว่า จะกำหนดการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ 2 ปี แรกอยู่ที่ 2% และปีที่ 3-5 จะคิดอัตราดอกเบี้ยได้เพิ่มขึ้น แต่โดยรวมแล้วจะต้องไม่เกิน 5% โดยมีระยะเวลาการกู้ซอฟท์โลน 5 ปี

เกณฑ์กู้ซอฟต์โลนยืดหยุ่นมากขึ้น

ส่วนการรับประกันความเสี่ยง จากการปล่อยสินเชื่อ ครั้งนี้จะมีการแก้เกณฑ์ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อ โดยจะใช้กลไกของ บสย.มารับประกันความเสี่ยงตั้งแต่ปีแรกของการกู้ และเข้ามารับประกันความเสี่ยงสูงถึง 60% จากเดิมที่ บสย.เข้ามารับประกันความเสี่ยงไม่เกิน 35% ของการปล่อยสินเชื่อเท่านั้น

นอกจากการนำซอฟท์โลน เข้าครม.วันนี้แล้ว ยังมีเรื่อง การเสนอตั้งโครงการ Asset Warehousing หรือโกดังพักหนี้ พักทรัพย์ เข้า ครม.ด้วยเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม

สำหรับยอดการปล่อยสินเชื่อซอทฟ์โลน ธปท.ล่าสุด ณ วันที่ 15 มี.ค.สินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแล้ว 132,835 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับซอฟท์โลนแล้ว 76,713 ราย มีวงเงินอนุมัติเฉลี่ยต่อรายได้อยู่ที่ 1.73 ล้านบาท