ข่าว

ประยุทธ์ โต้ทุกเม็ด "ปมเหมืองทองอัครา" อ้างใช้กฎหมายอย่างชอบธรรมแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โต้ทุกเม็ด ยัน รัฐบาล คสช. ใช้กฎหมายอย่างชอบธรรม แก้ปัญหาหมักหมม "เหมืองทองอัคราฯ" ด้าน สุริยะ ป้องนายกฯ ชี้เจรจา เลื่อนคำชี้ขาดในชั้นอนุญาโตตุลาการ เป็นความเท็จ แฉ ทักษิณ เป็นคนอนุญาตให้สำรวจ ทำเหมืองแร่ 

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงประเด็น "เหมืองทองอัคราฯ" ว่า รัฐบาลในทุกยุคสมัยจะมีหน้าที่ในการพิจารณานำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม สถานการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535-44 รัฐบาลในช่วงนั้นก็ได้เห็นชอบตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2510 เชิญชวนให้มีการลงทุนด้วยการลดค่าภาคหลวงแร่ ออกใบสำรวจ ออกใบอนุญาตประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมสนับสนุนให้มีการทำเหมืองทองในจังหวัดพิจิตร

 

ซึ่งนายกฯ ในขณะนั้น ได้เดินทางไปเปิดเหมืองผลิตทองคำเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศและผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันยังเป็นบริษัทเดิมอยู่ จนกระทั่งปี.2554 รัฐบาลต่อมาได้ระงับต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 1 แปลง ด้วยเหตุความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งปัญหาการฟ้องร้อง ขั้นตอนการออกใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสุขภาพ และสารพิษตกค้างจากการทำเหมือง

นายกฯ กล่าวต่อว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้าช่วงรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารบ้านเมือง ในขณะนั้น ถือว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ รัฐบาลก็ได้พิจารณาการนำเอาทรัพยกรธรรมชาติออกมาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งจำนวนมาก แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช. ที่ต้องทบทวนข้อกฎหมาย และกรอบนโยบายการทำเหมือง เพื่อจะลดปัญหาที่หมักหมมมานาน รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการใดๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็น

 

ภายหลังการปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2560 มีการออกนโยบายการทำ "เหมืองแร่" ใหม่ มีบริษัทเอกชนที่มีความสนใจจะทำเหมืองต่างๆ ได้เข้ามาขอใบอนุญาตใหม่และขอต่อใบอนุญาตเดิมกว่า 100 ราย ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามปกติ หากบริษัทเอกชนใด ๆ มีขีดจำกัด และขีดความสามารถทำตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด และเข้ามาขออนุญาตตามขั้นตอน ก็มีสิทธิได้รับใบอนุญาต บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด หรือ คิงส์เกต ก็เป็นบริษัทหนึ่ง ที่ถึงแม้ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีคดีความฟ้องร้องต่อรัฐบาลไทย

แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่มีต่อบริษัทของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นต่อบริษัทแม่ของบริษัทคิงส์เกตฯ ที่จะเดินเรื่องขอต่อใบอนุญาต ดังนั้น การที่มี พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2560 ขึ้นมาใหม่นั้น ทางบริษัทอัคราฯ ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอต่ออายุทั้ง 4 แปลงที่ยังคงค้างอยู่ ตามกรอบเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ ซึ่งบริษัทอัคราฯ ก็ทำตามขั้นตอนเหมือนบริษัทเอกชนอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการได้รับการต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 4 แปลงนั้น โดยไม่ได้เป็นการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลใด ๆ ทั้งสิ้น

 

ผมขอให้การอภิปรายนี้เป็นไปด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของประเทศเรา โดยคำถามหลายข้อเกิดจากความอนุมานของผู้อภิปรายเอง ที่พยายามจะบิดเบือนให้ประชาชนเห็นว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง ส่วนการใช้มาตรา 44 ผมไม่เข้าใจว่าผู้อภิปราย มีความพยายามและความปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อผลประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ เหมือนต้องการให้ประเทศเราเสียหาย อยากให้ผมมีความผิดในการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายปกติตามคำแนะนำของกระทรวงยุติธรรม ถ้าผู้อภิปรายเห็นว่าการดำเนินการนั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็ควรอธิบายให้เกิดความเข้าใจ ไม่ควรมาผูกกับเรื่อง "เหมืองทอง" เพื่อประโยชน์ของใครก็แล้วแต่

 

ผมขอถามว่า ปัญหาที่นำมาอภิปรายในวันนี้ บางเรื่องเคยได้รับการแก้ไขหรือไม่ บางอย่างอยู่ในกระบวนการ ถามว่าประเทศไทยจะไปตรงไหน แล้วมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้หรือไม่ ตามที่ท่านระบุตามมาตรา 152 เสนอมาได้ทุกเรื่อง ถ้าพูดง่าย ๆ ตีกันไปแบบนี้ ไม่เกิดอะไรกับประเทศชาติสักอย่าง ผมขอให้สภา เป็นสถานที่รับฟัง ผมพร้อมรับข้อเสนอแนะ แต่ถ้าท่านมุ่งหวังว่าจะตีรัฐบาล จะล้มรัฐบาล จะเอานายกฯ ออกให้ได้ ผมว่าไม่ถูก ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ มีการเอาใบลาออกมาให้เซ็น ก็ขอให้เก็บไว้ให้ตัวเองก็แล้วกัน เพราะผมยังไม่ลาออกทั้งนั้น นายกฯ กล่าว

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การต่อใบอนุญาต 4 แปลงดังกล่าวเป็นแปลงเดิม ที่อนุญาตตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 -2543 ถ้าตนจะถูกตีความว่า การต่อใบอนุญาตนั้นเป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติหรือยกสมบัติของชาติให้เอกชนตามอำเภอใจ ข้อกล่าวหานี้คงเป็นการกล่าวหาตั้งแต่รัฐบาลยุคนั้นหรือข้อกล่าวหาที่ว่าขัดต่อนโยบายเหมืองตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตนพยายามจะแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้ ขอยืนยันว่า การดำเนินการต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลไม่ได้ต้องการทำเหมือง หรือยึดเหมืองมาเป็นของรัฐ รัฐบาลยินดีต้อนรับนักลงทุนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ และประชาชน ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม เรื่องนี้ตนขอย้ำอีกครั้งว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ

 

สุริยะ ป้องนายกฯ ชี้เจรจา เลื่อนคำชี้ขาดในชั้นอนุญาโตตุลาการ เป็นความเท็จ เผย ทักษิณ อนุญาตให้สำรวจ ทำเหมืองแร่ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงปมเหมืองทองอัครากรณี น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่าการเจรจาเลื่อนคำชี้ขาดในชั้นอนุญาโตตุลาการทุกครั้ง ไทยจะมีสิทธิประโยชน์ให้บริษัทคิงส์เกต ว่า เป็นความเท็จทั้งสิ้น ส่วนเรื่องที่อ้างว่าคิงส์เกตนำข้อมูลในชั้นอนุญาฯ มาเปิดเผยได้ แต่ฝ่ายไทยกลับไม่เปิดเผย ขอเรียนว่าตามหลักการตราบใดที่ยังไม่ออกคำชี้ขาด ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามรถเปิดเผยข้อมูลได้ ซึ่งข้อมูลที่คิงส์เกตนำมาเปิดเผย ไม่ใช่ข้อมูลในคดีหรือจากการไต่สวน แต่เป็นข้อมูลในการยุติข้อพิพาทที่บริษัทอยากได้และเรียกร้อง ไม่ใช่ข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย ยืนยันหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมก็เปิดเผยข้อมูลเช่นกัน โดยออกเป็นข่าวประชาสัมพันธ์
    
สำหรับข้อกล่าวหาว่ามีการอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลง และอนุญาตให้ใช้ผงเงินผงทองที่ถูกอายัดไว้แต่แรก เพื่อแลกกับการให้คิงส์เกตถอนฟ้องไทยนั้น ก็ไม่เป็นความจริง โดยการอนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่ เริ่มเปิดเหมืองตรงกับยุครัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร โดยบริษัท อัคราฯ ยื่นขอสำรวจเมื่อปี 2546 – 2548 ต่อมาปี 2549 คำขออยู่ระหว่างการพิจารณาเตรียมเสนอขออนุมัติแต่เกิดรัฐประหารก่อน กระทั่งปี 2550 สมัยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชะลอการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน เพื่อจัดทำนโยบายทองคำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน 

กระทั่งปี 2557 ประชาชนรอบเหมืองประสบปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง และความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงส่งหน่วยงานจาก 4 กระทรวงลงไปตรวจสอบ และมีข้อเสนอให้ยุติการทำเหมืองไว้ก่อน แล้วมีคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 เมื่อ 3 ธ.ค.59 ให้ยุติการทำเหมืองชั่วคราว และให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปปรับปรุงการทำเหมืองทองคำใหม่ ต่อมา 1 ส.ค.60 ครม.มีมติรับทราบนโนบายทองคำ มีผลให้บริษัท อัคราฯ ยื่นขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษที่เคยยื่นค้างไว้ และที่บริษัท อัคราฯ ยังไม่กลับมาเดินเรื่องต่อทันที เพราะมีการฟ้องร้องคดีกันอยู่เกรงว่าจะกระทบรูปคดีในช่วงนั้น
    
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคาทองคำสูงขึ้น เป็นเหตุให้บริษัท อัคราฯ กลับมาขอสำรวจแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง จนอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ให้ในเดือน พ.ย.63 หากสำรวจเจอแหล่งแร่ และประกอบการทำเหมืองทองคำได้ รัฐจะได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวง และค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงมีการจ้างงานในพื้นที่ ที่สำคัญการออกอาชญาบัตร 4 แสนไร่ เป็นการให้สิทธิสำรวจแร่ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าไม่อนุญาตให้มีการสำรวจ ยืนยันว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษพื้นที่ 44 แปลง เป็นการดำเนินการตามระเบียบกฎหมายทุกประการ ไม่มีการแทรกแซงเร่งรัดแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดีแต่อย่างใด

ส่วนที่กล่าวหาว่าการอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ เอาผงทองไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนการถอนฟ้องคดีนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า ในอดีตบริษัท อัคราฯ จะนำผงทองคำ และเงิน ที่ได้จากการทำเหมืองมาหลอมเป็นแท่งโลหะทองผสมเงินส่งออกต่างประเทศ แต่ช่วงที่ คสช.ระงับการทำเหมืองตั้งแต่ 1 ม.ค.60 บริษัท อัคราฯ มีผงทอง ผงเงิน ค้างอยู่ ต่อมา 9 ส.ค.60 มีการยกเลิกการระงับการประกอบกิจการชั่วคราว ดังนั้นในหลักการบริษัท อัคราฯ สามารถนำผงทองคำ และเงิน ที่เหลือไปหลอมส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งไม่ใช่การนำทรัพยากรของชาติไปแลกแต่อย่างใด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ