ปี68 ไทยขึ้นแท่นผู้ผลิตทุเรียนเบอร์ 1ของโลกแตะ 2ล้านตัน

 ปี68 ไทยขึ้นแท่นผู้ผลิตทุเรียนเบอร์ 1ของโลกแตะ 2ล้านตัน

ปี68 ไทยขึ้นแท่นผู้ผลิตทุเรียนเบอร์ 1ของโลกแตะ 2 ล้านตัน ชี้ตลาดจีนยังสดใสหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว จับตาจีนนำเริ่มนำเข้าจากประเทศอื่น -ปลูกพัฒนาสายพันธุ์เอง

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาสถาบันทุเรียนไทย   เปิดถึงผลวิเคราะห์”อนาคตทุเรียนไทย : ความเสี่ยงหรือโอกาส” ว่า ราคาทุเรียนปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้มีการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากตลาดจีนฟื้นตัว ซึ่งโอกาสของไทยในการส่งออกคือ การส่งออกไปยังมณฑลชั้นในของจีน  การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น การทำตลาดทุเรียนเฉพาะถิ่น และทุเรียนอัตลักษณ์ท้องถิ่น จะได้รับความนิยมมากขึ้น ควรพัฒนาคุณภาพ ตาม GMP และ GAPและหาตลาดส่งออกใหม่ ๆเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และอินเดีย
 

อย่างไรก็ตามทุเรียนไทยก็ยังมีความเสี่ยงจากการที่จีนอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศอื่น ไทยขาดระบบตรวจสอบย้อนกลับ ทุเรียนอ่อนไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการและไม่มีเครื่องมือในการตรวจ ทางการของจีนตรวจเข้มมากขึ้น รวมทั้งจีนมีการปลูกทุเรียน และพัฒนาสายพันธุ์เอง และการที่ประเทศไทยเน้นส่งออกทุเรียนสด ทำให้ขาดแพคเกจจิ้งในการยืดอายุทุเรียนสด มีการสวมสิทธิ์ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน และตลาดถูกควบคุมโดยล้ง
             
161718126828

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี2554-2563) พบว่ามีการขยายพื้นที่การปลูกอย่างมากและให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบว่าพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 30.9% หรือ 186,000 ไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกภาคในประเทศไทย โดยในปี 2563 เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื่องจากปลูกทุเรียนแทนพืชอื่น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
             

ส่วนผลผลิตโดยรวมขยายตัว 117.6% หรือ 1,108,700 ตัน ขณะที่ราคาทุเรียนหมอนทองพบว่าในช่วงปี 2554-2558 ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.6 บาทต่อกก. ปี2559-2563 ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 11.0 บาทต่อกก.ปี 2557 ราคาลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูก และยังพบว่าในปี 2554-2559 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6,000 ตันต่อปี ส่วนปี 2560-2563 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 140,000 ตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่าจากปี2554-2559

ด้านการผลิตในอาเซียนช่วง 10 ปี (2554-2563) อินโดนีเซียครองแชมป์การผลิตทุเรียนมากที่สุดของโลก ตามด้วยไทย มาเลเชีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ทุเรียนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ส่งออกน้อยเพราะมีข้อจำกัดด้านคุณภาพและมาตรฐานการส่งออก ซึ่งคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าไทยแซงหน้าอินโดนีเซีย

“คาดว่า ผลผลิตทุเรียนไทย 5 ปีข้างหน้าเพิ่ม 83% หรือ 2,028,490 ตัน ในปี 2568 บริโภคในประเทศเพิ่ม 101.7% หรือ983,817 ตัน ส่งออกเพิ่มขึ้น 68.3% หรือ 1,044,672 ตัน โดยผลผลิตทุเรียนไทยจะมากเป็นอันดับ 1 หรือ 39.2% อินโดนีเซียเป็นอันดับ 2 หรือ 30.6% ของอาเซียน”

ส่วนราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน ราคาเฉลี่ยทั้งประเทศในปี 2564 คาดว่าอยู่ที่กิโลกรัม(กก.)ละ 126 บาท ส่วนราคาปลายทางประเทศจีน หากจีนนำเข้าทุเรียนเพิ่มมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ที่ตลาดเจียงหนานคาดว่าจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 379 บาท           

 นายอัทธ์ กล่าวว่า สำหรับราคาทุเรียนไทย 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน (เฉลี่ยทั้งประเทศ) ในปี 2568 ประมาณ 144บาทต่อกก. ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน เฉลี่ยในปี 2564-2568 ประมาณ 126 บาทต่อกก.หากจีนนำเข้าทุเรียนไทยน้อยกว่า 10% ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2568 ประมาณ 177 บาทต่อกก. ซึ่งเฉลี่ยราคาในปี 2564-2568 ประมาณ 174 บาทต่อกก.หากจีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่ม 10-15% ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2568 ประมาณ 279 บาทต่อกก. เฉลี่ยราคาในปี 2564-2568 ประมาณ 243 บาทต่อกก.หากจีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่มมากกว่า 15% ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2568 ประมาณ 379 บาทต่อกก. เฉลี่ยราคาในปี 2564-2568 ประมาณ 290 บาทต่อกก.

ส่วนทุเรียนโลก 10 ปี (ปี 2554-2563) โลกส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 48.3% จาก 521,028 ตัน ในปี 2554 เป็น 772,860 ตัน ในปี 2563 และ 5 ปี ข้างหน้า โลกส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 134.5% เป็น 1,812,201 ตัน ไทยครองแชมป์อันดับ 1 มาโดยตลอด ซึ่งส่งออก 1,044,672 ตัน(57.65%) ในปี 2568 ตามด้วยเวียดนาม 165,465 ตัน (9.13%) และมาเลเซีย 76,379 ตัน(4.21%) โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ของโลก ซึ่งนำเข้าเพิ่มขึ้น 95.1% จากปี 2563 เป็น 938,882 ตัน รองมาเป็นฮ่องกง นำเข้าเพิ่มขึ้น 61.4% เป็น 374,245 ตัน ขณะที่ประเทศผู้นำเข้ารายใหม่ที่น่าจับตามอง คือ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แม้ว่าปริมาณนำเข้าจะยังไม่มากนัก แต่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 53.3% และ 35.7% ตามลำดับ