'เฟทโก้'แนะรัฐเร่งผุด 3 มาตรการ'เยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจ'

'เฟทโก้'แนะรัฐเร่งผุด 3 มาตรการ'เยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจ'

“เฟทโก้” เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 64.37 จุด ลดต่ำสุดในรอบ 9 เดือน  เข้าสู่ภาวะ “ซบเซา” หลังผลกระทบโควิดระบาดรุนแรงขึ้น ชง 3 มาตรการเร่งด่วน อัดเม็ดเงินมากขึ้นและรวดเร็วหวังกระตุ้นกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยว่า   ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนก.ค. 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า  (เดือนต.ค.) อยู่ที่ระดับ 64.37 ปรับตัวลดลง 39.3% จากเกณฑ์ทรงตัวเดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดครั้งแรกในรอบ 9 เดือน

ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกปัจจุบันที่รุนแรงขึ้นและการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยเฉพาะสถานการณ์ในประเทศจีนที่รัฐบาลออกมาตรการหลายๆอย่างที่กระทบต่อตลาดทุนและความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนนักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายภาครัฐ

ขณะที่นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด รองลงมาคือหมวดการแพทย์ และหมวดธนาคาร ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดแฟชั่นไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์

162803857948

       

นายไพบูลย์ กล่าวว่า  มาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดนั้น ทางด้านตลาดทุน อยากให้ภาครัฐขยายเวลาล็อกดาวน์แค่เพียง 14 วัน หรือถึงวันที่ 18 ส.ค.นี้เท่านั้น เพราะหากการล็อกดาวน์ยืดเยื้อออกไปทั้งเดือนก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนยาวนานมากขึ้น

ดังนั้น ขอเสนอว่า ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ  3   มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือนายจ้าง เพื่อดูแลลูกจ้าง ไม่ให้โดนไล่ออก        2 .เพื่อกำลังซื้อให้ประชาชนมากที่สุด ด้วยการให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นการใช้จ่ายกลับมาโดยเร็ว และ3.การเตรียมมาตรการรองรับล่วงหน้า  ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่กลับมา และหากสถานการณ์โควิดคลายหรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือสร้างกระตุ้นเศรษฐกิจ  

 ขณะเดียวกัน มองว่า ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นและรวดเร็วได้ ควบคู่กับควมคุมการแพร่ระบาดและเร่งการฉีดวัคซีน รวมถึงขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็นเกินระดับ 60% เพื่อเตรียมวงเงินการกู้เงินเพิ่มไว้รอในปีหน้า สำหรับการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ  ซึ่งรัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากกว่านี้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้บอบซ้ำมาก จึงทำให้เม็ดเงินกระตุ้นที่น้อยคงช่วยได้ไม่มากนัก

หลังจากประเมินว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีแนวโน้มชะลอตัว คาดจีดีพีหดตัว -4% ทำให้จีดีพีทั้งปีนี้คาดโตได้ 0.6% เท่านั้น ถือว่ายังต่ำกว่า และน่าจะใช้เวลาอีก 2 ปีกว่า เศรษฐกิจไทยกลับมาเข้มแข็งขึ้น ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้โรงงานต่างๆเริ่มมีพนักงานที่ติดเชื้อเพิ่มจำนวนสูงขึ้น 

      " จากผลการสำรวจรอบนี้ของเรา ถือว่า ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ตอนนี้ โควิดสายพันธุ์เดลต้ากลับมาระบาด ขยายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนส.ค.และเพิ่มจังหวัดคุมเข้ม อีกทั้งเปิดประเทศปีนี้คงเป็นไปไม่ได้ ส่งออกครึ่งปีหลังมีโอกาสแผ่วลง ด้วยตอนนี้วิกฤติมากแล้ว มีความจำเป็นแล้วที่รัฐจะใส่เงินเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ใส่น้อยกว่านี้คงไม่ได้แล้ว"  

ส่วนทางด้านการลงทุน มองว่า หากภาครัฐประกาศมาตรการต่างๆ ในระดับที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลงทุนได้ ควบคุมการแพร่ระบาดได้ไตรมาส 3 ปีนี้ คาดหวังว่า หลังจากนั้นสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย  และกระแสฟันด์โฟลว์ มีโอกาสไหลกลับในไตรมาส4  ปีนี้ และหยุดกระแสเงินลงทุนในไทยออกไปลงทุนต่างประเทศได้อีกทางด้วย 

โดยจะช่วยหนุนดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้ อาจกลับไปที่ระดับ 1,600 จุดได้  แต่คงปรับตัวขึ้นไปที่ระดับเป้าหมาย 1,650จุด ได้คงจะยากหลังนักวิเคราะห์หลายค่ายเริ่มปรับเป้าหมายลงมาที่ระดับ 1,600 จุด และคาดว่าจะมีการปรับลดเป้ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปีนี้ หลังสถานการณ์แพ่ระบาดของโควิด-19 กระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น