เช็กสต๊อกทุก7วัน
ตรังกระทบหนัก
แห่ปิดเตา-งดย่าง

พาณิชย์ห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.-5 เม.ย.คาดช่วยให้มีหมูเป็นกลับเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมประมาณ 1 ล้านตัว พร้อมสั่งเช็กสต๊อกเนื้อหมูแช่แข็งทุก 7 วัน ด้านรมต.ประภัตรประชุมด่วนอธิบดีกรมปศุสัตว์เร่งแก้ปัญหา ด้านร้านหมูย่างตรังสุดทนราคาหมูพุ่งสูงต่อเนื่อง จำยอมปิดเตาย่างหมูชั่วคราวแล้ว เนื่องจากสู้ต้นทุนไม่ไหว เผยราคาหมูย่างอาจพุ่งสูงถึงก.ก.ละ 600 บาท ช่วงตรุษจีนที่กำลังมาถึง

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ หารือการแก้ไขปัญหาราคาเนื้อสุกรในประเทศปรับสูงขึ้น กับนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ตัวแทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

นายประภัตรเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรภายในประเทศปี 2563-64 มี ผู้ประกอบการรวม 190,000 ราย สามารถผลิตสุกรประมาณ 20 ล้านตัว/ปี ประมาณ 10,000 ราย เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ มีปริมาณสุกรมากกว่า 10 ล้านตัว และอีก 180,000 ราย เป็นเลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อย เมื่อปี 2563-64 ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเกิดโรคระบาดในสุกร โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงปรับแผนลดการผลิตสุกรขุนลง ส่งผลให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง ในขณะที่ปี 2564-ปัจจุบัน รัฐบาลไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุม ยับยั้งการระบาดของโรคในสุกรได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้สุกรไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคาเนื้อหมูสดภายในประเทศปรับราคาสูงขึ้น

นายประภัตรกล่าวว่า ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะหยุดการส่งออกสุกรในทันที เพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ สำหรับในระยะกลาง-ยาวนั้น กรมปศุสัตว์จะเริ่มส่งเสริมเกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยเดิม ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเลี้ยง โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ โดยคาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมหารือมาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ประเทศไทยมีความต้องการใช้ถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง 4 ล้านตัน/ต่อปี

ด้านนายชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดี กรมปศุสัตว์ กล่าวว่าในวันที่ 7 ม.ค.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะหารือกับผู้เลี้ยงหมู อาทิ สมาคมผู้เลี้ยงหมูในภาคต่างๆ บริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้เลี้ยงหมู เพื่อจำหน่าย เพื่อหารือถึงมาตรการเพิ่มจำนวนหมูเข้าสู่ระบบการผลิต เพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ก่อนนำข้อสรุปที่ตกลงกันได้ระหว่างภาครัฐ เอกชนและเกษตรกร เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ต่อไป ทั้งนี้โดยทั่วไทยจะบริโภคหมูประมาณ 20 ล้านตัว/ปี แต่ที่ผ่านมา มีการเกิดโรคระบาดในหมู และการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อระบบการผลิต ทำให้ผลผลิตลดลงต่อเนื่องโดยปี 2564 ผลผลิตหมูทั่วประเทศมี 19.27 ล้านตัว ลดลง 13% จากปี 2563 มีผลผลิตรวม 22.05 ล้านตัว ประกอบกับราคาอาหารสัตว์จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง จึงน่าจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ราคาหมูเพิ่มขึ้น

“การเกิดโรคระบาดในหมู ส่งผลต่อการเลี้ยงหมู ทำให้เกษตรกรต้องปรับระบบการเลี้ยง เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของการผลิตให้เกษตรกรในประเทศ รวมทั้งการระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีการล็อกดาวน์ในพื้นที่ต่างๆ ร้านอาหาร โรงแรม ถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไม่ได้ ผู้เลี้ยงหมูทั้งรายใหญ่รายเล็ก ชะลอการเลี้ยง ทำให้ผลผลิตหมูลดลง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น” นายชัยวัฒน์ระบุ

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศมีประมาณ 1.9 แสนราย ในจำนวนนี้ประมาณ 70% เป็น ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ เมื่อเกิดปริมาณหมูลดลง ภาครัฐจะขอความร่วมมือกับรายใหญ่ให้เร่งผลิตหมูขุนเข้าระบบให้มากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงพบสัญญาณการลดลงของหมูในระบบ ก็เร่งป้อนหมูเข้าระบบมาประมาณ 2-3 เดือนแล้วเชื่ออีกไม่นานปริมาณหมูและราคาจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ที่ จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงมีประชาชน และนักท่องเที่ยว เดินทางมาซื้อหมูย่างเมืองตรัง เพื่อนำไปฝากและรับประทานกับครอบครัว แม้จะปรับขึ้นจากราคาเดิมกิโลกรัมละ 400 บาท มาเป็นกิโลกรัมละ 480-500 บาท ตามราคาหมูเป็น หรือหมูหน้าฟาร์มที่ขึ้นสูง แต่ลูกค้าขาประจำที่มาซื้อหมูย่างบางราย จากเดิมที่เคยซื้อครั้งละ 1 กิโลกรัม ก็ลดลงมาเหลือครึ่งกิโลกรัมแทน เพื่อประหยัดงบ ขณะที่ร้านหมูย่างบางรายก็ต้องยอมปิดเตาย่างหมูชั่วคราว เนื่องจากสู้ราคาต้นทุนไม่ไหว หลังจากที่ราคาหมูเป็นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายประเสริฐ น้ำผุด เจ้าของร้านตรังหมูย่าง และอดีตประธานชมรมผู้ประกอบการหมูย่างจังหวัดตรัง ได้ลองคิดต้นทุนหมูย่าง 1 ตัว จากหมูเป็นที่น้ำหนัก 85 กิโลกรัม คิดราคากิโลกรัมละ 103 บาท เป็นเงิน 8,755 บาท บวกค่าแรง 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,755 บาท แต่เมื่อย่างแล้วจะเหลือน้ำหนักหมูประมาณ 18 กิโลกรัม คิดราคากิโลกรัมละ 500 บาท เป็นเงิน 9,000 บาท แยกขายเฉพาะหัวหมู ได้ 300 บาท ขาหมู 600 บาท และเครื่องใน อีก 1,200 บาท รวมเป็นเงินที่ขายได้ทั้งหมด 11,100 บาท เมื่อนำไปหักลบกับต้นทุน 10,755 บาท เท่ากับว่าหมูย่าง 1 ตัว จะเหลือกำไรแค่ 345 บาท

ดังนั้น ล่าสุดจึงทำให้มีผู้ประกอบการหมูย่าง 4-5 ร้านในจังหวัดตรัง ต้องจำยอมหยุดพักเตาย่างหมู เพราะประสบกับภาวะขาดทุน พร้อมเชื่อว่าราคาหมูเป็น หรือหมูหน้าฟาร์ม จะพุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 115-120 บาท ซึ่งถ้าราคาหมูเป็นยังสูงขึ้นแบบนี้ ช่วงเทศกาลตรุษจีนปลายเดือนมกราคม คาดว่าจะต้องมีการปรับราคาหมูย่างขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 600 บาทอย่างแน่นอน จากเดิมที่อยู่แค่กิโลกรัมละ 400-420 บาท หรือปรับขึ้นกิโลกรัมละ 200 บาทเลยทีเดียว

ที่ จ.บุรีรัมย์ จากกรณีราคาหมูแพงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 140-150 บาท ปัจจุบันราคาพุ่งขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท บางจังหวัดพุ่งสูงถึง 250 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร และลูกชื้นหมูขาย

ล่าสุดพ่อค้าแม่ค้าขาย “ลูกชิ้นยืนกิน” ทั้งที่บริเวณด้านหลังสถานีรถไฟ และตามจุดต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ที่มีเอกลักษณ์การกินที่ไม่เหมือนใคร โดยลูกชิ้นทอดซึ่งเน้นเป็นลูกชิ้นหมูนั้นมีความนุ่มอร่อย ที่สำคัญ น้ำจิ้มเป็นสูตรเฉพาะทำจากน้ำมะขามเปียก พร้อมมีกลิ่นหอมของพริกทอด ทำให้รสชาติเป็นที่ถูกปากของลูกค้า ต่างก็ได้รับผลกระทบจากราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และวัตถุดิบอื่นๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาต้องแบกรับภาระต้นทุน โดยไม่ปรับขึ้นราคาขายและไม่ลดปริมาณ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ทั้งนี้อยากขอให้ภาครัฐลงมาดูแลราคาสินค้าไม่ให้แพงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ที่ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด

นายเกรียงไกร ทองยัง พ่อค้าขายลูกชิ้นหมู “เกรียงไกร” เปิดเผยว่า ราคาหมูแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบในการทำลูกชิ้นหมูขาย ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพ ปริมาณ และราคาขายยังเท่าเดิม ไม่ขึ้นราคาแต่อย่างใด ซึ่งก็ยังคงมีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงอยากขอให้ภาครัฐลงมาดูแลราคาสินค้าไม่ให้แพงเพื่อช่วยเหลือประชาชน

สำหรับลูกชิ้นหมู “เกรียงไกร” (ลูกชิ้นหมูทำเอง) จะเปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. บริเวณถนนศรีเพชร 2 (หน้าโรงรับจำนำเก่า) ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เสาร์-อาทิตย์ จะขายที่ถนนคนเดินเซราะกราว ไม้ละ 5 บาท หากซื้อเป็นชุด ลูกชิ้นชุดเล็ก 50 บาท ชุดใหญ่ 100 บาท ส่วนน้ำจิ้ม เป็นขวด กับถุงเล็ก 20 บาท ถุงใหญ่ 50 บาท ซึ่งทำให้พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว และญาติพี่น้อง

ขณะที่แม่ค้าที่จำหน่ายลูกชิ้นยืนกิน บริเวณสถานีรถไฟบุรีรัมย์ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ราคาหมูที่แพงขึ้นได้ส่งผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่ถึงขึ้นที่กระทบมากนัก ถือว่ายังสามารถประคับประคองไปได้ และก็จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ทั้งในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ หรือราคาจำหน่ายแต่อย่างใด โดยจะยังขายในราคาเดิม คือ ไม้ละ 3 บาท 7 ไม้ 20 บาท ถึงแม้จะได้กำไรน้อยก็ตาม

ที่ จ.ราชบุรี นายวรเศรษฐ์ ศรีโสตถิโยดม เจ้าของเขียงหมูในตลาดสดเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่ร้านของตนเปิดกิจการมากว่า 50 ปี ต้องยอมรับว่าไม่เคยเจอปรากฏการณ์ราคาเนื้อหมูแพงทะลุ 200 บาท มาก่อน โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายเนื้อหมูสด สามชั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 240 บาท เนื้อหมูสันนอก-ใน 220 บาท เนื้อสะโพกบด 200 บาท และเนื้อสันคอ 220 บาท ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของลูกค้าถึงร้อยละ 70 ทั้งกลุ่มร้านอาหาร และลูกค้ารายย่อยประเภทครัวเรือน ที่ลดปริมาณการซื้อลง และหันไปซื้อเนื้อสัตว์ประเภทอื่นมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน

จึงอยากฝากถึงภาครัฐให้หามาตรการควบคุมราคาเนื้อหมู เนื่องจากเป็นวัตถุดิบอาหารหลักของคนไทย หากราคายังขยับขึ้นเช่นนี้ ไม่ใช่แค่เพียงผู้บริโภคเท่านั้นที่จะไม่ไหว โดยวิกฤตนี้ยังส่งผลต่อเพื่อนร่วมอาชีพเขียงหมู ที่ทยอยปิดกิจการไปแล้วหลายราย เพราะทนแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว คาดว่าราคาเนื้อหมูจะขยับตัวขึ้นเช่นนี้ไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งหวังได้แต่เพียงว่าจะไม่ขยับราคาขึ้นไปมากกว่านี้อีกแล้ว

ด้านนายบุญเอื้อ คงกระพันธ์ เจ้าของร้าน “ตา ต๊ะ” ข้าวหมูแดงหมูกรอบชื่อดังใน อ.บ้านโป่ง เปิดเผยว่า ตนเปิดกิจการมาแล้ว กว่า 30 ปี ตั้งแต่ราคาเนื้อหมูสดกิโลกรัมละ 53 บาท จนปัจจุบันกิโลกรัมละ 240 บาท ในแต่ละวันตนจะใช้เนื้อหมูประมาณ 100 กิโลกรัม ราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ทำให้ตนต้องปรับราคาขายจากแบบธรรมดาจานละ 30 บาท มาเป็น 45 บาท และขนาดจัมโบ้ 50 บาท

นายบุญเอื้อ กล่าวต่อว่าหลังจากที่ปัจจุบันปริมาณเนื้อหมูสดในตลาดมีน้อย ทำให้ราคาทะลุไปที่ 240 บาท ส่งผลให้ตนต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกวันละกว่า 8,000 บาท นอกจากนั้น ยังหาเนื้อหมูมาทำเป็นหมูแดง และหมูกรอบได้ยากมากกว่าเดิม เพราะร้านประจำที่ซื้อกันอยู่ ไม่สามารถหาหมูสดได้ในจำนวนที่ต้องการในแต่ละวัน ต้องตระเวนหาซื้อเพิ่มเติมจากเขียงหมูรายอื่นๆ ในตลาด ดังนั้น ทางร้านจึงจำเป็นต้องขยับราคาขายเพิ่มขึ้นอีกจานละ 5 บาท เป็น 50-55 บาท ทั้งนี้ ตนต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาทางแก้ไขปัญหาทั้งระบบโดยด่วน ก่อนที่สถานการณ์หมูจะบานปลายไปมากกว่านี้

ที่ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจการจับจ่ายเลือกซื้อสินค้า โดยเฉพาะเนื้อหมูสด ที่ตลาดสดเทศบาล 1 ภายในเขตเทศบาลนครขอนแก่น หลังพบว่าราคาจำหน่ายเนื้อหมู ภาพรวมทั้งประเทศมีการปรับราคาจำหน่ายที่สูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ โดยบรรยากาศโดยทั่วไปที่ตลาดสดเทศบาล 1 วันนี้แผงจำหน่ายหมูสดแทบทุกแผง มีการปรับราคาจำหน่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสันคอหมู, หมูสามชั้น ที่มีราคาปรับขึ้นไปสูงถึงกิโลกรัมละ 240 บาท หมูเนื้อแดง, ซี่โครง ราคากิโลกรัม 200 บาท ส่วนราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปรับราคาสูงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 100 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 106 บาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เร่งให้มีการติดตามกรณีปัญหาราคาเนื้อหมูที่มีการปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหารือเพื่อดูแลแก้ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ล่าสุดเพื่อแก้ปัญหาในระยะอันใกล้นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยแนวทางหนึ่งที่มีการพูดถึงคือ การชะลอการส่งออกสุกร เพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อทำให้ราคาของเนื้อสุกรในตลาดลดต่ำ รวมทั้งขอความร่วมมือ ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ตรึงราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง ขอความร่วมมือผู้ค้า อย่าเพิ่งฉวยโอกาสจำหน่ายราคาเนื้อสุกรที่แพงเกินสมควร โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับระยะกลาง-ยาวนั้น รัฐบาลจะมุ่งเน้นให้กรมปศุสัตว์ส่งเสริมเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเดิม ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม มีการขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรกับผู้เลี้ยงรายเล็ก-ย่อยมากขึ้น เพื่อเฝ้าติดตาม ควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคในสุกร และจะมีการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเลี้ยง โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ

“นายกฯ เป็นห่วงเรื่องราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยได้เร่งให้มีการติดตามและออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งบ่ายนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งจัดการประชุมเร่งด่วนหารือภาพรวมทั้งหมดเกี่ยวกับสินค้าแพง ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมนำเข้า หารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการ บูรณาการในการแก้ปัญหาหมูแพง รวมทั้งราคาสินค้าแพงอื่นๆ ด้วย” นายธนกรกล่าว

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 1/2565 พร้อมด้วยนายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายโสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่ห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์กล่าวว่า วันนี้ได้มีการพิจารณา ห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.65 ถึง วันที่ 5 เม.ย. 65 เป็นการชั่วคราว และจะพิจารณาตามสถานการณ์ว่าควรให้มีการต่ออายุหรือไม่ โดยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คาดว่าจะช่วยให้มีหมูเป็นกลับเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมประมาณ 1 ล้านตัว และที่ประชุมสั่งการให้ผู้เลี้ยงที่มีปริมาณการเลี้ยงเกิน 500 ตัว ผู้ค้าส่งที่มีปริมาณเกิน 500 ตัว ห้องเย็นที่มีการเก็บสต๊อกเกิน 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ดำเนินการแจ้งสต๊อกให้กรมการค้าภายในรับทราบ รวมทั้งแจ้งราคา ในทุก 7 วัน เริ่มวันที่ 10 ม.ค. 65 เป็นต้นไป เพื่อให้ทราบปริมาณหมูเป็นทั้งหมดที่อยู่ในระบบ รวมทั้งหมูแช่แข็ง แช่เย็น รวมกันทั้งประเทศว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน