ส่งออกมีนาคมทุบสถิตินิวไฮ 8.7% อานิสงส์ “วัคซีน-ยางพารา-เศรษฐกิจโลกฟื้น”

ขนส่งสินค้าทางเรือ

วัคซีนมา-เศรษฐกิจโลกฟื้น ดันส่งออกไทยมีนาคม 64 โต 8.7% สูงสุดในรอบ 28 เดือน ส่งผลให้ไตรมาส 1 ส่งออกได้ 2.27% “ยางพารา” ส่งออกทะลุ 109%-ตลาดอียูนำโด่งโต 32% “พาณิชย์” มั่นใจโควิดรอบ 3 ไม่กระทบจ่อปรับประมาณการส่งออกอีกครั้ง ชี้หากส่งออกเฉลี่ยได้ 20,391 ล้านเหรียญสหรัฐ มีโอกาสคว้ายอดเป้าหมายโต 7%

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่า 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นยอดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยขยายตัว 8.47% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งยังสูงสุดในรอบ 28 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าดีขึ้น มีผลต่อการนำเข้าสินค้า

ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวถึง 11.97% สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,511.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.12% ดุลการค้าเกินดุล 710.80 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออกขยายตัว 2.27% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ไตรมาสแรกขยายตัวที่ 7.61% การนำเข้า มูลค่า 63,632.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.37% เกินดุล 515.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ หากจะผลักดันการส่งออกไทยทั้งปี 2564 ให้ขยายตัว 4% จะต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 19,620 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากจะผลักดันให้ส่งออกทั้งปีโต 6% ต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 20,134 ล้านเหรียญสหรัฐ และโต 7% เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 20,391 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ทิศทางการส่งออกที่เป็นไปในทิศทางที่ดี แนวโน้มอาจจะมีการพิจารณาปรับประมาณการส่งออกอีกครั้งว่าจะดีขึ้นจากเป้าหมาย 4% ต้องรอดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง ปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย เนื่องจากกลุ่มแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงาน โรงงาน ซึ่งส่งผลให้การผลิตสินค้านั้นยังเดินหน้าได้ พร้อมกันนี้ทิศทางการส่งออกยังมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี”

ปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัว 6.0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.5% เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก เศรษฐกิจคู่ค้าจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ สหรัฐ ขยายตัว 6.4% จีน ขยายตัว 8.4% ญี่ปุ่น ขยายตัว 3.3% และประเทศในทวีปยุโรป ขยายตัว 4.4% รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในเดือน มี.ค. สินค้าที่ส่งออกเพิ่ม มีทั้งอุตสาหกรรม ขยายตัว 8.46% จากการส่งออกสินค้าหลัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โต 11.34% ผลิตภัณฑ์ยาง โต 50% เม็ดพลาสติก 38.56% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 34.82% เคมีภัณฑ์ 26.98% อิเล็กทรอนิกส์ 13.54% เครื่องใช้ไฟฟ้า 20.89% นอกจากนี้ยังมีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และสินค้าเกษตรขยายตัว 6.48% จากการส่งออกสินค้าหลัก เช่น ยางพารา โต 109% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 59.9% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง โต 5.85%

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญมีทิศทางที่ดีขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 7.2% ญี่ปุ่น 4.6% สหภาพยุโรป ขยายตัว 32% เอเชียใต้ 24.3% จีน 35.4% เกาหลีใต้ 40.9% CLMV โต 2% ออสเตรเลีย 21.1% แอฟริกา 11.1% และละตินอเมริกา 7.9%

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อุปสรรคการค้าชายแดนในเมียนมา โดยเฉพาะการประท้วงที่เกิดขึ้นยาวนานอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของเมียนมาในภาพรวม ต้นทุนค่าระวางขนส่งทางเรือของผู้ประกอบการอาจสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 จะเร่งรัดส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ แม้ว่ายอดส่งออกข้าวจะติดลบอยู่ 22% ส่งออกได้เพียง 1.1 ล้านตัน แต่จะมุ่งผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมาย 6 ล้านตัน โดยโฟกัสในตลาดสำคัญ 3 ตลาด คือ ตลาดพรีเมี่ยม ตลาดทั่วไป และตลาดเฉพาะ รวมถึงเพิ่มการใช้ประโยชน์จาก FTA และ MOU และให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศประสานงานกับเอกชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้ข้าวไทย เตรียมจัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 ในเดือน พ.ค.นี้ และวางแผนเปิดตลาดใหม่ไปยังประเทศปานามา เพื่อใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้าสู่กลุ่มประเทศละตินอเมริกา