posttoday

เกษตรกรเฮ!ครม.อนุมัติจ่ายประกันรายได้ข้าว-ยาง

30 พฤศจิกายน 2564

มติครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้ข้าว 7.6 หมื่นล้านบาท -สวนยาง 1 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มจ่าย ธ.ค.

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ได้เสนอ 2 เรื่อง 1.เรื่องข้าว เห็นชอบวงเงินประกันรายได้ 76,000 ล้านบาท 2.เห็นชอบเงินสำหรับการช่วยเหลือพัฒนาปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท จำนวนรายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับการจ่ายเงินประกันรายได้หรือส่วนต่างของข้าวนั้น ที่ผ่านมาจ่ายไปแล้ว 2 งวด เป็นเงิน 13,000 ล้านบาท ยังค้างอยู่อีก 31 งวด ซึ่งวันนี้ที่ประชุมอนุมัติวงเงินให้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ต้องไปประชุม เพื่อให้ความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี และจะได้จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 3 ต่อไป ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งตนคาดว่าไม่น่าจะเกินกลางเดือนธันวาคมจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างได้ หรือเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการประชุมของบอร์ด ธ.ก.ส.ต่อไป

สำหรับยางพารา ที่ประชุมเห็นชอบวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา เมื่อผ่านที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.เช่นเดียวกับข้าว จะจ่ายเงินส่วนต่างได้ คาดว่าไม่เกินกลางเดือนธันวาคมเช่นเดียวกัน แต่ตนคาดว่าจะเร็วกว่านั้น

สำหรับยางพาราไม่คิดว่าจะ ใช้เต็มวงเงิน แต่เตรียมวงเงินไว้เพราะขณะนี้ราคายางพาราถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก น้ำยางข้น ประกันรายได้กิโลกรัมละ 57 บาท แต่ราคาแตะ 60 กว่าบาทแล้ว ยางก้อนถ้วยประกันรายได้กิโลกรัมละ 23 บาท แต่ขณะนี้ราคาไป 24-26 บาทแล้ว ถือว่าเกินรายได้ที่ประกันไว้ ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างและเกษตรกรพอใจ

ภาพรวมสำหรับราคาพืชผลการเกษตรดีเกือบทุกตัว ยกเว้นข้าว ตอนนี้ที่ราคาลงมาแต่ตัวอื่นดีหมด เช่น ปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท ขณะนี้ราคา 8-9 บาท มันสำปะหลัง ประกันที่กิโลกรัมละ 2.50 บาทตอนนี้ 2.60-2.80 บาท ข้าวโพดประกันรายได้ กิโลกรัมละ 8.50 บาท ราคาขึ้นไป 9.50-10 บาท ในบางช่วง และตัวอื่นๆยกเว้นข้าว แต่ตอนนี้ราคาข้าวกระเตื้องแล้วเพราะราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ความชื้นมาตรฐานไม่เกิน 15% ตกกิโลกรัมละ 8,000 กว่า

สำหรับวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้ในปีหน้าต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มของราคาพืชผลการเกษตรในช่วงปีงบประมาณหน้า ที่จะเป็นปัจจัยนำมาสู่การคิดคำนวณว่าเงินส่วนต่างต้องใช้เท่าไหร่ แต่ทั้งหมดอยู่ที่นโยบายว่าจะให้ใส่ในงบประจำหรือดำเนินการในรูปแบบใช้เงิน ธ.ก.ส. สำรองล่วงหน้าแล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณชดใช้ภายหลังสำหรับกระทรวงพาณิชย์และตน พร้อมที่จะดำเนินการไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด

สำหรับการส่งออกขนาดนี้การส่งออกข้าวเริ่มดีขึ้น ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกค่าเงินบาทแข็งมากและไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ตอนนี้เราสามารถแข่งกับคู่แข่งได้ ยอดส่งออกก็กระเตื้องขึ้นมาเยอะ เดี๋ยวนี้เดือนละ 7-8 แสนตัน และสิ้นปีนี้อาจจะไปถึงเป้าหมาย 6,000,000 ตัน ตามที่ตั้งเป้าไว้สำหรับการส่งออกข้าวของไทยปีนี้ และอีกไม่กี่วันอาจจะมีการประสบความสำเร็จในการเจรจาขายข้าวหอม ข้าวคุณภาพสูง กับฮ่องกงอีกประมาณ 10,000 ตัน คาดว่าจะมีโอกาสสำเร็จ

ในยุทธศาสตร์ข้าวซึ่งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข.ได้ให้ความเห็นชอบ และตนเป็นประธานกำหนดแนวทางซึ่ง มีรายละเอียดชัดเจน ทั้งเรื่องลดต้นทุนการผลิต จากไร่ละ 6,000 บาท ให้ไม่เกิน 3,000 บาท และเพิ่มผลผลิตจาก 465 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ให้ได้ รวมทั้งเพิ่มพันธุ์ใหม่ เพราะจุดอ่อนของประเทศไทยไม่มีข้าวพันธุ์ใหม่ที่สนองความต้องการตลาดได้ ซึ่งจะเพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ใน 5 ปี (2564-2567)ให้ได้ 12 พันธุ์ ซึ่งเป็นข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์ และข้าวโภชนาการสูง 2 พันธุ์ กำหนดให้มีการรายงานความคืบหน้าในที่ประชุม นบข.ทุก 3 เดือน คิดว่าต่อไปนี้ท่านนายกนั่งหัวโต๊ะคงจะมีการรายงานติดตามว่าคืบหน้าถึงไหนในแต่ละเรื่อง