ครม.อนุมัติเพิ่ม 3,042ล.
นายกถกสภาพัฒน์กู้ศก.

ครม.ไฟเขียวงบฯ อีก 3,042 ล้าน อัดฉีด ‘เราชนะ’ ให้กลุ่มอยู่ระหว่างคัดกรอง-ทบทวนสิทธิ์ หลังแห่ลงทะเบียนเข้าระบบจนล้นกรอบ 31.1 ล้านคน เพิ่มเป็น 33.35 ล้านคน รวมวงเงินทั้งหมด 213,242 ล้านบาท หากผ่านเกณฑ์ 22 พ.ค. รอรับได้เลย 7 พันบาท ยืดใช้โครงการถึง 30 มิ.ย.64 นายกฯเรียกถกทีมเศรษฐกิจ เร่งแผนเยียวยาโควิด-ฟื้นท่องเที่ยว เดินหน้า ‘ภูเก็ตโมเดล’ 1 ก.ค. ตามเดิม มั่นใจรัฐบาลคุมโรคอยู่ ‘สุพัฒนพงษ์’ ยันไม่กู้เพิ่ม มีเงินพอ คนละครึ่งเฟส 3 กดรับสิทธิ์ได้พ.ค.นี้ เดินหน้าทั้ง ‘เราชนะ มาตรา 33 เรารักกัน เราผูกพัน ช่วยข้าราชการ’ เตรียมดึงเงินฝาก 5-6 แสนล้านออกมาใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพิ่มเงินเยียวยาในมาตรการเราชนะอีก 3,042 ล้านบาท ครอบคลุม 2.4 ล้านคน ซึ่งขอชี้แจงว่า ไม่ใช่เป็นการลงทะเบียนเพิ่ม เนื่องจากระบบได้ปิดรับลงทะเบียนรอบสุดท้ายให้กลุ่มผู้ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ไม่มีสมาร์ตโฟน ผู้สูงอายุ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2564 โดยขณะนี้มีผู้อยู่ในระบบได้รับเงินในมาตรการจำนวน 32.8 ล้านคน สูงกว่ากรอบเดิมที่ ครม.อนุมัติไว้ที่ 31.1 ล้านคน จึงได้ขอครม.อนุมัติเยียวยา ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบในส่วนที่เพิ่มขึ้น และยังมีส่วนที่อยู่กลุ่มคัดกรองรอบวันที่ 9 เม.ย. อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เข้ามาในระบบ โดยกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นเป็น 33.5 ล้านคน วงเงินรวม 213,242 ล้านบาท จะครอบคลุม ผู้ที่ได้รับสิทธิ์เยียวยาทั้งหมดแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมครม. มีการพูดถึงโครงการเยียวยารอบใหม่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปหารือในรายละเอียดอีกครั้ง โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สอบถามในที่ประชุม ขณะที่นาย ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ได้กล่าวว่า มีเตรียมๆ ไว้บ้างแล้ว

ส่วนวงเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น สศช.รายงานครม.ว่า ณ วันที่ 8 เม.ย.2564 ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 282 โครงการ รวมวงเงิน 759,792 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 240,207 ล้านบาท โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบม.) ได้กู้เงินตามพ.ร.ก.แล้ว 666,016 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบเบิกจ่ายแล้ว 618,016 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.34 ของวงเงินที่ครม.อนุมัติ

“มีการประเมินว่า จำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการ 33.5 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ได้รับสิทธิ์ในปัจจุบัน 33.1 ล้านคน และกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคัดกรองข้อมูลและเปิดรับลงทะเบียนและผู้ที่อยู่ระหว่างการทบทวนสิทธิ์และร้องเรียนเกี่ยวกับผลการทบทวนสิทธิ์ 370,000 คน โดยกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือ หากผ่านเกณฑ์การคัดกรองจะได้รับวงเงิน 7,000 บาท ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ และกลุ่มที่ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ หากผ่านเกณฑ์การคัดกรอง จะได้รับวงเงินในวันที่ 22 พ.ค.2564” รายงานข่าวในที่ประชุมครม.ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมครม. นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ ที่ทำเนียบรัฐบาล อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายดนุชา เลขาธิการสศช. และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มเติม รวมถึงแผนการเปิดประเทศ “ภูเก็ตโมเดล”

ต่อมา นายสุพัฒนพงษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งจะดำเนินการตามแผนเดิม คือ วันที่ 1 ก.ค.2564 เนื่องจากความต้องการท่องเที่ยวยังไม่ลดลง โดยจะเน้นการท่องเที่ยวจากประเทศระยะไกล และเชื่อว่าการแพร่ระบาดโควิดไทยระลอกนี้ไม่ส่งผลต่อนักท่องเที่ยว เพราะจากมาตรการของรัฐบาล รวมถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ ซึ่งระบบสาธารณสุขของไทยได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว

“รัฐบาลยืนยันเดินหน้าโครงการช่วยเหลือประชาชนในแพ็กเกจเดิม อาทิ โครงการเราชนะ คนละครึ่ง มาตรา 33 เรารักกัน หรือแม้แต่มาตรการใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นมา คือเราผูกพัน ที่จะช่วยเหลือข้าราชการ อีกทั้งเตรียมมาตรการดึงเงินฝากที่มีอยู่ 5-6 แสนล้านบาท ออกมาใช้จ่าย ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่าปลายเดือนพ.ค.จะดำเนินการเรียบร้อย และประกาศใช้ในเดือนมิ.ย.2564 ขอยืนยันรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ช่วยเหลืออย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม เพราะงบประมาณที่กู้ยังเพียงพอ และยังเดินหน้าดึงดูดนักลงทุน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด โดยช่วงครึ่งปีหลังจะ เห็นผล ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน” นาย สุพัฒนพงษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการระบาดในระลอกนี้จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ขอประเมินสถานการณ์ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ก่อน หากสถานการณ์สามารถควบคุมได้ในสิ้นเดือนนี้ ก็หาทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อว่า หลังมีมาตรการยกระดับควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. รวม 14 วัน สถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกคน ที่ผ่านมาเราเตรียมการควบคุมไว้ แต่บังเอิญเกิดความประมาทเอง ซึ่งหากถ้าควบคุมสถานการณ์ได้ การฉีดวัคซีนในเดือนพ.ค.และมิ.ย. จะเป็นไปตามแผน และน่าทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติโครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่า โควิด-19 ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ เสนอ วงเงิน 68 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 8 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ธ.ค.2564 เพื่อช่วยเหลือและสร้างอาชีพแก่คนว่างงานและตกงาน กระตุ้นและฟื้นฟูธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก

ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจแฟรนไชส์ 500 ราย จะได้นำเสนอธุรกิจเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 และผู้ว่างงาน ได้ร่วมกิจกรรม แฟรนไชส์สร้างอาชีพ จำนวน 1 หมื่นราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน