นายกส.เลี้ยงสุกรฟันธง
ล่าสุดพุ่งถึงกก.250แล้ว

ฟันธงราคาหมูจะแพงยาวไปถึงตรุษจีนยันสงกรานต์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงหมูแห่งชาติ ชี้สาเหตุเพราะขณะนี้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่มี ซ้ำหมูที่เลี้ยงในฟาร์มก็ล้มตายไปจำนวนมากจากโรคระบาด ทำให้ไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด ขณะเดียวกันราคาเนื้อหมูสดในตลาดก็พุ่งตกกิโลละ 230-250 บาทไปแล้ว ส่วนหมูย่างเมืองตรังก็กระทบหนักเพราะหมูขาดตลาด ราคาขายปาเข้าไปกิโลละครึ่งพันแล้ว

แพงอีกยาว – บรรยากาศเขียงหมู ตลาดหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม แม่ค้าเผยช่วงปีใหม่หมูขาดตลาด ราคาแพงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมูสามชั้นปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 240 บาท และมีแนวโน้มราคาพุ่งสูงจนถึงตรุษจีน ยาวไปถึงสงกรานต์

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่แผงหมูตลาดโก้งโค้ง ในเขตเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายปลอดชัย ขวัญย่อง ผู้ค้าเนื้อหมูในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา กล่าวถึงราคาเนื้อหมูที่ขยับขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่าปีนี้ลูกค้าทั้งขาจรและขาประจำเดือดร้อนหนัก เฉพาะเนื้อสันคอวันนี้อยู่ที่ ก.ก.ละ 220 บาท สามชั้นทะลุ 210-215 บาท ส่วนกลุ่มที่รับไปทำหมูปิ้งต้องปรับราคาจากไม้ละ 5 บาท เป็น 3 ไม้ 20 บาทกันแล้ว ส่วนกลุ่มร้านหมูกระทะ เริ่มจะมีปรับราคากันหลายร้าน แต่ยังคงรอดูว่าจะลดราคาหรือไม่ เพราะหากมีการปรับราคาขึ้นกลัวลูกค้าจะหายหมด

จากการสอบถามพ่อค้า แม่ค้า เขียงหมู รายย่อย กล่าวว่า ราคาเนื้อหมูที่ขยับปรับราคาแบบนี้ เป็นเพราะหมูจากฟาร์มย่อยหายไปจากระบบ จะเหลือผู้เลี้ยงหลักๆ ไม่ถึง 10 ราย เมื่อของขาดตลาด ราคาก็ขึ้นไปตามสภาพ ซึ่งชาวบ้านจะหันไปซื้อวัตถุดิบอย่างอื่นปรับเปลี่ยนแทน และจะรอดูสักระยะราคาน่าจะปรับลดลงบ้าง

ขณะที่ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อเนื้อหมูกับแผงหมูรายย่อย กล่าวว่าเขียงหมูที่เปิดกันทั่วไป 10 กว่า ร้านในย่านนี้ ราคาจะแตกต่างจากช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ ที่ราคาไม่ปรับจนต้องหันไปซื้อไก่ ซื้อปลา มาทำอาหารแทน เพราะสู้ราคาไม่ไหว เมื่อก่อนมีคนละครึ่งพอช่วยแบ่งเบาภาระกับราคาสินค้าที่ราคาปรับขึ้นเกือบทุกอย่าง จนตอนนี้เลยต้องปรับให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจ เมื่อหมูแพงก็หันมากินปลาหรือเนื้อไก่แทน

ด้านพ่อค้าหมูยังกล่าวว่า ราคาสุกรหน้าฟาร์มปรับราคาขึ้นเนื่องจากปัจจัยหลักคือ รายย่อยไม่เลี้ยงแล้ว เพราะหมูติดโรค ค่าอาหาร ราคาสูง ราคาน้ำมันแพง ในการขนส่ง ทำให้ขาดทุน หมูที่เห็นกันในขณะนี้เป็นเนื้อหมูของฟาร์มใหญ่ จังหวะประจวบเหมาะกับช่วงนี้พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ขาดแคลน เลยเป็น ข้ออ้างทำให้ตลาดทั้งระบบปรับราคา ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกช่วงเทศกาลสำคัญๆ ราคาเนื้อหมู ก็จะปรับราคาขึ้นอยู่แล้ว แต่ปีนี้ราคาหมู ขยับราคา จากที่เคยซื้อราคาเท่านี้ได้มากกว่า แต่พอเห็นราคาสันคอก.ก.ละ 220 บาท และหมูปิ้งไม้ละ 5 แค่พอคำ บางแผงหมูปิ้งปรับราคาเป็น 3 ไม้ 20 บาท เมนูพื้นๆ ของชาวบ้าน ขึ้นราคาแบบนี้เดือดร้อนกันหมดแล้ว

ขณะที่ราคาเนื้อหมูมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ก.ก.ละ 20-30 บาท จากสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากมีการระบาดของโรคในสุกรหลายพื้นที่ ทำให้สุกรมีปริมาณลดลงแต่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ส่งผลให้สุกรมีชีวิตและราคาเนื้อสุกรในตลาดสดและตามแผงหมูปรับราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ราคาพริกขี้หนูก.ก.ละ 200 บาทอีกด้วย

ที่ จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวออกสำรวจราคาหมูในตลาดเขตเทศบาลนครนครราช สีมา พบว่าเนื้อหมูมีราคาแพงเพิ่มขึ้นอีกหลังเทศกาลปีใหม่ โดยปรับขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท ทำให้ตอนนี้หมูที่ขายกันอยู่หน้าเขียงอยู่ที่กิโลกรัมละ 230-250 บาท และ จากราคาหมูที่แพงขึ้นและยังไม่นิ่ง ทำให้ ผู้ประกอบการที่ชำแหละหมูส่งขายบางรายต่างหยุดชำแหละหมู เนื่องจากหมูมีราคา สูงขึ้น ในส่วนของแม่ค้าที่ขายหมูหน้าเขียงยังขายอยู่ อยู่ได้ เพราะมีลูกค้าประจำอย่างเช่นบรรดาร้านอาหารต่างๆ แต่ก็ได้กำไรน้อย หรือบางครั้งอาจไม่ได้กำไรเลย นอกจากนี้ ร้านขายหมูบางร้านถึงกับต้องหยุดขายหมูชั่วคราว เพราะหมูที่รับมามีราคาแพง ทำให้ขายหน้าร้านลำบาก

ขณะเดียวกันปัญหาหมูแพงยังส่งผล กระทบไปยังแม่ค้าขายอาหารที่ต้องปรับตัวตามราคาหมู เช่น การขึ้นราคาอาหารที่ทำมาจากหมู แต่บางร้านได้มีการคุยกับลูกค้าว่าขอลดปริมาณอาหารลงแทนการขึ้นราคาอาหาร

ป้าอ้อย แม่ค้าขายข้าวแกงในตลาดแม่ กิมเฮง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงที่หมูแพงตอนแรกมีการปรับตัวคือการตักแกงให้น้อยลง แต่ลูกค้าไม่ค่อยพอใจ จึงต้องปรับอีกครั้งด้วยการยกเลิกอาหารที่มีหมูเป็นส่วนประกอบ โดยเหลือแต่เพียงเมนูที่มีไก่และปลาเป็นส่วนประกอบ อย่างแกงเผ็ดฟักทองเมื่อก่อนเคยใส่หมูก็เปลี่ยนมาเป็นไก่แทน ล่าสุดเมื่อเช้านี้ขาดทุนตั้งแต่ยังไม่ทันได้ขายของเนื่องจากไปซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบมาเพื่อจะทำพะแนงหมูขายพอทำเสร็จตักใส่ถุงมานั่งคำนวณดูคิดแล้วว่าขาดทุนแต่เมื่อทำแล้วก็ต้องขาย โดยขายได้เพียง 650 บาท ขาดทุนไปกว่าครึ่ง จึงอยากวอนรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคเร่งเข้ามาดูแล เนื่องจากราคาหมูขึ้นเกินราคา ทำให้ตนและแม่ค้ารายอื่นๆ ได้รับความ เดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ที่ จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ร้านตรัง หมูย่าง ซึ่งเป็นร้านขายอาหารเช้า และหมูย่างเมืองตรัง มีลูกค้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีลูกค้ามาสั่งซื้อหมูย่างอย่างต่อเนื่อง โดยราคาหมูย่างร้านดังกล่าวจะขายในราคากิโลกรัมละ 500 บาท ครึ่งกิโลกรัมละ 250 บาท ขณะเดียวกันบรรยากาศที่ตลาดสดเทศบาลนครตรัง กลุ่มพ่อค้า แม่ค้าหมูย่าง และหมูสด หลายร้านต่างปิดร้านชั่วคราวกว่า 10 ร้านตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ม.ค.65 เป็นต้นมา บางร้านยังขายปกติ เพราะมียอดสั่งซื้ออยู่ แต่จะมีการลดปริมาณหมูลง และมีการขาย ตามออร์เดอร์

ขณะเดียวกันนายประเสริฐ น้ำผุด อายุ 57 ปี เจ้าของร้านตรังหมูย่าง เปิดเผยว่า มีผล กระทบเยอะ เพราะราคาขึ้นสูงจนเราสู้ไม่ได้ แต่มันเป็นอาชีพของเราที่ต้องขาย เราต้องมาวิเคราะห์ราคาก่อนเอาให้พอได้กำไรเลี้ยงชีพ ครั้งที่ผ่านมาราคาหมูขึ้นมาตอนนี้เราก็ต้องมาคำนวณว่าจะขายในราคาไหน เราก็ไม่อยากขึ้นมาก ตอนนี้ผลกระทบอย่างแรงร้านขายหลายร้านหยุด เพราะสู้ต้นทุนไม่ได้ แต่เราก็ต้องขายราคานี้เพื่อพยุงลูกค้า ช่วงปีใหม่ก็มีลูกค้าต่างจังหวัดมาซื้อ แต่ลูกค้า จ.ตรัง ไม่ค่อยมาซื้อแล้ว เราไม่สามารถหยุดขายได้ ถึงแม้ว่าขายไม่ได้อะไรก็ต้องขาย เพราะกระทบหลายอย่าง รวมถึงลูกน้องเราด้วย ก็ต้องพยุงกันต่อไปเรื่อยๆ เพื่อพาตัวเอง และพนักงานที่ร้านให้รอด หากจะมาขายออนไลน์ก็พูดยาก เพราะเป็นของสด ต้นทุนสูง หมูที่ร้านเราเป็นหมูที่ไม่มีกระดูก ต้นทุนสูงกว่า เท่าตัว ตอนนี้คนขายคนซื้อก็ลำบากกันทั้งนั้น ก็อยากฝากทางรัฐบาลให้ควบคุมราคาหมูให้อยู่ในวงจร ในราคาที่ไมกระทบต่อผู้บริโภคมาก

ด้าน น.ส.ณัฐติกาญจน์ บุญรินทร์ อายุ 27 ปี เจ้าของแผงหมูย่างที่ตลาดสดเทศบาลนครตรัง กล่าวด้วยว่า เราก็ได้รับผลกระทบเยอะลูกค้าจำเป็นต้องง้อ เราจำเป็นต้องขายลูกค้าก็ยอมรับราคาได้ ตนก็ขายปกติ แต่จะทำตาม ออร์เดอร์มากกว่าขายหน้าหน้าร้าน ส่วนใหญ่มีขายออนไลน์บ้างแล้ว แต่ลูกค้าสั่งก็ต้องสั่งล่วงหน้า 2 วัน ปกติไม่ค่อยได้ขายออนไลน์ แต่หลังจากราคาหมูแพงก็หันมาขายออนไลน์ แต่ขายออนไลน์ราคาก็สูงอีกเช่นกัน ก็ต้องถามลูกค้าด้วยว่ารับในราคานี้ได้หรือไม่ ตอนนี้ เราก็ปรับตัวด้วยการลดปริมาณหมู เพราะช่วงนี้ หมู่ก็หายากเหมือนกัน ตอนนี้แผงหมู ร้านหมูย่างหลายแผงก็หยุดขายไปตั้งแต่ช่วงปีใหม่ ส่วนตนยังต้องขายเพราะมีออร์เดอร์สั่งซื้อทุกวัน ส่วนลูกค้าหลายแห่งที่ตนเคยส่งประจำก็เลิกสั่งไปเหมือนกัน ตอนนี้นอกจากหมูแล้วราคาอุปกรณ์และวัตถุดิบก็สูงด้วยเช่นกัน

น.ส.สุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดตรัง พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ออกสุ่มตรวจแผงขายหมูย่างจีไอ หรือใบรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ฯ เพื่อให้คุณภาพและราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยไม่ฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคในช่วงที่ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณการนำเข้าสุกรลดน้อยลง ประกอบกับย่างเข้าสู่เทศกาล ตรุษจีน ทำให้ความต้องการเนื้อหมูเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง เตรียมจำหน่ายเนื้อหมูสดตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท จำนวน 4 จุดภายในเดือนม.ค.นี้

น.ส.สุภากิตติ์กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรังมีมากกว่า 50 ราย ตอนนี้ชะลอการขายในช่วงที่ราคาหมูปรับตัวสูงขึ้น ส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อให้สามารถอยู่ได้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ลงมาตรวจและให้กำลังใจผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรัง ที่เป็นสินค้าจีไอ ที่ได้รับความนิยมของ ผู้บริโภคจากทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้จากผล กระทบราคาหมูเป็นปรับสูงขึ้น ทำให้ราคาหมูย่างเมืองตรังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคาขายด้วย ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็พยายามปรับราคาในส่วนที่ผู้ประกอบการอยู่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคมากนัก ซึ่งตอนนี้ราคาที่จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 400-500 บาท แต่ละเจ้าก็แตกต่างกันไป

ส่วนที่แผงขายหมูย่างจีไอของเจ๊อ้อย หรือ นางชลนิชา ยอดเพชร อายุ 53 ปี ที่บ้านป่ายาง หมู่ที่ 4 ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเจ๊อ้อยมีด้วยกัน 7 สาขา พบเพิ่งปรับขึ้นราคาหมูย่างจากกิโลกรัมละ 400 บาทเป็น 450 บาทเมื่อวันที่ 1 ม.ค.65 เนื่องจาก แบกรับต้นทุนไม่ไหว แต่ยืนยันคุณภาพ และมาตรฐานไม่สามารถปรับลดได้ แต่กำไรจะน้อยลงมาก ทำให้กำลังตัดสินใจว่าจะหยุดบางสาขาและลดคนงานหรือให้คนงานสลับกันหยุด หากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มยัง พุ่งสูงขึ้น ซึ่งหลังเทศกาลปีใหม่ ทำให้สั่ง หมูย่างมาขายลดลงจากเดิมวันละ 5-6 ตัว เหลือเพียง 3-4 ตัว โดยแบ่งไปขายอีก 6 สาขา สาขาละครึ่งตัวเท่านั้น โดยอาศัยลูกค้าขาประจำและขาจรที่เคยซื้อไปกินแล้วติดใจในรสชาติ ความกรอบอร่อย ประกอบกับราคาไม่แพง จึงขายได้ตลอดทั้งวัน

นอกจากนี้ ยังส่งขายทางออนไลน์ไปยัง จ.สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ และภาคอีสานอีกหลายจังหวัด ส่วนหนึ่งเพราะได้มาตรฐานจีไอ ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น และยังขายในราคาที่ถูกกว่าเจ้าอื่นที่พากันปรับขึ้นราคา ตั้งแต่กิโลกรัมละ 460-500 บาทไปแล้ว

วันเดียวกัน นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาหมูในขณะนี้ฟันธงว่า ราคาหมูจะยังคงสูงถึงช่วงตรุษจีนและอาจยังคงลามไปถึงช่วงสงกรานต์ เพราะขณะนี้พ่อแม่พันธุ์ไม่มี หมูที่เลี้ยงในฟาร์มก็ล้มตายไปจำนวนมากจากโรคระบาด ทำให้ไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งเกษตรกรก็ไม่รู้ต้องทำอย่างไร การที่จะเพิ่มพ่อแม่พันธุ์ไม่ใช่เรื่องง่ายและทำได้ทันที ดังนั้นจึงไม่มีผลต่อราคาในช่วงนี้เพราะต้องใช้เวลาในการเลี้ยง “ส่วนสาเหตุที่ทำให้หมูล้มตายไปจำนวนมากนั้นในฐานะเกษตรกรคงไม่สามารถฟันธงหรือยืนยันว่าตายเพราะโรคอะไรก็ต้องเชื่อสัตวแพทย์”

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า ปัจจัยความไม่เพียงพอของผลผลิต ทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์ม ขยับต่อ ขณะที่หลายฝ่ายยังรอการประชุมร่วมเพื่อประเมินความเพียงพอของผลผลิตสุกรในอนาคตที่เป็นข้อกังวลกว่าการปรับขึ้นของราคาสุกรหน้าฟาร์ม รวมถึงการยับยั้งการระบาดที่ยังไม่หยุด และการหาทางฟื้นฟูการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ที่การประเมินทั้งระบบลดลงจาก 200,000 ราย เหลือเพียง 80,000 รายในปัจจุปัน รวมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกรเป็นปัญหาใหญ่ ที่โดยบรรจุ เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศให้ปี 2565 ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ให้สำเร็จ

ที่พรรคเพื่อไทย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พร้อมด้วย น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคพท. ร่วมแถลงถึงปัญหาราคาหมูแพงว่า ขณะนี้ราคาหมูขึ้นไปถึง 230 บาทต่อก.ก. อีกไม่นานคงขึ้นถึง 250 บาทต่อก.ก. สาเหตุที่ราคาหมูแพงเริ่มมาจาก 3 ปีก่อนเพราะเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือ เอเอสเอฟ โดยเกิดโรคระบาดนี้ไปทั่วโลก เมื่อเชื้อเข้ามาในไทยเริ่มจากทางภาคเหนือ ปัญหาคือภาครัฐไม่ยอมรับ อ้างว่าเป็นโรคเพิร์สซึ่งมีความใกล้เคียงกัน มีการปกปิดข้อมูล โดยมีหมูทางภาคเหนือถูกทำลายจำนวนมาก และยังระบาดมาถึงภาคอีสานและภาคใต้

ขณะนี้เราเหลือหมูไม่ถึง 12 ล้านตัว เหลือแม่หมูไม่ถึง 5 แสนตัว โดยยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ หมูลดลงแต่ราคาสูงขึ้น คนเลี้ยงก็ขาดทุน ปัญหาเหล่านี้รัฐไม่ยอมรับ นายวิสุทธิ์กล่าวต่อว่าที่สำคัญไม่ยอมรายงานองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ส่งออกและได้ประโยชน์ ถามว่ารัฐบาลทำเพื่อใคร เพื่อเกษตรกรหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กลัวจะขายหมูไม่ได้ สุดท้ายเราไม่สามารถส่งออกหมูได้อีกแล้ว เพราะทั่วโลกรู้แล้ว

ดังนั้นขอเรียกร้องรัฐบาลว่าเจ้าของฟาร์มหมูเป็นหนี้ บางส่วนยังไม่ได้รับการชดเชยร้อยละ 70 บางคนเลี้ยงหมูไม่ได้อีกแล้ว รัฐบาลนี้ไม่ได้ฆ่าแต่หมู แต่กำลังเข่นฆ่าเกษตรกรเลี้ยงหมูฝังลงดินให้ตายไปด้วย ดังนั้นขอให้รัฐบาลเร่งเจรจาสถาบันการเงินอย่าเพิ่งฟ้องเกษตรกร และรัฐบาลต้อง เยียวยาให้เกิน 150%

ทั้งนี้ เมื่อเปิดสภา ขอให้ ส.ส.รัฐบาลรับญัตติของพรรคพท. เพื่อศึกษาวิธีแก้ไขเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ฝ่ายค้านพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรสามารถกลับมาเลี้ยงหมูได้ เป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ กังวลวิธีคิดพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะให้ทหารเลี้ยงหมูในค่ายเพื่อแก้ปัญหาอีก

น.ส.สกุณากล่าวว่า โรคระบาดเป็นต้นเหตุของราคาหมูแพง ที่สำคัญการบริหารจัดการของรัฐไม่ตอบโจทย์ปัญหา ไม่ยอมรับว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น หากเรายอมรับว่าหมูติดเชื้อเอเอสเอฟจริงเหมือนจีน เราคงแก้ปัญหาได้ คนทั้งประเทศรู้ มีแค่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เท่านั้นที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยพูดถึงวิธีการเยียวยาหรือแก้ปัญหา ทั้งนี้ รัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาให้เกษตรกรเลย หากไม่คิดจะแก้ไขปัญหา จะอยู่ในตำแหน่งไปเพื่ออะไร

น.สพ.บุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลี้ยงหมูในพื้นที่ราชบุรีว่า จากตัวเลขที่สำรวจผ่านระบบอี-สมาร์ท พลัส ของกรมปศุสัตว์เมื่อต้นปีที่แล้ว จำนวนแม่พันธุ์ที่ราชบุรีประมาณ 2 แสนตัวเศษ เกษตรกรผู้เลี้ยง 24,000 ราย ถือเป็นจำนวนที่เลี้ยงหมูมากที่สุดในประเทศ สำรวจแยกเป็นรายอำเภอ พื้นที่หลักอยู่ที่ อ.ปากท่อ จำนวน 3,331 ราย มีแม่พันธุ์จำนวน 67,405 ตัว

รองลงมา อ.จอมบึง มีเกษตรกร 3,006 ราย มีแม่พันธุ์ 65,218 ตัว และรองลงที่ อ.โพธาราม 4,356 ราย มีแม่พันธุ์จำนวน 32,139 ตัว สำหรับโพธาราม จะเป็นผู้เลี้ยงรายกลางถึงรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นรายใหญ่จะอยู่ที่ อ.ปากท่อ และอ.จอมบึง และอ.เมือง

ส่วนสถานการณ์ราคาหมูแพงนั้น น.สพ. บุรินทร์กลาวต่อว่าเริ่มเกิดการเสียหายเมื่อกลางปีที่แล้ว ทำให้แม่พันธุ์ที่มีในระบบ เกิดการสูญเสีย ซึ่งตัวเลขการสูญเสียนั้น ต้องลงไปสำรวจพื้นที่จริงเสียก่อน คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ พอเริ่มมีการสูญเสียเมื่อกลางปีที่ผ่านมาแล้ว เกษตรกรก็รู้แล้ว ได้ชดเชย คัดเลือกหาแม่พันธุ์มาเลี้ยงใหม่ ต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือนกว่าจะพร้อมที่จะมาขยายพันธุ์ต่อ อีก 5 เดือน ลูกหมูเข้าสู่ระบบตลาดได้ อย่างช้าสุดน่าจะเกินกลางปีไปแล้ว จำนวนสุกรก็จะมีตัวเลขที่อัพขึ้น เพื่อที่ให้เพียงพอต่อการบริโภค จึงต้องให้เลยช่วงเดือนก.ค.ไปก่อน ผลผลิตชุดใหม่จะเริ่มออกมาทดแทน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน