posttoday

รัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อกระทบศก.ไทยเสียหาย 2.4 แสนล้าน

09 มีนาคม 2565

หอการค้าไทย ประเมินพิษรัสเซีย-ยูเครนตลอดปี’65 ฉุดจีดีพีเหลือ 2.7 % เสียหาย 2.44 แสนล้านบาท ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นฯเดือนก.พ. ร่วงเป็นเดือนที่2 ต่ำสุดรอบ5 เดือน

รศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  เปิดเผยถึงผลกระทบข้อพิพาทรัสเซีย-ยูเครนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ว่าผลกระทบทางตรงต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังพื้นที่พิพาทลดลง 70-90 % เนื่องจากกำลังซื้อหดตัวลงมา ขณะที่การขนส่งมีความยุ่งยากใช้เวลาและมีต้นทุนสูง นอกจากนี้รายได้จากนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มหายไป 80-100% เนื่องจากกำลังซื้อในพื้นที่หดตัวลงมาก การเดินทางมีความยุ่งยาก

ขณะเดียวกันต้นทุนวัตถุดิบต้องจัดหาแทนจากพื้นที่อื่นๆเพิ่มขึ้น เช่นธุรกิจหาอาหารสัตว์ จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ  โดยสินค้าที่ไทยนำเข้ารัสเซียอันดับแรกๆ คือน้ำมันดิบ  ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ขณะที่ยูเครนนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช  และเหล็ก

นอกจากนี้ผลกระทบทางอ้อมคือค่าเงินบาทผันผวน  อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบมีโอกาสแตะ120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น และทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลง

อย่างไรก็ตามได้จัดทำสมมุติฐานกรณีผลกระทบรัสเซีย-ยูเครนไว้ 3 ระดับ คือ กรณีความขัดแย้งจบใน 3เดือนเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 73,425 ล้านบาท  กรณีความขัดแย้งจบใน 6 เดือน มูลค่าความเสียหาย 146,850 ล้านบาท และกรณีความขัดแย้งยืดเยื้อตลอดปี 2565 มูลค่าความเสียหาย 244,750 ล้านบาท  

รัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อกระทบศก.ไทยเสียหาย 2.4 แสนล้าน

สำหรบผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่า  ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต 

นอกจากนี้ การที่ระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 28.5 มาอยู่ที่ 27.5 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำมากแสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 52.5 มาอยู่ที่ระดับ 50.8 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากเช่นเดียวกันและอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“ภาวะสงครามยืดเยื้อและบานปลาย  อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากล่าสุดแตะระดับ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงคราม"