อาเซียนจีบแคนาดา เปิด FTA หนีขบวน CPTPP

แคนาดา
FILE PHOTO : Jude Joshua / Pixabay

ก่อนที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะประชุมร่วมกับรัฐมนตรีการค้าแคนาดาในเดือนกันยายน 2564 เพื่อตัดสินใจเปิดเจรจาทำ “ความตกลง FTA อาเซียน-แคนาดา” กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัด Webinar Series

เรื่อง “เปิดประตูอาเซียน-แคนาดา โอกาสการค้า การลงทุน และความร่วมมือ : การค้าสินค้าและสินค้าเกษตร” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการศึกษาโดยบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด

โอกาสและความท้าทาย

ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยรายงานผลการศึกษาว่า แคนาดาถือเป็นชาติการค้า (trading nation) มีสัดส่วนรายได้การค้าระหว่างประเทศประมาณ 66% ของจีดีพี รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการค้าเสรี โดยทำความตกลง FTA ไปแล้ว 17 ฉบับ กับ 51 ประเทศทั่วโลก และที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกกว่า 14 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ FTA อาเซียน-แคนาดา

“แม้ว่าระยะทางไทย-แคนาดาถือว่าไกล แต่ก็นับเป็นคู่ค้าสำคัญ ที่ผ่านมาไม่ทำความตกลงกันเพราะโดยส่วนใหญ่แคนาดาทำการค้ากับสหรัฐกว่า 70% แต่ระยะหลังแคนาดาเข้ามาลงทุนอาเซียนมากขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าเวียดนามส่งออกไปแคนาดามากสุดในอาเซียน 5,264 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยไทย 2,821 ล้านเหรียญสหรัฐ”

ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การค้าระหว่างอาเซียน-แคนาดาปี 2563 มีมูลค่า 19,966.7 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียนส่งออก 15,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 4,697 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลไฟฟ้า เครื่องจักรกล สิ่งทอ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ธัญพืช ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น

ขณะที่การค้าไทย-แคนาดาปี 2563 มีมูลค่า 2,308.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออก 1,540.97 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 767.52 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

เทียบอาเซียน-CPTPP

เป็นที่ทราบกันดีว่าแคนาดาเป็นหนึ่งในสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เช่นเดียวกับสมาชิกในอาเซียนบางประเทศ ส่วนไทยนั้นยังไม่ได้เข้าร่วม CPTPP

นายนัทธพงศ์ ภู่ทอง ผู้จัดการอาวุโส บริษัท โบลลิเกอร์ฯ เปิดเผยว่า การจัดทำ ASEAN-Canada FTA จะไปเสริมเรื่องการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าระหว่างกันในอาเซียนให้ยืดหยุ่นกว่า CPTPP ทำให้ “ห่วงโซ่มูลค่า” แข็งแกร่งขึ้น ช่วยให้รายได้รวมของสมาชิกหลังจากทำความตกลงฉบับนี้เพิ่มขึ้น 2,680 ล้านเหรียญสหรัฐ

“แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ไม่ได้อยู่ใน CPTPP ก็จะได้ประโยชน์จากความตกลงกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ช่วยให้การค้าเพิ่มขึ้น 1,450 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิก CPTPP จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น546.3 ล้านเหรียญสหรัฐ”

สำหรับการเปิดตลาดสินค้ากับแคนาดาสามารถเปิดเสรีได้เกือบทุกสินค้า แต่ทางแคนาดาอาจจะกำหนดให้สินค้านมและผลิตภัณฑ์จากนม สัตว์ปีก ไข่ และน้ำตาล เป็นสินค้าอ่อนไหว เพราะผู้ประกอบการแคนาดาบางสินค้ายังกังวลการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากการทำ FTA

ขณะที่ไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยาง เครื่องจักร เครื่องมือ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ยานยนต์และชิ้นส่วนได้มากขึ้น ส่วนสินค้าอ่อนไหวนั้นไทยอาจเจรจาขอสงวนการยกเลิกภาษี และการทยอยลด/ขยายระยะเวลาลดภาษีให้นานที่สุด อีกทั้งภาครัฐยังได้จัดทำ “กองทุนเอฟทีเอ” เพื่อรับมือและเยียวยาผลกระทบ

แคนาดารุก “บริการ-ลงทุน”

ทั้งนี้ จะเห็นว่า “แคนาดาให้ความสำคัญกับเรื่องด้านการเปิดเสรีบริการและการลงทุนมากเป็นพิเศษ” เนื่องจากเศรษฐกิจแคนาดาขับเคลื่อนโดยภาคบริการ ซึ่งผลการศึกษามีข้อสังเกตว่าไทยควรเจรจา เพื่อลดข้อจำกัดด้านการลงทุนสำหรับชาวต่างชาติบางประเภท ได้แก่ การสื่อสารและโทรคมนาคม การบิน การธนาคาร การประกันภัย และอื่น ๆ เช่น เกษตรกรรม การประมง การสำรวจ ขุดเจาะ เป็นต้น

ด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ แคนาดาผลักดันให้เจรจาตามข้อตกลงด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ Government Procurement Agreement (GPA) ซึ่งไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก GPA จึงอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่เป็นคู่ค้ากับรัฐ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการให้เป็นมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแคนาดาให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม อาทิ เอไอ บริการและเทคโนโลยีด้านการเงิน ประกันภัยและที่น่าสนใจมาก คือ “เฮลท์แคร์” น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการเชื่อมโยงการบริการด้านสุขภาพ เพราะชาวแคนาดามีรายได้สูงและอยากมาประเทศไทย

โอกาส-ความท้าทาย

ส่วนความท้าทายใหม่ ๆ ที่ต้องเผชิญ คือ ไทยอาจถูกกดดันให้เปิดเสรีในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งทั้งไทยและแคนาดาต่างเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่มีต้นทุนด้านปศุสัตว์แตกต่างกัน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวก มาตรการทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามอนุสัญญา UPOV 1991

ดร.รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบลลิเกอร์ฯ กล่าวเสริมว่า สินค้า “ข้าว” ได้ประโยชน์จากเอฟทีเอนี้ เพราะเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งไปแคนาดา

ส่วนประเด็นเรื่องการเปิดตลาดหมูให้แคนาดานั้นผลการศึกษายังคงให้ยึดมาตรฐาน CODEX ห้ามนำเข้าสารเร่งเนื้อเเดง และเรื่อง UPOV ในเอฟทีเอฉบับนี้ “ยังไม่มี” ความกดดันมากนัก

เอกชน-เกษตรกรมองต่างมุม

นายมนตรี ถาวร ตัวแทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อกังวลเรื่องแคนาดาจะบังคับให้เข้าร่วม UPOV 1991 นั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้แนวทางการเจรจาเช่นเดียวกับ RCEP

คือการให้แต่ละประเทศใช้กฎหมายภายในคุ้มครองเองโดยไม่ต้องบังคับให้เข้าเป็นสมาชิก ส่วนข้อกังวลเรื่องการเปิดเสรี นำเข้าหมูจากแคนาดาซึ่งมีต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์ต่ำกว่า อาจจะกระทบเกษตรกรรายย่อย

ตัวแทนคณะทำงานนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เห็นว่า แคนาดาเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงเต็มไปด้วย startup ซึ่งไทยเองพร้อมรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย new S-curve ในอีอีซีร่วมกัน

นางวิภาวลี วัจนาภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเฟรช เอ็นเตอร์ไพรส์จำกัด กล่าวว่า ตลาดแคนาดามีศักยภาพ นิยมสินค้าไทย และยังเป็นตลาดที่ยังมีกฎระเบียบบางอย่างที่ไม่ซ้ำซ้อนหากเทียบกับยุโรป เพียงแต่ไทยเสียเปรียบเวียดนาม เพราะต้นทุนการขนส่งอากาศไทยสูงกว่า 20% และยังติดอุปสรรค เช่น ข้อกำหนดเรื่องการรมสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ลำไย


มุมมองนายสุภาพ สุวรรณพิมลกุลรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า ไทยควรทำเอฟทีเอไทย-แคนาดาน่าจะได้เปรียบมากกว่าเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ซึ่งมีจำนวนประเทศมากอาจยังช้า