posttoday

แบงก์ชาติห่วงแล้ว โควิดระบาดโรงงานหนักทุบเศรษฐกิจยับ

01 สิงหาคม 2564

แบงก์ชาติ ห่วงโควิดคลัสเตอร์โรงงานหวั่นกระทบส่งออก ทุบเศรษฐกิจยับ

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน ก.ค. 2564 ยังมีแนวโน้มปรับลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น และยังต้องติดตามความเสี่ยงจากปัญหา supply disruption จากการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจทำให้บางโรงงานต้องหยุดผลิตชั่วคราว และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่รุนแรงต่อเนื่อง จนส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายพิจารณาย้ายสายการผลิตไปอยู่ในประเทศคู่ค้าแทน

“ต้องยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม เป็นความน่ากังวลและความเสี่ยงหนึ่งต่อภาคการส่งออกของไทยที่กำลังขยายตัวได้ดีขึ้น แน่นอนว่าปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะกลายเป็นผลกระทบในระยะสั้นกับผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ได้มีการปรับตัว และพยายามดูแลการผลิตให้เดินหน้าต่อเนื่องมากที่สุด ส่วนผลกระทบในระยะต่อไปกับภาคการส่งออกนั้น คงต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 4 ส.ค. นี้” นางสาวชญาวดี กล่าว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากไตรมาสก่อน แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังอ่อนแอ เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัวสูงถึง 36.2% ซึ่งช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าไตรมาสก่อน ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น

นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า ในส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. 2564 พบว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอ โดยขยายตัวติดลบ 1.2% แม้ปรับดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สอดคล้องกับรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่อ่อนแอจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวที่ 46.1% จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้นส่งผลให้การส่งออกยังเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การส่งออกเหล็กเร่งขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเปลี่ยนไปเน้นตลาดส่งออกมากขึ้นในช่วงที่ความต้องการในประเทศลดลง ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการส่งออก ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับลดลงต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง

นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการผลิตหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ โดยปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และ เซมิคอนดักเตอร์ยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตหมวดอาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางปรับดีขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการส่งออก

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่ยังยืดเยื้อ ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเปราะบางมากขึ้น จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง