นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. 2564 ว่า อัตราเงินเฟ้อกลับมาหดตัวอีกครั้งในรอบ 5 เดือน อยู่ที่ 0.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.18% จากเดือนก.ค. 2564 โดยมีสาเหตุสำคัญจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปา

ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด นอกจากนั้น ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าอื่นๆ บางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และเครื่องประกอบอาหาร และบางชนิดราคาทรงตัว ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนส.ค. ปรับลดลง

นายวิชานัน นิวาตจินดา

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) เดือนส.ค.ปีนี้ ขยายตัว 0.07% เป็นการชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.14 % ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรก สูงขึ้น 0.73% แต่แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนก.ย. คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนักจากมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนต.ค. สนค. จะประกาศตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2564 ใหม่ จากเดิมกรอบบวก 0.7-1.7% ค่ากลางอยู่ที่ 1.2% โดยมีแนวโน้มลดลง จากปัจจัย 2 ด้าน คือ 1. เงินเฟ้อขยายแค่ 0.7-0.8% หากรัฐบาลต่อมาตรการลดค่าครองชีพถึงสิ้นปีนี้ ทั้งกระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รวมถึงมาตรการอื่นๆ 2. เงินเฟ้อขยายตัว 0.9-1.0% หากรัฐไม่มีการต่อมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน รวมถึงปรับให้สอดคล้องกับตัวแปรต่างๆ คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ได้ปรับลดลง เดิมอิงโต 0.7-1.5% ทิศทางราคาน้ำมันสูงขึ้นเดิมคาดไว้ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าบาทอ่อนค่าลง จากเดิมประเมินไว้ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยประเมินว่าเงินเฟ้อทั้งปีนี้ไม่น่าจะเกิน 1% และเมื่อมาตราการรัฐหมดลงในปีหน้าเงินเฟ้อก็จะสูงขึ้นอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน