เหมืองทองอัครา : คิงส์เกตระบุรัฐบาลอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง ปูทางสู่การเปิดเหมืองชาตรีอีกครั้ง

ทองคำแท่ง

ที่มาของภาพ, Reuters

บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด บริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียเมื่อ 19 ม.ค. ว่า รัฐบาลไทยอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงแล้ว เป็นการเปิดทางให้ทางบริษัทกลับมาเปิดเหมืองแร่ชาตรีที่ยุติการดำเนินงานไปตั้งแต่ปี 2560 ได้อีกครั้ง

การประกาศดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลไทยและคิงส์เกต กำลังเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ จนนำไปสู่การตั้งอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย 25,000 ล้านบาท และกำลังจะมีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 31 มกราคม นี้

คิงส์เกต เผยแพร่ประกาศดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์เมื่อ 19 ม.ค. ว่า "รู้สึกยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ (mining lease) ที่ยอดเยี่ยม 4 แปลงที่จำเป็นในการเปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรีอีกครั้งแล้ว"

โดยในข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า ประทานบัตรทั้ง 4 แปลงดังกล่าวประกอบด้วย ประทานบัตรเหมืองชาตรีใต้ 3 แปลงและเหมืองแร่ควอตซ์ 1 แปลง ซึ่งเฉพาะเหมืองแร่ควอตซ์รอการอนุมัติมาตั้งแต่ปี 2554 และจำเป็นในการใช้งานบ่อเอ (A Pit) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังได้ระบุหมายเลขอ้างอิงของประทานบัตรทั้ง 4 แปลง ดังนี้คือ แปลง (1) 26910/15365 แปลง (2) 26911/15366 แปลง (3) 26912/15367 และแปลง (4) 25528/14714

โดยแต่ละแปลงมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่ 31 ธ.ค. ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ คิงส์เกต ยังระบุด้วยว่า ขั้นตอนต่าง ๆ ในการขอต่อใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรม (Metallurgical Processing Licence--MPL) ได้เสร็จสมบูรณ์และได้รับการอนุมัติแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทอัคราฯ จะไปรับใบรับรองดังกล่าวจากรัฐบาลไทยในอีกไม่นานนี้

ข่าวประชาสัมพันธ์จากเว็บไซต์ของคิงส์เกตฯ

ที่มาของภาพ, Kingsgate Press Release

คำบรรยายภาพ, ข่าวประชาสัมพันธ์จากเว็บไซต์ของคิงส์เกตฯ

คิงส์เกต ระบุว่า การอนุมัติเหล่านี้เป็นการทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรีจะกลับมาเปิดได้อีกครั้งตามที่ทางบริษัทได้ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 ขณะนี้ทางบริษัทกำลังดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นในกลับมาเปิดเหมืองรวมถึง การปรับปรุงโรงงานทั้ง 2 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตต่อปีมากกว่า 5 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีการตั้งสำนักงานจัดหาผู้เชี่ยวชาญขึ้นเพื่อสรรหาเจ้าหน้าที่เทคนิคที่มีความสำคัญในการปฏิบัติงานเหมืองแร่

"คิงส์เกตตระหนักถึงความร่วมมือและมิตรไมตรีของรัฐบาลไทยผ่านการอนุมัติใบอนุญาตที่สำคัญเหล่านี้และการกลับมาเปิดเหมืองแร่ทองชาตรีที่ได้รับการปรับปรุง จะมอบโอกาสในการเติบโตแก่บริษัท, ชุมชนท้องถิ่น, ธุรกิจต่าง ๆ และเศรษฐกิจของไทย" คิงส์เกต ระบุในประกาศ

ทั้งนี้ในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ปีที่แล้วของคิงส์เกต ระบุว่า ทางบริษัทและรัฐบาลไทยได้ร่วมกันร้องขอให้อนุญาโตตุลาการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายขยายเวลาในการหาข้อสรุปการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 25,000 ล้านบาท

ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 เปิดตลาดให้ออสเตรเลียถือหุ้นในธุรกิจเหมืองแร่ได้ถึง 60% และความตกลงนี้ยังกำหนดว่าหากมีข้อพิพาทที่ตกลงกันไม่ได้ก็สามารถร้องขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการมาตัดสินชี้ขาดได้ โดยในระหว่างที่กระบวนการอนุญาโตตุลาการดำเนินไป คู่พิพาทก็ยังสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกันต่อไปได้ด้วย

3 เมษายน 2560 คิงส์เกต ส่งหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยว่า รัฐบาลไทยได้ละเมิดความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และขอใช้สิทธิ์ปรึกษาหารือ หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเวลา 3 เดือน บริษัท จะขอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพื่อระงับข้อพิพาท

จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2560 คิงส์เกต ได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 25,000 ล้านบาท

"ไม่ผิดคาด"

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน และนักต่อสู้ด้านสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเคลื่อนไหวและติดตามคดีเหมืองทองอัครามาอย่างต่อเนื่อง ระบุว่าการอนุมัติที่ออกมานั้น ไม่ได้ต่างไปจากที่คาดกาณ์ไว้แต่อย่างใด

"รู้สึกเสียดาย เสียใจแทนประชาชนในพื้นที่ ที่รัฐบาลไทยไม่ได้สู้อย่างจริงจังนัก ทั้งที่เหมืองนี้มีผลกระทบมาก แต่ก็ไม่ได้เอาข้อมูลเรื่องผลกระทบไปต่อสู้" นายเลิศศักดิ์กล่าวกับบีบีซีไทยหลังข่าวคิงส์เกตได้รับประทานบัตรเพิ่ม ออกมา

ก่อนหน้านี้ นายเลิศศักดิ์ เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยไว้ก่อนที่จะมีประกาศ แสดงความกังวลต่อท่าทีการเจรจาที่ผ่านมาของรัฐบาลไทยกับ คิงส์เกตหลังจากเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะทำให้ประชาชนเสียเปรียบ

"สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุด ในส่วนของการเจรจาระหว่างรัฐไทยและนักลงทุนต่างชาติ คือ อาจนำไปสู่ดีล (ข้อตกลง) ที่เกินไปกว่าข้อพิพาทในลักษณะ 'มาตรา 44 ซ่อนรูป' เพื่อแลกกับการชดใช้ให้กับเอกชน เช่น การอนุญาตให้ขยายประทานบัตรเพิ่ม และข้อตกลงที่อาจจะไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. แร่ 2560"

เส้นสีเทา

คิงส์เกต คือใคร

ภาพวิวในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย

บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด เป็นบริษัทผลิตทองคำที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2531 เว็บไซต์ของบริษัทให้ข้อมูลไว้ว่าเชี่ยวชาญในการสำรวจทองคำ พัฒนาและทำเหมืองแร่

คิงส์เกต มีบริษัทลูกในไทยชื่อว่าบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2556 ถือหุ้นอยู่ 48.2% ส่วนบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีชื่อเดิมว่า อัครา ไมนิ่ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งในไทยในปี 2536 บริษัทอัคราฯ ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้รับใบอนุญาตประทานบัตร 20 ปี ให้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ชาตรี ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์

นับตั้งแต่ปี 2544 เหมืองแร่ชาตรีผลิตทองคำแล้วประมาณ 1.8 ล้านออนซ์ และเงินเกือบ 8 ล้านออนซ์

เส้นสีเทา

รัฐบาลไทยชี้แจงอย่างไร

เว็บไซต์ข่าวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับรายงานถ้อยแถลงของ นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อช่วงบ่ายของ 24 ม.ค. ว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้เชิญกรรมการผู้จัดการบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้ารับมอบนโยบายการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตทองคำ ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ให้ความเห็นชอบการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตร ออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2564 ถึง 29 ธันวาคม 2574 ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด

ประทานบัตร 4 แปลง ได้แก่ ประทานบัตรที่ 25528/14714 ในพื้นที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และประทานบัตรที่ 26910/15365 ประทานบัตรที่ 26911/15366 และประทานบัตรที่ 26912/15367 ในพื้นที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร

อีกทั้งได้อนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 ให้แก่บริษัทฯ เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า และวิธีการโลหะวิทยาความร้อน ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2570

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจอ้างคำแถลงของนายนิรันดร์ว่า การอนุญาตข้างต้นเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทย ให้มีวัตถุดิบทองคำและเงินทดแทนการนำเข้า ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และยกระดับรายได้

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานคำพูดของนายนิรันดร์ว่า การเปิดการทำเหมืองจะเป็นการช่วยยกคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้สูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ประชาชนมีรายได้ลดลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และทางกรมได้กำชับบริษัทให้ต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย

ผู้สื่อข่าวของมติชน ตั้งข้อสังเกตทางเว็บไซต์ว่า ผลจากการออกประทานบัตรเหมืองทองคำ 4 แปลง และโรงแต่งแร่ 1 แปลง ทำให้คาดการณ์กันว่า กรณีข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ น่าจะได้ข้อยุติในเร็วนี้ เนื่องจากความต้องการหลักของคิงส์เกต คือกลับมาประกอบธุรกิจ ซึ่งตอนนี้ได้สิทธินั้นแล้ว และที่ผ่านมากพร.ยืนยันมาตลอดว่าไม่เคยสั่งปิดเหมือง แต่ไม่ได้ต่อใบอนุญาตเหมืองและโรงแต่งแร่ข้างต้น เพราะต้องการให้ปฏิบัติตามกฎหมายทองคำที่เหมาะสมกับสถานการณ์

บีบีซีไทยติดต่อไปที่สำนักงานนายนิรันดร์ เมื่อช่วงบ่ายของ 24 ม.ค. เพื่อขอคำชี้แจง แต่เจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ และบอกว่าจะแจ้งให้นายนิรันดร์ทราบ

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)

ที่มาของภาพ, ข่าวสด

คำบรรยายภาพ, นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)

คำสั่งที่ 72/2559 ตามมาตรา 44

เหมืองแร่ชาตรีดำเนินงานเรื่อยมาจนถึง 13 ธันวาคม 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ลงนามในคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยอ้างว่าได้มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเนื่องจากการประกอบกิจการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ลงนามในคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ส่งผลให้เหมืองแร่ชาตรีต้องยุติการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560

ในคำสั่งนี้ได้มีการสั่งการหลายอย่างรวมถึงระงับการทำเหมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เนื้อความส่วนหนึ่งระบุว่า

"ให้ผู้มีอํานาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สํารวจและทําเหมืองแร่ทองคํา รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคําและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคําไว้"

และ "ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป"

นอกจากคำสั่งนี้ เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของคิงส์เกตฯ ยังอ้างว่า รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ว่าจะต่อใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ ในการทำโรงงานแปรรูปของเหมืองแร่ชาตรี จนถึงสิ้นปี 2559 เท่านั้น แทนที่จะเป็นการต่ออายุ 3 หรือ 5 ปีตามที่เคยทำก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้บริษัทอัคราฯ "ปิดเหมืองแร่ชาตรี" ซึ่งคิงส์เกตฯ เห็นว่า เหมือง "ถูกเวนคืนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

คิงส์เกตระบุว่าคำสั่งของรัฐบาลไทยละเมิดความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และทำให้เกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศขึ้น

ทองคำแท่งที่โรงงานกษาปณ์ในออสเตรเลีย

เจรจาไกล่เกลี่ย

ในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายเจรจากันนั้น ปรากฏว่า เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ทางคิงส์เกต ได้เปิดเผยว่า บริษัทอัคราฯ ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำครอบคลุมพื้นที่ 397,226 ไร่ในเขตอำเภอชนแดนและอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีอายุ 5 ปี ฝ่ายค้านจึงได้นำเรื่องนี้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว โดย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ได้เปิดเผยเอกสารลับที่ชี้ให้เห็นว่า มีการให้สิทธิกับบริษัท คิงส์เกต ให้สำรวจแร่ทองคำเพิ่มเติม 4 แสนไร่เพื่อแลกกับการถอนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัมปทานครั้งแรก เพราะที่ปรึกษาด้านกฎหมายของไทยระบุว่า ไทยอาจจะแพ้คดี

ในตอนนั้น นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ระบุว่าไม่ได้เอาทรัพยากรประเทศไปให้คิงส์เกตเพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดี

นายวิษณุกล่าวว่า "การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ เป็นการอนุญาตให้สำรวจแร่ รัฐไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ การยื่นคำขออนุญาตเป็นสิทธิของผู้ประกอบการ กรมได้พิจารณาอนุญาตภายใต้กฎหมาย ที่คำนึงถึงการปกป้องคุ้มครองผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ได้นำทรัพยากรของประเทศให้แก่คิงส์เกต เพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดี"

ข้อต่อสู้ของไทย

รัฐบาลไทยได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทนี้ขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน

กรุงเทพธุรกิจได้รายงานช่วงเดือน ก.ย. 2563 ว่า รัฐบาลไทยได้ยืนยันต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่า ไม่เคยออกคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของบริษัทอัคราฯ หรือสั่งปิดเหมืองเลย เพียงแต่ไม่ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม หรือโรงแต่งแร่ทองคำ และประทานบัตรบางแปลงที่หมดอายุลง เพราะมีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จึงชะลอการต่ออายุจนกว่าจะได้ข้อยุติเรื่องสิ่งแวดล้อม หากมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงก็จะให้คิงส์เกตปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการเหมืองให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 เพื่อจะได้มาขออนุญาตประกอบการอีกครั้ง แต่คิงส์เกตยังไม่ดำเนินการขออนุญาตในขณะนั้น