เอดีบีคาดจีดีพีไทยปีนี้โต 3%

เอดีบีคาดจีดีพีไทยปีนี้โต 3%

เอดีบีคาด เศรษฐกิจไทยรับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 ระบาด แต่ปีนี้จีดีพีกระเตื้องมาอยู่ที่ 3% ปีหน้าโต 4.5%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2564 (Asian Development Outlook 2021) วานนี้ (28 เม.ย.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยเศรษฐกิจหดตัว 6.1% ในปี 2563

อย่างไรก็ตาม เอดีบีคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของไทยจะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 3% ในปี 2564 และขยายตัวถึง 4.5% ในปี 2565 เนื่องจากการกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก และการเพิ่มขึ้นของการค้าและการท่องเที่ยว ส่วนการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.6% ในปีนี้ และ 12.5% ในปีหน้า

ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นที่ 2.1% ในปี 2564 และ 3% ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นที่ 1.1% และ 1.0% ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าของรัฐบาล แนวโน้มการระบาดระรอกใหม่ในประเทศ และมาตรการเยียวยาที่อาจได้ผลน้อยกว่าที่คาด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุน

ในภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศเอเชียกำลังพัฒนาจะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นที่ 7.3% ในปีนี้ และคาดว่าภูมิภาคจะเติบโตปานกลางที่ 5.3% ในปี 2565 เนื่องจากการฟื้นฟูสุขภาพทั่วโลก และความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเป็นการฟื้นตัวจากการเติบโตติดลบที่ 0.2% ในปีที่แล้ว

หากไม่รวมฮ่องกง จีน เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน เศรษฐกิจของประเทศเอเชียกำลังพัฒนาคาดว่าจะเติบโตที่ 7.7% ในปี 2564 และ 5.6% ในปี 2565

“การเติบโตกลับมาเคลื่อนไหวในประเทศเอเชียกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวเช่นกัน” นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอดีบี กล่าว “แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ การกระจายการฉีดวัคซีน และประโยชน์ที่ได้รับจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว”

การส่งออกที่กระเตื้องขึ้นได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเอเชียกำลังพัฒนาบางประเทศท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่กลับมาเข้มแข็งและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิต แม้ความก้าวหน้าของการผลิตและการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด -19 เป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว แต่การแพร่ระบาดที่ยังคงอยู่เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสำหรับภูมิภาค โดยแนวโน้มการกระจายวัคซีนที่ล่าช้าและการระบาดระลอกใหม่จะทำให้การเติบโตลดต่ำลง

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การผลิตที่ชะงักงัน ความปั่นป่วนทางการเงินจากสภาวะการเงินที่ตึงตัว และผลระยะยาวจากการปิดโรงเรียน เป็นต้น

เศรษฐกิจของประเทศเอเชียกำลังพัฒนาโดยรวมจะเห็นสัญญาณการเติบโตที่ดีในปีนี้และปีหน้า โดยเศรษฐกิจในเอเชียกลางจะเติบโตโดยเฉลี่ยที่ 3.4% ในปี 2564 และ 4.0% ในปี 2565

เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พึ่งพาการค้าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าจะเติบโต 4.4% ในปีนี้ และ 5.1% ในปีหน้า หลังจากหดตัวที่ 4.0% ในปี 2563 ส่วนเศรษฐกิจในแปซิฟิกยังคงได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดในการเดินทางทั่วโลกและการล่มสลายของการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้การเติบโตเป็นไปในระดับปานกลางที่ 1.4% ในปีนี้ ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% ในปีหน้า

การส่งออกที่เข้มแข็งและการฟื้นตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ โดยคาดว่าจีดีพี ของจีนจะขยายตัวที่ 8.1% ในปี 2564 และ 5.5% ในปี 2565 ส่วนเอเชียตะวันออกคาดว่าจะขยายตัวที่ 7.4% ในปี 2564 และ 5.1% ในปี 2565

ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจอินเดียคาดว่าจะเติบโตที่ 11% ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะสิ้นสุด ณ เดือนมี.ค. 2565 ท่ามกลางการขับเคลื่อนด้านวัคซีนอย่างแข็งขัน อย่างไรก็ตาม การกลับมาของโควิด-19 เมื่อเร็วๆ นี้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของอินเดีย โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตอยู่ที่ 7% ในปีงบประมาณ 2565 สำหรับเอเชียใต้โดยรวม คาดว่าจะกลับมาเติบโตอยู่ที่ 9.5% ในปีนี้ และ 6.6% ในปีหน้า หลังจากเติบโตติดลบที่ 6% ในปี 2563

อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคคาดว่าจะลดต่ำลงจาก 2.8% ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.3% ในปีนี้ อันเนื่องจากแรงกดดันด้านราคาอาหารในจีนและอินเดียผ่อนคลายคง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% ในปี 2565

รายงานฉบับนี้ยังได้สำรวจความเสียหายที่เกิดจากการปิดโรงเรียนทั่วทั้งภูมิภาคเนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ ถึงแม้ว่าหลายประเทศได้ใช้การเรียนการสอนทางไกล แต่ยังมีนักเรียนอีกมากมายที่ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งการหยุดชะงักดังกล่าวจะส่งผลต่อความชำนาญและฝีมือของนักเรียนรวมทั้งการผลิตและการหารายได้ของแรงงานในอนาคต โดยความสูญเสียจากการเรียนการสอนที่ชะงักงันจะอยู่ในระหว่าง 8% ต่อปี สำหรับการเรียนในแปซิฟิกที่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังเปิดเรียนอยู่ จนถึงร้อยละ 55 ในเอเชียใต้ที่โรงเรียนปิดเป็นระยะเวลานาน

ส่วนการลดลงของรายได้ในอนาคตของนักเรียนในประเทศเอเชียกำลังพัฒนาคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 1.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เทียบเท่ากับ 5.4% ของจีดีพีภูมิภาคในปี 2563

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย