ธปท.ชี้ ‘โควิด’ระลอก3 กระทบศก.แรง จ่อปรับจีดีพีรอบใหม่

ธปท.ชี้ ‘โควิด’ระลอก3 กระทบศก.แรง จ่อปรับจีดีพีรอบใหม่

ธปท.ชี้โควิดระลอกใหม่กระทบเศรษฐกิจแรง คาดการณ์3กรณี หากวัคซีนฉีดครบ100ล้านโดสปีนี้ จีดีพีไทยขยายตัวราว2% ขณะที่กรณีร้ายแรงสุด หากการจัดหากระจายวัคซีนไม่ครบ64.6ล้านโดสปีนี้ คาดกระทบเศรษฐกิจสองปีนี้ 8.9แสนล้าน จีดีพีหดเหลือ 1% ปีนี้

       ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19 ระลอก3 ครั้งนี้ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างมากขึ้น จากความอ่อนแอทางการเงิน แรงงาน และเศรษฐกิจที่มีเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องมาจากโควิด-19ระลอกแรก ส่งผลให้หลายสำนักงานเศรษฐกิจ ภาคธนาคารออกมาปรับประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีกันถ้วนหน้าเป็นรอบที่ 2-3 ของปีนี้

      เช่นเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่มีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจมาแล้วหนึ่งครั้ง ในช่วงต้นปี จากเดิม 3.2% มาเป็น 3% แม้จะยังไม่มีการระบาดจากโควิดระลอก3 เกิดขึ้น

     ดังนั้นจากผลกระทบโควิดระลอก 3ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจครั้งนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อคาดการณ์จีดีพีของธปท.ให้ต้องปรับลดอีกรอบแน่นอน

     “ทิตินันทิ์ มัลลิกะมาส” เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า แม้รอบนี้จะยังไม่ใช่รอบปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทย โดยรอบปรับจริงจะมีขึ้นในเดือนมิ.ย. ข้างหน้านี้ ซึ่งธปท.ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก จากโควิดระลอก 3ครั้งนี้ และผลกระทบมีมากกว่าโควิด-19รอบสอง

      ดังนั้นจากผลกระทบโควิด-19 ระลอก3 ครั้งนี้ ธปท.จึงได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจไว้ในหลาย scenario หรือหลายกรณี

      กรณีแรก หากการจัดหาและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถกระจายสู่ประชาชนได้ 100 ล้านโดสภายในปี 2564 นี้ ทำให้เกิด Herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นได้ในช่วง ไตรมาสแรกของปีหน้า คาดว่าจีดีพีของไทย ปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งต่างกับประมาณการณ์เดิมของธปท.เดิม ที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวปีนี้ที่ 3%

     ซึ่งภายใต้ประมาณการณ์จีดีพีที่ 2% คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยได้ที่ 1.2 ล้านคนปีนี้ และจะเห็นผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 2.7 ล้านคน

      โดยภายใต้คาดการณ์ดังกล่าว คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกระทบจากโควิดระลอก 3 ในไตรมาส 2 แต่หลังจากนั้นหากจัดหาวัคซีนได้เร็ว จะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวในระดับที่ดีหลังจากนั้น

162022865798      กรณีที่ 2 หากการจัดหาและกระจายวัคซีนล่าช้า คือฉีดได้ 64.6 ล้านคนโดสภายในปีนี้ ทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาส 3 ปีหน้า ซึ่งล่าช้ากว่ากรณีแรก กรณีนี้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ -3% ของจีดีพี หรือกระทบต่อเศรษฐกิจที่ 4.6 แสนล้านบาท ในช่วง2ปี คือปี 2564 และปี 2565

.      ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้ให้ต่ำลงเหลือ 1.5% และปีหน้าที่ 2.8% ภายใต้การคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีนี้ที่ 1 ล้านคนและปีหน้า 12 ล้านคน และผู้ว่างงาน ณ สิ้นปีหน้าจะอยู่ที่ 2.8 ล้านคน

      กรณีที่ 3 เป็นกรณีที่เลวร้ายสุด หากการจัดหาและกระจายวัคซีนช้ากว่าแผนเดิม น้อยกว่า 64.6 ล้านโดสปีนี้ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้ากว่าเดิมเป็น ไตรมาส 4 ปีหน้า คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมีอยู่ที่ราว -5.7% หรือ 8.9 แสนล้านบาท ในช่วง2ปีนี้ ทำให้คาดการณ์จีดีพีปีนี้ต่ำลงเหลือเพียง 1% และปีหน้า 1.1% และจำนวนนักท่องต่างชาติเหลือ 0.8 ล้านคนในปีนี้และปีหน้า ภายใต้ผู้ว่างงาน และเสมือนว่างงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.9 ล้านคน

     แต่ประมาณการณ์ดังกล่าว ยังไม่รวมมาตรการภาครัฐที่อาจออกมาเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ แม้ธปท.จะคาดการณ์เศรษฐกิจจาก 3 กรณีในเบื้องต้น จากผลกระทบโควิดระลอก 3 แต่ครั้งนี้ยังไม่ถึงรอบปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจ ดังนั้นต้องรอการปรับประมาณการณ์อีกครั้งในการประชุมกนง.ครั้งที่ 4 ต่อไป

    ดังนั้นรอบนี้จะเห็นได้ว่า ปัจจัยระยะสั้น ที่กนง.ให้น้ำหนัก คือ เรื่องการระบาดของโควิด ระลอก 3 และ “วัคซีน”ก็ถือเป็นพระเอก ของนโยบายด้านเศรษฐกิจขณะนี้ ส่วนมาตรการด้านการเงินอื่นๆจะตามมาสนับสนุนในช่วงที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน

    อย่างไรก็ตาม มองว่า ผลของการฉีด “วัคซีน” มีหลายประเด็น คือสามารถลดโอกาสเกิดโควิดระลอกใหม่ และลดภาระการคลัง จากการเยียวยาในระยะถัดไปให้ลดลงได้ ขณะเดียวกัน สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เร็วขึ้น ในปลายปีตามแผน ซึ่งจะหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่องไปถึงปีหน้าด้วย

     “หากวัคซีน มาได้เร็ว จะช่วยภาคเศรษฐกิจ ช่วยเอสเอ็มอี ภาคท่องเที่ยว แรงงานที่ได้รับผลกระทบให้ฟื้นตัวได้เร็ว หากมีภูมิคุ้มกัน การบริหารจัดการเศรษฐกิจก็จะเปลี่ยน จากการเปลี่ยนไปดูแลระยะสั้นแล้วหันมาดูแลช่วงฟื้นฟูแทน ดังนั้นวัคซีนถือเป็นพระเอกในเวลานี้”

     ดังนั้นความเสี่ยงในระยะข้างหน้าที่ต้องติดตาม คือสถานการณ์การระบาดว่ารุนแรงยืดเยื้อหรือไม่ รวมถีงมาตรการภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม และการจัดหาวัคซีน ที่อาจส่งผลต่อ Sentiment การใช้จ่ายในประเทศและการเปิดรับนักท่องเที่ยวระยะถัดไปได้

     อีกปัจจัยที่กนง.ให้ติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ภาวะตลาดแรงงาน ที่พบว่าแรงงานบางกลุ่มเริ่มเปราะบางมากขึ้น โดยหากดูจำนวนผู้ว่างงานไตรมาสแรก พบว่า ผู้ว่างงานระยะกลาง คือว่างงาน 1เดือน ถึง1ปี อยู่ที่ 3.7 แสนคน ลดลงบ้าง

      แต่หากดูผู้ว่างงานระยะยาวพบว่าปรับตัวสูงขึ้น จากการหางานทำไม่ได้นาน มีราว 0.6 แสนคน ซึ่งตรงนี้เป็นสัญญาณไม่ดี ขณะที่ผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน เช่นเด็กจบใหม่ มีราว 2.6 แสนคน กลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นความเปราะบางของแรงงานถือเป็นเด็นที่สำคัญและต้องติดตามใกล้ชิด หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิด “แผลเป็น”ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น

     สำหรับผลประชุมกนง. กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% และกนง.มองว่าโจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญสุด คือการจัดหาและกระจายวัคซีนให้เพียงพอทันเหตุการณ์

     ในส่วนมาตรการด้านการเงินคือการกระจายสภาพคล่องไปยังครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุดมากขึ้น กนง.จึงเห็นควรให้คงดอกเบี้ยไว้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มี “จำกัด”เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมต่อไป