posttoday

‘สุริยะ’ประกาศเดินหน้า BCG Model ดันไทย Bio Hub อาเซียน ปี’70

24 พฤศจิกายน 2564

“สุริยะ” ย้ำ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมขับเคลื่อนศก.ไทย ยกระดับโครงสร้างธุรกิจ กระตุ้นการลงทุน เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ในอนาคต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.อุตสาหกรรม  กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาออนไลน์  “BCG The New Growth Engine พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดโดยโพสต์ทูเดย์ ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกและสังคมไทย ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากปัญหาอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง จนทำให้เกิดของเสียจำนวนมาก ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจ ต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน นั่นคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในมิติสิ่งแวดล้อม แม้การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู รวมทั้งเกิดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง แต่ก็เป็นผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้ขยะทางการแพทย์ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากบริการ Delivery ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการคลายล็อคดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เริ่มกลับมาดำเนินได้เป็นปกติ เศรษฐกิจของประเทศทั้งการผลิตและการบริโภคกลับมาคึกคัก ก็อาจส่งผลให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทวีความรุนแรงขึ้นได้ หากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งหาวิธีบริหารจัดการ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการหาหนทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้ตามปกติโดยเร็วภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ซึ่งเป็นการบูรณาการ การพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ คือ  เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)  เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ได้นำองค์ความรู้มาต่อยอดฐานความเข้มแข็งภายในประเทศ คือ ความหลากหลายทางชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาติ ทั้งในเรื่องการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยรัฐบาลได้กำหนดให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปด้วย เพื่อให้สอดรับกับวาระแห่งชาติดังกล่าว

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง  ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางสังคมและสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกขับเคลื่อน 6 ด้าน ได้แก่ 1) การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม

2)เงินทุน สิทธิประโยชน์และรางวัล 3) การพัฒนากำลังคน และ ความสามารถ 4)การบ่มเพาะ สร้าง และยกระดับผู้ประกอบการและรูปแบบธุรกิจใหม่ 5) มาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนา BCG 6) การสร้างและพัฒนาตลาดด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดอุตสาหกรรมออนไลน์ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาทั้ง 3 เศรษฐกิจ B C และ G ไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ BioEconomy ของภาคอุตสาหกรรม นั้น ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพและชีวเภสัชภัณฑ์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้บูรณาการการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีความคืบหน้า เป็นลำดับ ทั้งในด้านการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมประเภทกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2563 รวมทั้งการปรับแก้ไขสีผังเมือง เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพในพื้นที่ศักยภาพ 

ด้านการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยมีโครงการที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท  อาทิ โครงการผลิตน้ำยาล้างไต และโครงการผลิต Poly Lactic Acid (PLA) จังหวัดระยอง โครงการ Palm Biocomplex จังหวัดชลบุรี  โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ได้แก่ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เสนอภายใต้มาตรการฯ และโครงการที่ขยายผลเพิ่มเติมในพื้นที่ศักยภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อน ให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนโดยคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 130,000 ล้านบาท

ด้านการกระตุ้นอุปสงค์ ได้มีการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพให้แก่ผู้ผลิต เพื่อนำไปใช้ในการขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรการภาษีส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ จำนวน 5 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 50 ใบรับรอง

รวมถึงการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ โดยการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบ รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ณ จังหวัดชลบุรี ด้วย

สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป กระทรวงฯจะเดินหน้าขยายผลมาตรการสู่ภูมิภาค พร้อมประชาสัมพันธ์มาตรการ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดการลงทุน ขยายผลการจัดตั้ง Bio Hub ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในแง่ของการสร้างการจ้างงาน การกระจายรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่

ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อ การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้อุตสาหกรรมในยุค 4.0  เป็นกลไกในการสร้างการเติบโตอย่างสมดุลในทุกด้าน ไม่เพียงแต่เฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมาย

การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก กระทรวงฯ จึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี โดยแนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตจากรูปแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร

ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย และการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “Maximize Economic Value and Minimize Environmental Impact” ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีศักยภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-efficiency) การเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมจากของเสีย/วัสดุเหลือใช้ (Upcycling)และการส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจ สร้าง Circular Enterprises/Start ups

รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศ (Eco-system)  ให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน ซึ่งแนวทางที่กระทรวงฯ เสนอได้ถูกนำไปผนวกรวมไว้ในแผนขับเคลื่อนการพัฒนา BCG Model ของประเทศ ที่มีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้แนวทางดังกล่าวยังได้รับการขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงฯ จนเกิดผลเป็นรูปธรรมในหลายเรื่อง อาทิ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีเทคโนโลยีเด่น คือ เทคโนโลยีรีไซเคิลซาก Solar Cells ครบวงจร และอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี รีไซเคิลแบตเตอร์รีรถยนต์ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการผ่านการมอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดทำ Zero Waste to Landfill Certificate การบ่มเพาะ/ ยกระดับผู้ประกอบการ ผ่านการส่งเสริมการจัดตั้งสถานประกอบการคัดแยก ขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์

การพัฒนามาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับองค์กร และมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน รายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลและระบบติดตามผลิตภัณฑ์ ของเสีย/ วัสดุเหลือใช้ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียนตามประเด็นพัฒนาข้างต้น จะนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาและลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดความสมดุลและก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จะมีโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทน เช่น การได้รับใบรับรอง ตราสัญลักษณ์ หรือ โล่รางวัลจากกระทรวงฯ ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบการได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว รวมจำนวนกว่า 43,000 โรงงาน

นอกจากนี้กระทรวงฯยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ตามประเด็นที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ไม่น้อยกว่า 40 พื้นที่ใน 37 จังหวัด โดยปัจจุบันมีแผนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวม 53 พื้นที่ 39 จังหวัด และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566-2570

เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในภาพรวมของประเทศและถ่ายทอดสู่การพัฒนาในระดับพื้นที่ต่อไป โดยกระทรวงฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านทั้งหลาย ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ BCG Economy  Model นั้นจำเป็นต้องอาศัยการ บูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ในวันนี้ เราได้เห็นความพยายามและความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการนำ BCG Model มาเป็นคำตอบของปัญหา ทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ การดำเนินโครงการนำร่องโดยภาคเอกชน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งผลสำเร็จจากการดำเนินการเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ จากการลดต้นทุนและการมีประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น ในด้านสังคม ที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ระดับฐานรากในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม

รวมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้งภายหลังสถานการณ์ โควิด-19 และมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งในการเผชิญกับสถานการณ์โลกที่ผันผวน บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองและการพัฒนาที่ยั่งยืน ถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะต้องร่วมกัน “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในยุค New Normal ผ่านกลไก BCG Economy เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” อันจะนำพาประเทศไปสู่การเติบโต อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติต่อไป