เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ผู้นำชุมชนรอบเหมืองทองอัครา นำโดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จาก 3 ตำบล จาก 3 จังหวัด ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของเหมือง ได้แก่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และ ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เดินทางมาที่กรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อเข้าพบ นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดี กพร. เพื่อขอบคุณที่อนุญาตต่ออายุประทานบัตรและใบประกอบโลหกรรมให้แก่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองทองอัครา นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับมาของเหมืองทอง โดยยืนยันว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างเฝ้ารอวันที่เศรษฐกิจชุมชนจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

นายกฤษณะ ก้อนแก้ว นายก อบต.เขาเจ็ดลูก กล่าวว่า ชาวบ้านอยากให้เหมืองกลับมาเปิดดำเนินการ เพราะพนักงานเหมือง 80-90% เป็นคนในพื้นที่ พอเหมืองถูกปิด ชาวบ้านก็ตกงานเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ความเป็นอยู่ลำบาก ครอบครัวต้องแยกย้ายกันคนละทิศละทาง ไปหางานที่อื่น ซึ่งภายหลังได้ทราบข่าวการกลับมาของเหมือง ชาวบ้านต่างดีใจและพร้อมจะย้ายกลับมาสู่บ้านเกิดตัวเอง

ทั้งนี้ นายกฤษณะปฏิเสธกระแสข่าวว่าคนที่สนับสนุนเหมืองก็คือคนของเหมืองเท่านั้น โดยให้คำรับรองว่า “คนที่อยู่ในพื้นที่ตัวจริงจะรู้ดีว่า 90% ของคนในพื้นที่เห็นด้วยที่เหมืองกลับมาเปิด ที่ผ่านมามีการพิสูจน์มากมาย ผลสรุปว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าเหมืองก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามที่เป็นข่าวเลย ขอยืนยันต่อสังคมว่าเหมืองไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด”

ขณะที่ นายปิยะพงษ์ นะราชา อดีต ส.อบจ.พิจิตร กล่าวว่า การทำเกษตรกรรมสามารถทำได้แค่ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี พอหมดฤดูกาลชาวบ้านก็ว่างงาน ส่วนประเด็นข้อวิตกด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่หยิบยกมาอภิปรายกันล่าสุดในสภานั้น ผู้นำชุมชนยืนยันว่าล้วนเป็นประเด็นที่คนนอกพื้นที่สร้างขึ้นมาทั้งสิ้น

ทางด้าน นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัทอัคราฯ ชี้แจงประเด็นการได้รับการต่ออายุประทานบัตรและใบประกอบโลหกรรมว่า เป็นการได้รับอนุญาตบนพื้นที่เดิมของเหมือง เหมืองไม่ได้พื้นที่อะไรเพิ่มเติมแต่อย่างใด โดยบริษัทฯ ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบขั้นตอน บริษัทฯ ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาเป็นหมื่นๆหน้า ใช้เวลาดำเนินการรวม 3 ปีก่อนจะได้รับอนุญาตดังกล่าว

สำหรับความคืบหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด อยู่ในทิศทางที่ดี เพราะการเจรจายึดหลักเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย โดยทั้งบริษัทฯและภาครัฐต่างมุ่งหวังร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการเหมืองแร่ สร้างงานสร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน เรามั่นใจในมาตรฐานการประกอบการว่าได้มาตรฐานสากล

จากนั้นคณะผู้นำชุมชนได้เข้าประชุมกับ กพร. เพื่อหารือเรื่องการปรับโครงสร้างกองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนได้อย่างทันท่วงที ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผู้นำชุมชนเปิดเผยภายหลังการประชุมว่าผลการประชุมเป็นที่น่าพอใจ โดยนายนิรันดร์รับข้อเสนอและจะนำไปประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป