FTA กู้วิกฤตส่งออก 2 เดือนแรก ยอดพุ่ง 24.3%

ผลไม้

การส่งออกไทยปี 2564 เผชิญกับปัญหาทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ขาดและมีราคาค่าระวางสูง รวมถึงค่าเงินบาท ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ความตกลงการค้าเสรี” (FTA) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มแต้มต่อการแข่งขันการส่งออกของไทยให้เติบโตตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดไว้ที่ 4% ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันไทยทำความตกลง FTA กับ 18 ประเทศ รวม 13 ฉบับ และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก 1 ฉบับ คือ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ RCEP ที่มีเป้าหมายจะให้มีผลบังคับใช้ได้ในปี 2565 จะมาเป็นหนึ่งตัวช่วยให้ส่งออกเติบโตขึ้น

จากการติดตามการใช้เอฟทีเอในปี 2563 พบว่า แม้ประเทศไทยจะเจอปัญหาโควิด-19 แต่หากพิจารณาตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ มีมูลค่า 276,303 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 63% ของการค้าของไทยทั้งหมด โดยเป็นการส่งออก มูลค่า 140,826 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 61% ของการส่งออกของไทย และเป็นการนำเข้า มูลค่า 135,477 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 66% ของการนำเข้าทั้งหมด

สินค้าเกษตร อาทิ กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ ส่งออก 14,876 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 และคิดเป็น 71% ของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปโลก โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ กัมพูชา ขยายตัว 140% ฮ่องกง ขยายตัว 19% สิงคโปร์ ขยายตัว 18%

สินค้าเกษตรที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 259% ปศุสัตว์อื่น ๆ 815 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 78% ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 4,088 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12% และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 2,676 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% เป็นต้น

ขณะที่สินค้าเกษตรแปรรูปของไทยถึงแม้การส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอปรับตัวลดลง 5.8% โดยมีมูลค่าส่งออก 11,070 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่พบว่าความต้องการสินค้าดังกล่าวของไทยในหลายประเทศเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ เปรู ชิลี โดยสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขยายตัว คือ สินค้ากลุ่มอาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

และเมื่อดูตัวเลขการส่งออกช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 สินค้าเกษตรไทยส่งออกไปยังประเทศคู่เจรจาภายใต้เอฟทีเอ ขยายตัว 24.3% มีมูลค่า 2,654 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดที่ไทยส่งออกมากสุด เช่น จีน อาเซียน เกาหลีใต้ สินค้าที่ส่งออก เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้แช่เย็น แช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งตลาดที่ไทยเป็นคู่เจรจานั้นภาษี 0% ทำให้โอกาสการค้าการส่งออกไทยมีเพิ่มขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ส่งออก เกษตรกร เพิ่มช่องทางการแข่งขันและโอกาสการส่งออก

ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงได้เร่งกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอมากขึ้น โดยลงพื้นที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างโอกาสเพื่อช่องทางการส่งออก เมื่อสินค้าดีมีคุณภาพ เพียงเพิ่มมาตรฐานเชื่อว่าสามารถทำตลาดได้ดีขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2564 กรมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สภาเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่สร้างความรู้ ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงที่ประเทศไทยเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก ในพื้นที่เป้าหมาย

เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิจิตร ตราด จันทบุรี กระบี่ พะเยา เป็นต้น และในสินค้าเกษตรเป้าหมาย เช่น กาแฟ กล้วยหอม ผลไม้ ข้าว เป็นต้น จากปีที่ผ่านมาที่ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้กับกลุ่มปศุสัตว์ถึงโอกาสการส่งออกภายใต้เอฟทีเอ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2-3 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา กรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ที่ปลูกกล้วยหอม และเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ได้รับรู้ถึงโอกาสทางการตลาดของไทยกับประเทศคู่ค้าภายใต้เอฟทีเอ และที่สำคัญ หากสินค้าไทยได้มาตรฐานและคุณภาพ โอกาสจะส่งออกได้มากขึ้นก็ยิ่งสูง

โดยกรมใช้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ตลาดตอนนี้ต้องการอะไร ไทยมีอะไรที่เป็นแต้มต่อที่จะขยายส่งออกได้ ปัจจุบัน เช่น ตลาดกาแฟมี 14 ประเทศที่ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าไทย เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และตลาดกล้วยหอมมี 15 ประเทศที่ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าไทย เช่น จีน ชิลี เปรู ฮ่องกง เป็นต้น ตลาดมะม่วงมี 15 ประเทศยกเลิกภาษีนำเข้าไทย เช่น จีน ฮ่องกง อาเซียน

“สินค้าเกษตรของไทยยังมีโอกาสส่งออกไปในตลาดที่อยู่ภายใต้เอฟทีเอ และก็มีเกษตรกรหลายรายที่มีศักยภาพแต่อาจจะยังไม่มีความรู้และช่องทางในการเพิ่มตลาดส่งออก กรมจึงต้องการผลักดันและเปิดโอกาสให้เกษตรกรมากขึ้น รวมทั้งกรมยังนำเกษตรกร สินค้าที่มีศักยภาพนำไปร่วมงานแสดงสินค้าอาหารที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าและเปิดโอกาสได้เจรจาธุรกิจด้วย ซึ่งกรมก็จัดมาต่อเนื่องในปีนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณานำเกษตรกรเข้าร่วม ส่วนปีที่ผ่านมานำเกษตรกรกลุ่มนมและชาเข้าร่วม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี”

และที่สำคัญในปี 2564 กรมมีแผนจะเร่งเจรจาเอฟทีเอทั้งกับประเทศที่ยังเจรจาค้างอยู่ เช่น ตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา รวมทั้งเตรียมเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) สหราชอาณาจักรแคนาดา และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) เพื่อขยายโอกาสทางการค้า และการลงทุนไทยภายใต้วิกฤตในปัจจุบันด้วย

ประกันรับซื้อ “กล้วยหอมแปลงใหญ่” 14 บ./กก.

กล้วยหอมเป็นสินค้าเป้าหมายที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการส่งออกภายใต้ FTA พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกให้มีต้นทุนต่ำลง และได้มาตรฐาน

นางศรีนวล ทองเหลือง ประธานแปลงใหญ่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมแปลงใหญ่ในการปลูกกล้วยหอม 78 ราย กว่า 400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ในอำเภอแม่แตง ซึ่งอนาคตคาดว่าจะขยายพื้นที่และสมาชิกเพิ่มขึ้น

จากเดิมที่เกษตรกรปลูกกระเทียม ข้าวโพดหวาน ข้าว ราคาตกช่วงที่สินค้าล้นตลาดทำให้รายได้ลดลง จึงทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกล้วยหอมมากขึ้น เพราะมีลูกค้าที่ประกันรายได้รับซื้อ โดยเฉพาะการส่งออกกล้วยหอมไปตลาดญี่ปุ่นตามเอฟทีเอ ได้มีการประกันราคา กก.ละ 14 บาท แต่ต้องมีการคัดเกรดให้ได้ตามมาตรฐาน GAP จึงจะเป็นที่ยอมรับ

ทั้งนี้ การหันมาปลูกกล้วยหอม โดยการรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและรับการส่งเสริมจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ผลจากโควิด-19 ทำให้พบปัญหาในการจำหน่ายบ้าง เนื่องจากโควิด-19 ทำให้การบริโภคสินค้าลดลง กล้วยหอมขายไม่ได้ ผู้ซื้อจึงรับซื้อน้อยส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาด แม้จะทำการแปรรูปก็ยังมีสินค้าตกค้างบ้าง

ดังนั้น สิ่งที่เกษตรกรต้องการ คือ การส่งเสริมการตลาดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งบฯสนับสนุนในการจัดพื้นที่รวบรวมรับซื้อกล้วยหอม รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกให้ได้คุณภาพ พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ตลอดทั้งปี