กนศ.ถกซีพีทีพีพี ก่อนส่งครม.เคาะท่าทีไทย

กนศ.ถกซีพีทีพีพี  ก่อนส่งครม.เคาะท่าทีไทย

เมื่อเร็วๆนี้ในการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เรื่อง CPTPP กับสื่อมวลชน (CPTPP Media Focus Group) ครั้งที่1 จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ

เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทยไม่ควรละทิ้งโอกาสที่จะเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงวามตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เพราะ กระบวนการเข้าร่วมเป็นภาคีข้อตกลงนี้ มีขั้นตอนดำเนินการหลายส่วน เริ่มตั้งแต่หากไทยสนใจเข้าร่วมซีพีทีพีพีต้องยื่นหนังสือขอเริ่มการเจรจาก่อน ซึ่งปีนี้ญี่ปุ่นเป็นประธานสมาชิกฯ และเมื่อเร็วๆนี้ได้พิจารณาคำขอเข้าเป็นสมาชิกของสหราชอาณาจักรไปแล้ว  ซึ่งเดิมที่มีความเข้าใจว่าสามารถยื่นความจำนงได้ในช่วงการประชุมคณะกรรมาธิการซีพีทีพีพี ในช่วงส.ค.ของทุกปีเท่านั้น ตอนนี้ถ้าพร้อมก็ยื่นใบสมัครได้เลย               อย่างไรก็ตาม หลังการยื่นใบสมัครกรรมาธิการฯจะพิจารณาคำขอหากเห็นชอบก็จะจัดตั้งคณะทำงานเจรจาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกฯ  เมื่อเจรจาแล้วเสร็จก็จะเสนอกลับมาที่กรรมาธิการซีพีทีพีพีเพื่อแจ้งผลการพิจารณาหากยินยอมรับเป็นสมาชิกประเทศผู้ขอก็จะดำเนินการตามกระบวนการภายในประเทศต่อไป 

ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นต้นที่ยังไม่ได้ยื่นใบสมัคร ซึ่งความเห็นของกรมเศรษฐกิจฯเราไม่ควรทิ้งโอกาสเพราะหน้าที่ของรัฐบาลต้องแสวงหา ค้นหาโอกาสของประเทศไทยในทุกๆโอกาส เพราะเรายังมีเวลาและขั้นตอนอีกหลายส่วนให้จะตัดสินใจได้อีกว่าจะรับข้อตกลงนี้หรือไม่”

สำหรับท่าทีสหรัฐต่อการกลับเข้าสู่ซีพีทีพีพีหลังเปลี่ยนผู้นำนั้น เบื้องต้นประเมินว่า สหรัฐไม่น่าจะขยับในเรื่องนี้อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ เพราะสหรัฐมีท่าทีให้ความสำคัญต่อการปกป้องตลาดภายในมากกว่า แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือขณะนี้สหราชอาณาจักรเข้าสู่การเจรจาแล้วหากบรรลุข้อตกลงได้ เงื่อนไขและมาตรฐานของซีพีทีพีพีจะเพิ่มขึ้นไปอีก

“ถ้าจะอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก(GVC) ก็ต้องทำตามกติกาของโลก ซึ่งไทยอยู่ในRegional value chainsและหลังโควิดเงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรีจากนี้อาจมีกติกาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการแรงงาน สิ่งแวดล้อม ซึ่งซีพีทีพีพีได้กำหนดมาตรฐานต่างๆไว้แล้ว”

162428155928

รัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ปฏิบัติราชการประจำที่ส่วนกลาง)  กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าสหรัฐจะเข้าร่วมซีพีทีพีพีเพราะให้ความสำคัญต่อดับเบิลยูทีโอ และต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

“ข้อตกลงการค้าจากนี้ จะมีเงื่อนไขต่างๆมากขึ้น แต่ถ้าทำในรูปแบบข้อตกลงการค้าเงื่อนไขต่างๆที่จะเกิดขึ้นจะสามารถเจรจาต่อรองได้ไม่ใช่การกำหนดเงื่อนไขฝ่ายเดียว”

ธิดากุญ แสนอุดม เลขานุการกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ซีพีทีพีพีกำหนดให้สมาชิกต้องเป็นภาคีอนุสัญญาUPOV 1991 ซึ่งว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่โดยให้สิทธิเด็ดขาดแก่นักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญาทางด้านพืช ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของประเทศไทย 

 โดยประเด็นที่แตกต่างจากกฎหมายไทย เช่นอายุการคุ้มครอง อย่างเมล็ดพันธุ์ กฎหมายไทยจะคุ้มครอง 12ปี ขณะที่UPOV คุ้มครอง 20 ปี ด้านสิทธิการเก็บพันธุ์ ของไทยกำหนดเก็บไว้ปลูกในCropต่อไปได้ แต่ UPOV มีเงื่อนไขที่ต่างออกไป ซึ่งอาจกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยที่หากต้องการพันธุ์พืชที่ด่ีต้องมีต้นทุนเพิ่ม เพื่อลดข้อกังวลเรื่องนี้สามารถส่งเสริมหน่วยงานรัฐให้ปรับปรุงพันธุ์ที่ดีเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้

“UPOV ต้องการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อตอบโจทย์การเกษตรในอนาคตซึ่งพื้นที่การเกษตรลดลง ประชากรเพิ่มขึ้น โดยไทยเป็นหนึ่งใน 5 ของอาเซียนที่มีขีดความสมารถของนักปรับปรุงพันธุ์พืชและทำรายได้จากการส่งออก ”

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าวันนี้ (22 มิ.ย.) เครื่อข่ายภายประชาชนนำโดยgreenpeace Thailand และ เครือข่ายรณรงค์‘#NoCPTPP’ จะยื่นรายชื่อกว่า 2 แสนรายชื่อของผู้คัดค้านการเข้าร่วมและเจรจราซีพีทีพีพี 

นลินทิพย์ หอมวิเศษวงศา ผู้อำนวยการกองนโยบายระบบการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กล่าวว่า ในวันนี้ (22 มิ.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 4 /2564 เพื่อพิจารณาผลการทำงาน

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ศึกษาเงื่อนไข ข้อจำกัดและการปรับตัวจากข้อตกลงนี้ หากที่ประชุมมีมติในทางใดก็จะเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งเป็นกำหนดกรอบเวลาดำเนินการตามที่ครม.มอบหมาย ก่อนนำเสนอที่ประชุมครม.ต่อไป