EEC ก้าวเข้าปีที่ 4 ลงทุน 1.5 ล้านล้าน ฉลุย 94%

เป้าหมายการลงทุนใน “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ที่วางไว้1.7 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2561 ผ่านการดำเนินงานมาแล้ว 3 ปี โครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ PPP ที่เป็น project list

ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) รวมถึงงบฯบูรณาการต่าง ๆ

รวมแล้วได้อนุมัติวงเงินลงทุนไปถึง 1,594,282 ล้านบาท หรือประมาณ 94% จึงถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างมาก

หลังรายงานให้ “บอร์ด EEC” รับทราบ สกพอ.เตรียมทำแผนงานรอบใหม่สำหรับ 5 ปีข้างหน้า วางเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยดัน GDP ประเทศให้ขยับอีก 4-5%

ดึง 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC)เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน หลาย ๆ โครงการได้รับความสนใจ

และเริ่มมีการลงทุนใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ คือ 1.ธุรกิจ 5G ที่ได้ลงทุนโครงข่าย 5G โดยใช้ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะแล้ว 100%

2.ธุรกิจการแพทย์สมัยใหม่ (Medical) ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่ม 3.ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปี2564 นี้จะมี EV Station ใน EEC 100 แห่ง และเพิ่มเป็น 200 แห่งในปี 2565

และ 4.อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green : BCG) ที่ขณะนี้มีการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดแล้ว 30% ในพื้นที่ EEC อย่างโซลาร์เซลล์

จากตรงนี้จึงคาดว่าจะมีเงินลงทุนเพิ่มเข้ามาอย่างน้อย 1-2 แสนล้านบาท/ปี ดังนั้นในแผนใหม่ 5 ปี ที่อยู่ระหว่างจะทำการกำหนดเป้าหมายใหม่ จะตั้งเป้าดึงเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมหลัก 4 ตัวนี้ถึง 5 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันก็จะมีการเพิ่มแผนการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะเข้าไปเพิ่มเติม ส่วนนี้จะมีการลงทุนอีก 400,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจ (GDP) เพิ่มขึ้น 4-5%

ปี 64 ขอ BOI 2.5 แสนล้าน

ทั้งนี้ ปี 2561-พ.ค. 2564 มีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน (นับว่าลงทุนจริง) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว 878,881 ล้านบาท และหากแยกเป็นส่วนเฉพาะยอดขอรับการส่งเสริมใน EEC ไตรมาส 1/2564 ก็ยังพบว่ามีมูลค่าที่ 64,410 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39%

ดังนั้น เมื่อมีแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัยจึงประมาณการว่า ปี 2564 จะมีการลงทุนจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย 250,000 ล้านบาท และจะมีโอกาสขยับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

หรือไม่ต่ำกว่า 350,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เพราะภาคอุตสาหกรรมที่ยังต้องพึ่งการส่งออก เช่น กลุ่มยานยนต์ฟื้นตัว แน่นอนว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็จะมีการขยับการลงทุนด้วยเช่นกัน

เล็งขยายสู่พื้นที่ ส.ป.ก.

อีกความพร้อมที่ EEC จะต้องเตรียมเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว คือ การเพิ่มจำนวนพื้นที่ให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศจัดตั้ง “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” 7 แห่ง

รวมประมาณ8,000 ไร่ ในชลบุรี และระยอง เช่น นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง

ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉางและศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) หรือ EECmd ด้วยมีเป้าหมายดึงการลงทุนเข้ามาราว 3 แสนล้านบาท ภายใน 10 ปี (2564-2573)

นอกจากนี้ ยังเริ่มทำการศึกษา ดึงเอาพื้นที่ ส.ป.ก.เข้ามาพิจารณา ซึ่งจะใช้เวลาอีก 2 เดือนสรุปความเป็นไปได้ ที่ว่าพื้นที่บนดินนอกเหนือจากการเพาะปลูกการเกษตรแล้ว จะสามารถทำอะไรได้บ้าง

ลุย MRO-แผนน้ำระยะยาว

ใน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง” ที่คืบหน้าไปมากและทยอยเริ่มตามแผนการก่อสร้างแล้วนั้น

จะเหลือเพียงอีก 1 โครงการ คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่ล่าช้าไปกว่าแผน ขณะนี้จึงคล้ายกับการต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงการ ออกแบบจัดทำแผนแม่บทและรอความชัดเจนแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย (TG)

แม้จะไม่เป็นไปตามคาด แต่ทว่าโครงการนี้จะ “ไม่มีทางล้มเลิก” และคาดว่าจะเริ่มโครงการและเปิดดำเนินการในปี 2568

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ทิ้งไม่ได้ คือ การบริหารจัดการน้ำใน EEC ทั้งแก้ปัญหาระยะสั้นและวางแผนระยะยาว

โดยได้มีการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่ม โดยกรมชลประทานเร่งโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำกลับคลองสะพาน-ประแสร์ เส้นที่ 2 และเครือข่ายคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2

ส่วนภาคเอกชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเพราะนิคมอุตสาหกรรมต่างจัดหาแหล่งน้ำสำรองของตนเอง รวมถึงเร่งเพิ่มน้ำต้นทุน เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดซึ่งสำหรับปี 2564 นี้ ยังคงยืนยันว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอแน่นอน