เงินเฟ้อมี.ค.ติดลบต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

เงินเฟ้อมี.ค.ติดลบต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

เงินเฟ้อมี.ค.64 ติดลบ 0.08%เทียบมี.ค.63 ลดลงต่ำสุดรอบ 13 เดือน ยันเป็นสัญญาณดี สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจประเทศที่เริ่มดีขึ้น ตามสถานการณ์โควิด-19 คาดเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกในเดือนหน้า ทั้งปีโตตามกรอบ 0.7-1.7%ค่ากลางอยู่ที่ 1.2%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.ติดลบ 0.08 % ถือว่าติดลบน้อยลงที่สุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.2563 แต่เพิ่มขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2564 ส่วนเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) ลดลง 0.53% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.42 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2563 และเพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2564 และเฉลี่ย 3 เดือนเพิ่มขึ้น 0.12%

ทั้งนี้เงินเฟ้อที่ติดลบน้อยลงเป็นผลมาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน โดยสูงขึ้น 1.35% ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก โดยราคาขายปลีกในประเทศ ปรับขึ้น 5 ครั้ง และปรับลง 5 ครั้ง แต่ราคาที่ปรับขึ้นมากกว่าราคาที่ลดลงรวมทั้ง น้ำมันพืช และเนื้อสุกร ที่ยังมีราคาสูง โดยเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่กลุ่มอาหารสด ยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยลดลง 1.06 %ตามการลดลงของ ข้าวสาร ไก่สด ไข่ไก่ และผักสด รวมทั้ง ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ปรับลดลงตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.

นายวิชานัน กล่าวว่า เงินเฟ้อที่หดตัวน้อยลงในเดือนนี้ นับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยด้านอุปสงค์ สะท้อนได้จากรายได้เกษตรกร ที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตร รวมทั้ง ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้น และยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

ขณะที่ด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งสัญญาณเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลต่อสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการในระยะต่อไป

ส่วนภาพรวมเงินเฟ้อปี 64 ยังอยู่ในกรอบที่สนค.คาดการณ์ไว้ที่ขยายตัว 0.7-1.7%โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2%แม้ได้ปรับสมมติฐานต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.5-3.5%จากเดิมในเดือนธ.ค.63 คาดโต 3.5-4.5%ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 55-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมคาด 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ค่าเงินบาททั้งปีอยู่ที่ 29.0-31.0 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมคาด 30.0-32.0 บาทต่อดอลาร์

เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆคาดว่า เดือน เม.ย.นี้จะกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรก และไตรมาส 2 เงินเฟ้อจะเป็นบวกมากเนื่องจากฐานปีก่อนต่ำ โดยได้รับอิทธิพลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงมีน้ำหนักมากในการคำนวณเงินเฟ้อ ส่วนราคาอาหารสด จะปรับขึ้น ลง ตามฤดูกาล รวมถึงปริมาณผลผลิต และความต้องการบริโภค ซึ่งความต้องการในประเทศเริ่มกลับมาแล้ว จากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ และคาดว่า รัฐจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ ที่อาจเพิ่มขึ้นได้ แต่น่าจะยังอยู่ในกรอบ 0.7-1.7%”

สำหรับรายละเอียดของเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ที่ลดลง 0.08 % มาจากการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 0.26% โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 6.59% กลุ่มไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นม ลด 0.90 % กลุ่มผักสดลดลง 0.31 % เช่น ผักกาดขาว มะเขือ ผักบุ้ง และกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ลด0.27 % หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.30% เช่น เสื้อยืดสตรีเสื้อยืดบุรุษ หมวดเคหสถาน ลดลง 4.87% เช่นค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลง 0.04 % เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ถูตัว แชมพู)และหมวดการบันเทิงการอ่านและการศึกษา ปรับลดลง 0.01% เช่น ค่าห้องพักโรงแรม เครื่องถวายพระ

ขณะที่กลุ่มผลไม้สด สูงขึ้น 0.01% เช่น กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง องุ่น กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 3.66% เช่น น้ำมันพืช ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรส กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้น 0.34% เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว อาหารบริโภคนอกบ้าน สูงขึ้น 0.61% เช่น ข้าวราดแกง อาหารเช้า ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.04% ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 5.43% เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.01% เช่น เบียร์

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือนมี.ค.ที่ติดลบน้อยลงสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน เพราะกำลังซื้อในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการสินค้าที่จำเป็นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างช้าๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบ 3 ในหลายประเทศ ทั้งนี้ซึ่งคงต้องดูสถานการณ์อีกครั้งหลังเทศกาลสงกรานต์