ล็อกดาวน์ยาวเสียหาย 1 ล้านล้าน 3 สภาธุรกิจกดดัน ประยุทธ์ กู้วิกฤต

ภาคเอกชนสุดทนโควิดลามฉุดไม่อยู่ หวั่นต้องยืดล็อกดาวน์ถึงสิ้นเดือนกันยายนสูญ 1 ล้านล้าน ฉุดเศรษฐกิจดิ่ง จีดีพีติดลบ 3 องค์กรภาคเอกชนเตรียมตบเท้าเข้าพบนายกฯประยุทธ์ กระทุ้งรัฐแก้วิกฤตประเทศ ยื่น 3 ข้อเสนอ จัดหาวัคซีนให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม เปิดนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่ม ช่วยค่าใช้จ่ายซื้อ ATK ปลดล็อกผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ แนะอัดฉีดเงินเข้าระบบ 5 แสนล้าน ช่วงไตรมาส 4 “บิ๊กแสนสิริ” จี้พลิกวิกฤตประเทศ ฟันธงแก้วิกฤตได้ปีหน้าเศรษฐกิจไทยฟื้น

ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบ ตอกย้ำสัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังวิกฤต จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดรุนแรง ล่าสุด ตัวแทนภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องสะท้อนถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการทั้งระบบ พร้อมยื่นขอให้รัฐบาลเร่งแก้วิกฤต

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังสูงขึ้น ทำให้ส่งสัญญาณว่าอาจมีการขยายการล็อกดาวน์ยาวไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ โดยจากการประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย การล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงต้นเดือน ส.ค.ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย 5-8 แสนล้านบาท หากรวมทั้งเดือน ส.ค.ความเสียหายอาจเพิ่มเป็น 8 แสนล้าน-1 ล้านล้านบาท ดังนั้น หากต่อล็อกดาวน์ไปเดือน ก.ย.ทั้งปีจะเสียหายเกิน 1 ล้านล้านบาท

จี้รัฐอัดฉีด 5 แสนล้าน Q4

ภาครัฐจึงต้องเตรียมงบประมาณ ทั้งการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจากการประมาณไว้ไตรมาส 4 ควรอัดฉีดประมาณ 5 แสนล้านบาท และครึ่งปีแรกปี 2565 ควรอัดฉีดเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท มาตรการที่ใช้ควรต้องพิจารณาเยียวยา เช่น มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน ให้เงินช่วยเหลือสำหรับภาคธุรกิจ ลดค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อ ส่งเสริมการลงทุนให้ชัดเจน

สุดท้ายจุดสำคัญอยู่ที่สถานการณ์การระบาดช่วงปลายเดือนนี้ รวมถึงการจัดหาและฉีดวัคซีน ว่าจะส่งสัญญานการล็อกดาวน์รุนแรงขึ้นไหมในเดือนกันยายน โดยสามารถเป็นไปได้ทั้งการเพิ่ม/ลดจังหวัด หรือการผ่อนคลายให้บางกิจกรรมสามารถดำเนินการได้ไหม ตรงนี้รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในการประกาศเกณฑ์ในการยกระดับหรือผ่อนคลายมา เช่น หากตัวเลขคงที่หรือมีแนวโน้มลดลงจะปรับเปลี่ยนมาตรการอย่างไร

วัคซีนมาเร็วหนุนส่งออกโตเพิ่ม

นายสนั่นกล่าวว่า จากที่ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทำหนังสือเพื่อขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สิ่งที่สำคัญที่จะเสนอนายกฯคือ เอกชนมองว่าหากไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วกว่านี้

จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งประเมินว่าปีนี้จะส่งออกขยายตัว 10 ถึง 12% แต่ถ้าบริหารจัดการวัคซีนได้ดี ภาคอุตสาหกรรมไม่ต้องหยุดผลิตจะทำให้การส่งออกเติบโตได้ถึง 15% “ทางเราหวังว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์นานเกินไป”

3 สมาคมธุรกิจตบเท้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และยื่นหนังสือเพื่อเสนอแนวทางที่ภาคเอกชนต้องการเร่งด่วน 3 เรื่อง

คือ 1.การจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม พร้อมเปิดให้มีการนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้การติดเชื้อในโรงงานจำนวนมาก ล่าสุดประมาณ 1,000 โรงงาน

2.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายกับเอกชนในเรื่องการจัดหาวัคซีน และ antigen test kit (ATK) ซึ่งเป็นภาระรายจ่ายของภาคเอกชนในขณะนี้ 3.ให้รัฐพิจารณาอนุมัติให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้ยังไม่มีการปลดล็อกตรงนี้ ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน

หอฯต่างชาติจี้หยุดโควิดใน Q4

นายสแตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า ไตรมาส 3-4 ไทยจะต้องควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการจัดหาและกระจายวัคซีนโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญควรเปิดให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีน

บิ๊กแสนสิริกระทุ้งรัฐกู้วิกฤตประเทศ

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น แต่ไม่สายเกินไปที่รัฐบาล โดยนายกฯ ในฐานะ “ผู้นำ” จะลงมาจัดการแก้ไขด้วยความเด็ดขาด พลิกฟื้นประเทศจากวิกฤต

เริ่มจากการจัดหา “วัคซีน” ให้เพียงพอโดยเร็ว และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทั้งการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย เช่น ลดดอกเบี้ยนโยบาย, พักหนี้ และมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ และประชาชนเต็มรูปแบบ

“การให้เงินทีละ 2 พัน แค่เลี้ยงไข้ ไม่ก่อให้เกิด economic snowball จะให้ได้ผล ต้องอัดฉีดเต็มที่กว่านี้ อีกอันที่ช่วยได้ คือ ลดรายจ่ายด้วยการลดดอกเบี้ย เพราะคนทำธุรกิจต้องกู้ทั้งนั้น ส่วนเรื่องวัคซีน ท่านนายกฯต้องยกหูถึงผู้นำประเทศต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ให้ความสำคัญกับเรื่องจีโอโพลิติก และมีนโยบายเชิงรุก

เพราะนี่คือการทำสงครามกับโรคระบาด เรามีความสัมพันธ์กับอเมริกามา 100 กว่าปี ซื้อสินค้าเขาไม่ใช่น้อย จะเอาวัคซีนมาสัก 30-50 ล้านโดสได้ไหม หรือกับจีน เราก็ซื้อรถไฟ ซื้ออุปกรณ์สื่อสารกับเขา จะเอาวัคซีนมาได้ด้วยไหม การบริหารจัดการวัคซีน เป็นเรื่องที่ผู้บริหารสูงสุดต้องลงมาใส่ใจเอง และวันนี้ไม่มีคำว่าช้าเกินไป แต่ถ้ายิ่งช้าเราก็จะยิ่งห่างไกลคู่แข่งไปอีก”

เปิดประเทศ ขยับไปก่อน

สำหรับแผนเปิดประเทศ 120 วันที่รัฐบาลประกาศ แม้ต้องขยับไปเป็น 150 วัน หรือ 180 วัน ก็ต้องเปิดประเทศอยู่ดี แต่จะรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับความพร้อมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งสายการบิน, โรงแรม, ผู้ประกอบการร้านค้า, ร้านอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างมาก จึงต้องเข้าไปช่วยเหลือและมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ

นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า ที่ต้องออกมาแสดงความคิดเห็น และให้คำแนะนำ เพราะเป็นห่วง อยากเห็นประเทศเดินหน้าต่อได้ หลังวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป ทั้งมองว่าเศรษฐกิจมีโอกาสดีกว่าปีนี้ได้มากหากอัดฉีดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง และอาจเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักด้วยซ้ำ เพราะฐานในปีนี้ต่ำมาก ๆ

“อเมริกา อังกฤษ ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งมโหฬาร สร้างถนน ทางรถไฟ ทั้งที่ของเดิมดีอยู่แล้ว แต่ทำเพิ่มเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เราเองก็ต้องทำเช่นกัน ถามว่าสิ่งเหล่านี้ เราได้คิดไว้หรือยัง วันนี้ส่งออกดีเพราะเงินบาทอ่อน ข่าวร้ายต่าง ๆ มีอะไรเอาออกมาให้หมดแล้วจัดการซะ และประกาศเลยว่าใน 3 เดือนจะลงทุนครั้งมโหฬารบ้าง

ถ้าประกาศไป เชื่อว่าญี่ปุ่น จีน เยอรมนี อเมริกา เกาหลี ก็วิ่งมาแล้ว ขอมีส่วนในการประมูลทำถนน ทำสะพาน อะไรต่าง ๆ คุณก็บอกไปเลยได้ แต่ขอวัคซีนควบคู่มาด้วยนะ เป็นการต่อรองด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ต้องทำควบคู่กันไป ลุกมาทำวันนี้ก็ยังไม่สายครับ ขอแค่พูดแล้วทำให้ได้จริงก็จะแก้วิกฤตศรัทธาได้”

แก้วิกฤตได้ปีหน้า เศรษฐกิจฟื้น

นายเศรษฐาย้ำว่า หากแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสฟื้นกลับมาได้แน่ แต่จะเป็นแค่ระยะสั้นเท่านั้น เพราะแม้เศรษฐกิจอาจจะดี แต่ปัญหาสังคม ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานยังอยู่ และจะวนกลับมาอีก เพราะยังไม่แก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำ

กระทบเอสเอ็มอี 8 หมื่นราย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า หากโควิดบานปลาย จนต้องขยายล็อกดาวน์ไปถึงเดือน ก.ย. ไม่เพียง 29 จังหวัดสีแดงเท่านั้นที่จะถูกกระทบ แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงกว้างทั่วประเทศ ที่น่าห่วงคือ GDP ปี’64 จะหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจทำให้ GDP -2% หรือลดลงกว่า 300,000 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีหดตามไปด้วย อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับกว่า 90% ของ GDP และปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นสูง จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้เกิดภาวะชะงักงัน

ในส่วนผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แรงงาน และประชาชน ช่วง 1 ปี 3 เดือน อาจแบ่งเอสเอ็มอีได้เป็น 4 กลุ่ม 1) กลุ่มอยู่ลำบาก กลุ่มเปราะบาง วิสาหกิจชุมชนกว่า 80,000 ราย ผู้ประกอบการรายย่อย (ไมโครเอสเอ็มอี) กว่า 2.7 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา แรงงานในกลุ่มนี้กว่า 5 ล้านราย 2)กลุ่มที่อยู่ยาก ผู้ประกอบการรายย่อม (small) กว่า 400,000 ราย เป็นนิติบุคคลส่วนใหญ่

3) กลุ่มที่อยู่ได้ ผู้ประกอบการขนาดกลาง (medium) กว่า 40,000 ราย ต้องเผชิญความเสี่ยง แต่ยังประคองธุรกิจไปได้ 4) กลุ่มที่อยู่ดี เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (large) กว่า 14,000 ราย ที่มีความมั่นคง และธุรกิจที่มั่งคั่ง อาจกระทบแต่พื้นฐานธุรกิจดีปรับตัวได้ดี

จี้แก้ล็อก 3 มาตรการ

นายแสงชัยกล่าวว่า สมาพันธ์ต้องการให้รัฐช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อน 3 มาตรการหลัก 1.สินเชื่อฟื้นฟู จากวงเงิน softloan ปัจจุบันเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ

2.มาตรการพักชำระหนี้ หยุดจ่ายชั่วคราว ให้ดอกเบี้ยเดินต่อไปตามปกติ ไม่ใช่การแก้ปัญหา ต้องพักต้น พักดอก ไม่คิดดอกเบี้ย

3.เงินเยียวยา สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มาตรา 33, 39 และมาตรา 40 เป็นมาตรการที่ดีมาถูกทาง แต่ยังไม่เพียงพอหากการแพร่ระบาดยืดเยื้อ

กลุ่มอาหารเข้าไม่ถึงสินเชื่อ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูป และอาหารแห่งอนาคต (PFC) หอการค้าไทย เผยว่า เอกชนค่อนข้างกังวลว่ารัฐอาจต้องขยายล็อกดาวน์จนถึงเดือน ก.ย. 2564 หากจำเป็นต้องทำควรมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อลดผลกระทบผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายกลาง รายเล็ก

เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เอสเอ็มอีมีบทบาทสูง มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 127,378 ราย คิดเป็น 99.4% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรม มีการจ้างงานสูงถึง 478,633 ราย คิดเป็น 47.12% ของการจ้างงานทั้งหมด

ซีอาร์จีหวั่นทุบ เศรษฐกิจติดลบ

ขณะที่ นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจ.เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือซีอาร์จี ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล อาทิ มิสเตอร์โดนัท, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์ ฯลฯ เปิดเผยว่า หากรัฐล็อกดาวน์ไปถึงเดือน ก.ย. จะกระทบทั้งเศรษฐกิจและกำลังซื้อ

ประเมินว่าจะกระทบภาพรวมธุรกิจรุนแรงยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ โดยเฉพาะภาพรวมธุรกิจอาหารที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังต้องใช้ระยะเวลากว่าจะสามารถควบคุมการระบาดและภาพรวมธุรกิจให้กลับมาได้

รวมไปถึงความกังวลในการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลง อย่างไรก็ดี จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหากมองในแง่ของโอกาสทางธุรกิจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันที่รวดเร็ว มีรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ทั้งสินค้าและรูปแบบการนำเสนอ platform ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างหนัก

ปรับแผนเน้นยืดหยุ่น

สำหรับซีอาร์จี ปัจจุบันมีจำนวนสาขากว่า 70% อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด การประกาศล็อกดาวน์ที่ผ่านมาจึงค่อนข้างกระทบ หากขยายล็อกดาวน์ออกไปก็จะกระทบต่อเนื่องในระยะเวลานาน ต้องหันมาพึ่งพาช่องทางดีลิเวอรี่สร้างรายได้ โดยดีลิเวอรี่มีอัตราการเติบโตในช่วงโควิดมากกว่า 50%

ขณะเดียวกัน บริษัทต้องปรับแผนให้มีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ ทั้งรูปแบบการขายและการบริหารต้นทุนและทรัพยากร

ธุรกิจโรงแรมทรุดยาว

“มาตรการห้ามเดินทาง ห้ามสายการบินเปิดบริการ ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ห้ามจัดประชุมสัมมนา ฯลฯ แม้จะไม่ประกาศปิดโรงแรม แต่ก็เหมือนปิดโรงแรมโดยปริยายแล้ว”

รายได้ยอดเข้าพักต่ำกว่า 10%

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า จากการทำสำรวจล่าสุดจากโรงแรม 272 แห่ง พบว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาลดลงอีกครั้ง และยังคงได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้มรุนแรง หลายโรงแรมปิดกิจการอีกครั้ง มีโรงแรมเพียง 40% ที่ยังเปิดกิจการปกติ ที่เหลือ 38% เปิดกิจการเพียงบางส่วน และกว่า 22% ที่ยังปิดชั่วคราว 100%

โดยโรงแรมส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการมีรายได้อยู่ในระดับต่ำมาก โดยมากกว่า 50% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง 10% (เทียบกับช่วงก่อนโควิด) เช่นเดียวกับอัตราการเข้าพักที่ส่วนใหญ่ยังต่ำกว่า 10% เช่นกัน ยกเว้นโรงแรมในภูเก็ตที่รับนักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย

นอกจากนี้ ยังคาดว่าสถานการณ์ในเดือนสิงหาคมนี้จะปรับแย่ลงจากเดือนที่ผ่านมา หรือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศที่ระดับ 8% โดยภาคเหนือที่น่าจะต่ำสุดที่ประมาณ 4%

สายการบินยิ่งอ่วมหนัก

ด้าน นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV และสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สำหรับธุรกิจสายการบินนั้นหากต้องล็อกดาวน์ต่อถึงเดือน ก.ย.จะยิ่งเจ็บปวดหนักขึ้นอีก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนที่สูงมาก แม้ว่าจะหยุดค่าใช้จ่ายเรื่องพนักงาน 100% แต่ยังมีต้นทุนประจำที่ต้องจ่ายอีกมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเครื่องบิน ค่าเช่าเครื่องบิน ภาษีดอกเบี้ย ฯลฯ

ที่สำคัญ มองว่าไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจสายการบินเท่านั้นที่กระทบหนัก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ก็หนักเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ร้านค้าภายในสนามบิน แท็กซี่รับส่งผู้โดยสาร ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ

“การออกมาตรการล็อกดาวน์ไม่มีใครห้าม แต่จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาธุรกิจที่ชัดเจนด้วย เพราะการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ถ้ารัฐบาลไม่มีอะไรเยียวยาเลย ต่อไปจะไม่มีใครทนอยู่บ้าน สุดท้ายประชาชนก็จะไม่สนใจ ทุกคนจะออกไปทำมาหากิน เพราะตอนนี้ทุกคนไม่มีจะกินกันหมด และก็จะไม่สนใจเรื่องล็อกดาวน์แล้ว ดังนั้นรัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบกว่าที่ผ่านมา” นายธรรศพลฐ์กล่าว