คลังยันกู้เงิน5แสนล้านหนี้ไม่พุ่งเกิน60%

คลังยันกู้เงิน5แสนล้านหนี้ไม่พุ่งเกิน60%

คลังยันการกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท จะไม่ทำให้หนี้ต่อจีดีพีเกินกรอบ 60% โดยปีนี้อยู่ที่ 58.56% ขณะที่ การใช้จ่ายจากวงเงินดังกล่าวจะช่วยให้จีดีพีปี 64-65 เพิ่มขึ้น 1.5%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า การกู้เงินดังกล่าวจะสนับสนุนให้จีดีพีในปี 2564-2565 เพิ่มขึ้นอีกราว 1.5%จากที่รัฐบาลคาดการณ์ว่า ในปี 2564 จีดีพีจะขยายตัว 1.5-2.5% และ การทยอยกู้เงินดังกล่าว จะทำให้หนี้ต่อจีดีพีในปีงบประมาณนี้อยู่ที่ระดับ 58.56%

ทั้งนี้ การออกพ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวนั้น เป็นเงินกู้เพื่อดูแลสถารณ์โควิด-19 ฉบับที่สอง เป็นกฎหมายเฉพาะตามมาตรา 53 ในพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 ที่กำหนดว่า การออกกฎหมายที่นอกเหนือจากพ.ร.บ.หนี้สาธารณะให้ออกกฎหมายเฉพาะมีเงื่อนไขว่า เป็นเรื่องของกฎหมายเฉพาะ เป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน เป็นความต่อเนื่อง แก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ และไม่สามารถตั้งงบประมาณประจำปีได้ทัน

พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นการกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกรอบไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายใน 30 ก.ย.2565

การกู้เงินภายใต้พ.ร.ก.ดังกล่าว จะนำไปใช้จ่ายวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีแนบท้าย ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ 1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19 กรอบวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และสาธารณสุข

2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 3 แสนล้านบาท 3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ กรณีจำเป็นคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติปรับกรอบภายในกรอบ 3 วัตถุประสงค์ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“เรียนว่า 3 แผนงานดังกล่าว จะเข้าไปเสริมแผนงานพ.ร.ก.ฉบับที่ 1 จะมีความเน้นย้ำบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง คือ เอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งส่วนที่ผู้ประกอบอาชีพหรือธุรกิจรายเล็กรายน้อยได้รับความช่วยเหลือปีที่แล้วจากโครงการต่างๆของกระทรวงการคลังไม่ว่าจะเป็นคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่เป็นนิติบุคคลนั้น ก็ได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆเหล่านี้”

เขากล่าวว่า ตั้งแต่ม.ค.64 เป็นต้นมา สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้น โดยแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและติดเชื้อวงกว้างทั่วประเทศ ทำให้มีผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งสภาพัฒน์คาดการณ์การขยายตัวจีดีพีปีนี้ที่ 1.5-2.5% เป็นตัวเลขที่คาดการณ์ลดลงมาซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19ระลอกใหม่ ฉะนั้น การแพร่กระจายที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลจำเป็นเร่งด่วนต้องเตรียมงบเพิ่มเติมเสริมพ.ร.ก.ฉบับที่หนึ่ง รองรับผลกระทบจากระบาดรอบใหม่ แต่แหล่งเงินจากงบประมาณมีจำกัด อันเนื่องจากเกิดการระบาดระลอกสองและสาม ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ไม่ได้

กรณีนี้เพื่อประโยชน์รักษาความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงเศรษฐกิจประเทศ และเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน อันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงได้ตราพ.ร.ก. เพื่อให้รัฐบาลมีงบเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่องในการดูแล เพื่อให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วและเติบโตยั่งยืนภายหลังการระบาดโควิด-19ยุติลง

ทั้งนี้ กรอบวงเงินดังกล่าว เป็นกรอบที่เหมาะสมที่จะดำเนินมาตรการการคลัง โดยที่คาดว่า การดำเนินโครงการภายใต้พ.ร.ก.ดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564-65 สามารถขยายตัวได้เพิ่ม 1.5% จากกรณีฐาน

“ต่างจากปีที่แล้ว ที่คาดการณ์ติดลบ 8 เมื่อมีมาตรการต่างๆ ก็ช่วยให้ติดลบน้อยลงเหลือลบ 6 ฉะนั้น ในทางบวกก็เหมือนกัน การที่เราคำนวณค่ากรณีฐาน ถ้ามีมาตรการเสริมเข้ามาและมีมาตรการการคลัง จะทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการเศรษฐกิจได้เหมาะสมและเพียงพอ จะทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เรียนว่า การกู้เงินครั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ได้ดำเนินการเรื่องกู้เงินอย่างระมัดระวัง ดูทั้งตลาดเงินและตราสารหนี้และช่วงเวลาเหมาะสมให้เกิดประโยชน์ประเทศมากสุด

ขณะเดียวกัน มีคำถามว่า หนี้สาธารณะเพิ่มหรือไม่ เรียนว่า จากประมาณซึ่งเราจะไม่ได้เบิกเงินครั้งเดียว แต่จะทยอยเบิกตามความต้องการใช้เงิน หากในวงเงินนี้ จะทำให้ประมาณก.ย.ปี 64 หนี้ต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 58.56% อยู่ในกรอบเพดานหนี้ที่กำหนดไม่เกิน 60% อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโตได้ สัดส่วนจะดีขึ้น ดังนั้น ในภารกิจรัฐบาลคือทำใหเศรษฐกิจกลับมาเดินต่อได้ปกติเร็วที่สุด