ฟื้นสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบีย : โอกาสมหาศาลเศรษฐกิจไทย

ฟื้นสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบีย : โอกาสมหาศาลเศรษฐกิจไทย

การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ภาคเอกชนจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และช่วยทำให้การค้าของประเทศกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง ซึ่ง นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้า
แห่งประเทศไทย ได้ให้มุมมองต่อประโยชน์ที่ไทยจะได้รับไว้อย่างน่าฟัง

  • ด้านการส่งออก

หากดูสัดส่วนการค้า ในปี 2564 ไทยมีการทำการส่งออกไปประเทศซาอุฯ ประมาณ 1,500 ล้าน USD (ประมาณ 45,000 ล้านบาท) คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกทั้งหมดจากประเทศไทย (การค้ากับตะวันออกกลาง ประมาณ 8,000 ล้าน USD ต่อปี) หากประเทศไทยสามารถเปิดประตูการค้ากับซาอุฯได้มากขึ้น จะทำให้สัดส่วนทางการค้า การส่งออกไปประเทศซาอุฯกลับไปที่ประมาณ 2.2% ของการส่งออกทั้งหมด ได้เหมือนปี 2532 ซึ่งหมายถึงปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 5,000 ล้าน USD (ประมาณ 150,000 ล้านบาท) โดยไทยจะสามารถเจาะตลาด ได้ทั้งสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าอาหารและอาหารแปรรูป อาหารฮาลาล สินค้าเกษตร เครื่องจักรกล จิวเวลรี่ อุปกรณ์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด Medical Hub และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ซาอุฯถือเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลาง และมีแผนที่จะขยายและพัฒนาประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว ส่วนนี้จะเป็นโอกาสให้กับประเทศไทยในการส่งสินค้าไป ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม คือสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของการนำเข้าทั้งหมด เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของซาอุฯทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยด้วยเช่นกัน

  • ด้านการท่องเที่ยว

เมื่อปี 2562 ประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยประมาณ 40 ล้านคน โดยมาจากตะวันออกกลางประมาณ 7 แสนคน ซึ่งล้วนแต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและอยู่ในประเทศไทยนานมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งนั้น แต่เป็นนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ เพียง 36,000 คน ดังนั้น หากมีการเปิดประเทศ มีการประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสม จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวมาได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวซาอุฯ ก่อนเกิดปัญหา มีจำนวน 73,000 คน (ค่าเฉลี่ยปี 2530–2531) ซึ่งจากการยกเลิกการทำวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวซาอุฯ คาดว่าจะมีการเดินทางมาไทยประมาณ 150,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 13,500 ล้านบาท (คิดจากการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวซาอุฯ 90,000 บาทต่อราย ในปี 2562)

Advertisement
  • ด้านตลาดแรงงานไทย

ซาอุดีอาระเบียเคยเป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในช่วงปี 1970-1980 โดยทางการไทยประเมินว่า ในช่วงนั้นมีแรงงานไทยเดินทางเข้าไปทำงานในซาอุฯ (ทั้งแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย) จำนวนมากถึง 200,000 คน และส่งเงินกลับประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี การกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุฯในครั้งนี้ จะทำให้แรงงานไทยมีโอกาสกลับไปทำงานในซาอุฯอีกครั้ง เนื่องจากซาอุฯเอง ก็ยังมีความต้องการว่าจ้างแรงงานต่างชาติให้เข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ รวมถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงาน เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งนี้ แม้ว่าซาอุฯจะมีคนว่างงานจำนวนมาก แต่คนท้องถิ่นก็ไม่ค่อยมีความชำนาญในด้านงานก่อสร้างและงานฝีมือ ทำให้แรงงานไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของซาอุดีอาระเบีย

ดังนั้น เมื่อซาอุดีอาระเบียเปิดโอกาสให้แรงงานไทยขอใบอนุญาตทำงาน (วีซ่า) อีกครั้ง คาดว่าจะทำให้จำนวนแรงงานไทยในซาอุฯเพิ่มขึ้น จากจาก 10,000 คนในปัจจุบัน เป็น 100,000 คนในระยะ 3 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คน ในระยะ 5 ปี เท่ากับปี 2532 ซึ่งจะทำให้มีรายได้ส่งกลับจากแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 4,500-9,000 ล้านบาทต่อปี

  • ด้านการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI)

แม้ว่าโอกาสที่ซาอุดีอาระเบียจะขยายการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) มายังประเทศไทยในระยะสั้นอาจจะมีไม่มากนัก แต่เมื่อความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศถูกฟื้นฟูก็จะมีผลทำให้นักธุรกิจมีการติดต่อเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้นักธุรกิจซาอุดีอาระเบียนำเงินมาลงทุนยังประเทศไทยทั้งในระยะกลางและระยะยาว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียได้มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผนการปฏิรูป Vision 2030 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนในการเพิ่มสัดส่วน GDP จากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 65 นอกจากนั้นแผนการปฏิรูปดังกล่าว ยังต้องการเพิ่ม GDP การส่งออก (ในภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน) จากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 50 พร้อมทั้งวางเป้าหมายที่จะลดอัตราการว่างงาน จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 7 โดยการขับเคลื่อนให้แผนการปฏิรูปฯเกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนระหว่างกัน โดยทั้งไทยและซาอุฯสนใจลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวในกลุ่มธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนั้นทางซาอุฯยังมีโอกาสที่จะย้ายการดำเนินการ Head Quarter ที่ในภูมิภาคนี้มาที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งท้ายที่สุด เมื่อผู้ประกอบการไทยได้กำไรจากการลงทุนดังกล่าวแล้ว ก็จะส่งกำไรกลับมายังประเทศไทย เป็นรายได้เข้าประเทศต่อไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล ดังนั้น ภาคเอกชนของไทยต้องใช้โอกาสอันดีนี้ต่อยอดและขยายผล ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อธุรกิจของตเองแล้ว ยังส่งผลดีต่อภาพรวมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

โดยหอการค้าไทย ได้หารือกับภาคเอกชนของทางซาอุฯ นอกรอบมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อเตรียมการส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะมีการเซ็น MOU ความร่วมมือกันต่อภายในครึ่งปีแรกนี้ จากการที่ภาครัฐได้ไปเยือนในครั้งนี้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบกับ นายอิซอม ซอเละห์ เอช. อัลจีเตลี อุปทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ เศรษฐกิจ การค้า แ ละหารือโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อต้นเดือน ม.ค. 65
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image