เปิดข้อเสนอ 'คลัง' กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านสู้ 'โควิด'

เปิดข้อเสนอ 'คลัง' กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านสู้ 'โควิด'

ครม.อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท รับมือโควิดระลอกใหม่ ดูแล 3 ด้าน “สาธารณสุข-เยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม” ใช้เยียวยาสูงสุด 4 แสนล้านบาท “คลัง” ชี้แหล่งเงินมีข้อจำกัดจำเป็นต้องกู้เพิ่ม

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 18 พ.ค.2564 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้รัฐบาลออกร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 พ.ศ. ... (พ.ร.ก.กู้เงิน) วงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท 

กระทรวงการคลังรายงานให้ ครม.รับทราบว่าเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องในขณะที่ประเทศยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

รวมทั้งมีข้อจำกัดของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพื่อการเยียวยา ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และมีข้อจำกัดของ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับกรอบเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไม่เพียงพอ 

ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงแหล่งเงินอื่นๆที่จะสามารถจำมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 แล้วพบว่ามีข้อจำกัดทั้งในส่วนของวงเงินกู้เดิมที่เริ่มมีการเบิกจ่ายจำนวนมากในทุกแผนงาน ทั้งในส่วนของสาธารณสุขที่ต้องมีการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และวัคซีนเพิ่มเติม

ขณะที่ในงบกลางฯที่มีการตั้งไว้ในปี 2564 วงเงิน 9.9 หมื่นล้านบาทยังมีความจำเป็นต้องสำรองไว้ใช้กรณีที่อาจเกิดผลกระทบหรือภัยพิบัติอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นเช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และภัยพิบัติอื่นๆ 

ส่วนการโอนงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 นั้นหน่วยงานส่วนใหญ่ได้มีการผูกพันงบประมาณไปจำนวนมากแล้วการโอนงบประมาณกลับมาใช้เรื่องโควิดจึงทำไม่ได้มากนัก ขณะที่ในกรอบงบประมาณ 2565 ก็จะอนุมัติบังคับใช้ได้ในเดือน ต.ค.ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์

162134666920

รัฐบาลจึงมีความจำเป็น้องมีกรอบวงเงินกู้เพื่อใช้เป็นเครื่องมิือในการใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 และเพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลัง ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะและเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันหลีกเลี่ยงมิได้ 

กระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 พ.ศ... 2019 เพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับเดิมโดยพ.ร.ก.เงินกู้ฉบับใหม่มีวงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 และบริหารสภาพคล่องทางการคลัง 

โดย พ.ร.ก.เงินกู้ที่จะออกมาใหม่จะกำหนดบัญชีแนบท้ายเหมือนกับ พ.ร.ก.ฉบับก่อน โดยมี 3 แผนงาน คือ  

1.แผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 โดยเป็นแผนงานในด้านสาธารณะสุข 3 หมื่นล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย

2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่รับผิด คือ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่ ครม.มอบหมาย

3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงการคลัง  และหน่วยงานที่ ครม.มอบหมาย 

นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ฉบับใหม่กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน และกรรมการ ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ  ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 ท่าน

กระทรวงการคลังรายงานว่าสถานะหนี้สาธารณะเดือน มี.ค.2564 อยู่ที่ 8.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54.28 % ของจีดีพี เมื่อมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ฉบับใหม่อีก 7 แสนล้านบาท คาดว่าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มเป็น 9.3 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 58.56% ของจีดีพีซึ่งยังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่เพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ไม่เกิน 60% 

ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปเมื่อ ครม.เห็นชอบในการออก พ.ร.ก.เงินกู้ฯฉบับใหม่ และร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ฯที่กระทรวงการคลังเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.ก.นี้โดยเร่งด่วนตามขั้นตอนการออก พ.ร.ก.ต่อไป