แซนด์บอกซ์โรงงาน 7 จังหวัด อุ้มแรงงาน 3 ล้านคน ธุรกิจโอดต้นทุนพุ่ง

เปิดโมเดล “Factory Sandbox” ปกป้องภาคผลิตส่งออก 4 อุตสาหกรรมหลัก “ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-อาหาร-เครื่องมือแพทย์” 7 แสนล้านบาท อุ้มแรงงาน 3 ล้านรายใน 7 จังหวัดฐานผลิตสำคัญ นำร่องเฟสแรก “ชลบุรี-สมุทรสาคร-ปทุมฯ-นนท์” เอกชนหวั่นต้นทุนค่าใช้จ่ายพุ่งพรวด วอนรัฐหนุนงบช่วยเหลือ ห่วงโรงงาน SMEs ไปไม่รอด กกร.กระทุ้งนายกรัฐมนตรี ชี้วัคซีนสำคัญสุด เสนอปรับโครงสร้าง ศบค.ยกชุด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อ 16 สิงหาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันควบคุมพื้นที่เฉพาะ (bubble & seal) และโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox)

โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุก และฉีดวัคซีนให้กับลูกจ้างครบ 100% เพื่อเป็นการรักษาการจ้างงานและดำเนินธุรกิจส่งออกให้ดำเนินต่อไปได้

ป้อง 4 อุตฯส่งออก 7 แสนล้าน

โครงการ Factory Sandbox มุ่งเป้าไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่พยุงเศรษฐกิจโดยมี 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผู้ประกันตน 500 คนขึ้นไป ครอบคลุมใน 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากFactory Sandbox คือ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในภาคการผลิต-ส่งออก ซึ่งมีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อให้เศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนซึ่งปัจจุบันระบบ supply chain ของประเทศคู่แข่งกำลังปิดตัวลง รวมถึงเป็นการรักษาระดับการจ้างงาน ในภาคการผลิตส่งออกสำคัญได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง

นำร่องเฟสแรก 4 จังหวัด

สำหรับในเฟสแรก จะดำเนินการใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรสาคร และชลบุรี ซึ่งจากข้อมูลมีสถานประกอบการที่เข้าเงื่อนไขมีผู้ประกันตนเกิน 500 คน จำนวน 387 แห่ง โดยมีผู้ประกันตนรวมทั้งสิ้น 474,109 คน ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเพียง 42,268 คน ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้นมีสถานประกอบการสนใจเข้าร่วมทั้งหมด 60 แห่ง สำหรับในเฟสที่ 2 จะขยายไปที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ

ในการเข้าร่วมโครงการ Factory Sandbox จะต้องดำเนินการดังนี้ 1) ดำเนินการตรวจคัดกรองด้วย RT-PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันที และดำเนินการตรวจATK ทุกสัปดาห์ 2) จัดให้มี FAI ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5, hospitel, โรงพยาบาลสนาม และ ICU 3) ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แรงงาน ออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน และ 4) มาตรการ bubble and seal

โรงงานต้องแบกรับค่าใช้จ่าย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการทำ Factory Sandbox เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ 4 อุตสาหกรรมหลัก อย่างชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ ที่มีแรงงาน 500 คนขึ้นไปว่า ทั้งหมดนี้เอกชนได้ดำเนินการกันอยู่แล้ว และทำในระดับเข้มข้น

ดังนั้น Factory Sanbox จึงเป็น “อะไรที่ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก” เพราะสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่เอกชนต้องการมากที่สุดก็คือ “วัคซีน” กับชุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด ATK ส่วนการที่รัฐบาลสั่งให้โรงงานทำ Factory Sandbox มันคือ “ต้นทุนค่าใช้จ่าย” ที่โรงงานต้องแบกรับเพิ่ม โดยเอกชนสามารถทำได้และพร้อมจะทำ หากรัฐชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรัฐบาลจะเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง

“ในเมื่อรัฐบาลรู้ว่า 4 อุตสาหกรรมหลักนี้คือ เครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจก็ต้องย้อนกลับไปคุยกันเรื่องวัคซีนที่บอกว่า จะฉีดให้กับแรงงาน ม.33 เพราะตอนนี้ฉีดไปได้น้อยมาก เพราะคนเหล่านี้จ่ายเงินสมทบประกันสังคมทุกเดือน รัฐควรจัดการต้นเหตุเรื่องวัคซีนให้ได้ และหา ATK มาให้เราให้ได้ เพราะถ้ามี 2 ตัวนี้มันจะควบคุมการระบาดได้มาก ดีกว่าจะมาให้ทำในสิ่งที่เราทำกันอยู่แล้ว

เราทำกันทั้ง bubble and seal โรงพยาบาลสนามแบบ community isolation รวมถึงโรงพยาบาลสนามในโรงงานหรือ factory isolation ดังนั้นรัฐเองควรบอกว่า ถ้าทำ Factory Sandbox แล้วรัฐจะช่วยอะไร ช่วยได้เท่าไร ไม่ใช่บอกแค่ให้ทำอย่างเดียว”

อุตฯอาหารมีค่าใช้จ่ายสูง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต (PFC) หอการค้าไทยและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลผลักดันให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกทำ Factory Sandbox ว่า เป็นมาตรการที่ดี หากปฏิบัติได้จริงจะส่งผลดีต่อโรงงานและการส่งออก

ดังนั้นจึงเสนอให้ทำระบบนำร่องมาตรการในระดับโรงงานขนาดต่าง ๆ เพื่อดูผลการดำเนินงานและปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ต้นทุน” ในการจัดการมีค่าใช้จ่ายสูง รัฐจึงควรสนับสนุนงบประมาณ

รัฐบาลจะต้องจัดสรรฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ครอบคลุมทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ การจัดซื้อชุดตรวจ ATK ตรวจพนักงานในโรงงานทุกสัปดาห์ เป็นการเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการมาก รัฐควรเข้ามาสนับสนุนในการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้โรงงาน

มาตรการ bubble and seal เป็นระบบที่มีต้นทุนสูงมากและยังมองไม่เห็นจุดจบ หากรัฐมีส่วนสนับสนุนจะทำให้ SMEs สามารถทำได้เร็วขึ้น

“Factory Sandbox เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพียงแต่มีบางข้อที่ทำได้ยากสำหรับ SMEs ต้องมีตัวช่วยสนับสนุน เพราะผู้ประกอบการอาจขาดสภาพคล่อง ภาระต้นทุนเพิ่ม ATK แพง quarantine ต้นทุนสูง FAI ลงทุนสูง รวมถึงการฉีดวัคซีน ตอนนี้มีแค่ ม.33 แต่ยังมีแรงงานต่างด้าวที่ต้องหาแนวทางเตรียมฉีดให้ครบด้วย”

TU พร้อมทำ Sandbox

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) กล่าวว่า บริษัทพร้อมสำหรับการทำ Factory Sandbox เพราะที่ผ่านมาได้มีการบริหารจัดการ โดยร่วมมือกับทางภาครัฐอย่างใกล้ชิดในโรงงานเครือข่าย ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสนามที่เป็น factory quarantine จำนวน 2,000 เตียง และมีการทำ bubble and seal

“เรามีการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานมากกว่า 50% ของพนักงานทั้งหมดประมาณ 30,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนต่างด้าว 60-70% เป็นการฉีดตามมาตรา 33 และฉีดโดยการจองซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มด้วย (20,000 โดส) คาดว่าจะฉีดให้พนักงานได้ครบ 100% ภายในปีนี้ ส่วนการตรวจ Antigen Test Kit ก็มีเตรียมไว้อยู่แล้ว โดยชุดตรวจนี้ถือว่าเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันไปแล้ว TU ทั่วโลกใช้ระบบการจัดการโรงงานแบบนี้เหมือนกันหมด ในต่างประเทศข้อดีก็คือ มีวัคซีนที่เพียงพอที่จะฉีดได้หมด” นายธีรพงศ์กล่าว

จริงอยู่ที่ Factory Sandbox จัดเป็น “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” ของผู้ประกอบการ แต่มองว่า “วันนี้ไม่มีต้นทุนอะไรที่จะสูงกว่าการที่ผลิตสินค้าไม่ได้ เพราะฉะนั้นตราบใดที่เรายังมีการผลิตสินค้าได้เต็มที่ เราก็คิดว่าเป็นการคุ้มค่าที่จะลงทุน”

SMEs ขอหักลดหย่อน

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่า มาตราการ Factory Sandbox เป็น “แนวคิดที่ดีมาก” แต่ในบางข้อปฏิบัติมีรายละเอียดที่ภาครัฐต้องช่วยส่งเสริม-บริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง การทำ FAI 5% ของพนักงานนั้นมีต้นทุนพอสมควร ถ้าภาครัฐสามารถช่วยเหลือในการหักลดหย่อนภาษีก็จะช่วยบรรเทาภาระผู้ประกอบการ

“การตรวจ ATK ทุก 7 วันมีต้นทุนประเมินคร่าว ๆ ถ้าชุดตรวจขั้นต่ำ 70 บาทต่อคน 500 คนเท่ากับ 35,000 บาทต่อ 7 วัน หรือ 140,000 บาทต่อเดือน และหากราคาชุดตรวจในท้องตลาดอยู่ที่ชุดละประมาณ 300 บาท ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงค่าฉีดวัคซีน สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่” นายแสงชัยกล่าว

ยานยนต์ห่วงผู้ผลิตชิ้นส่วน

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการทำ Factory Sandbox ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่กลุ่มยานยนต์มีโรงงานผลิตอยู่โซน EEC ใกล้ท่าเรือ จึงยังไม่ถูกกำหนดให้ทำ แต่ก็ถือเป็นเรื่องดี และที่ผ่านมาโรงงานผลิตรถยนต์มีมาตรการทำ BU ตั้งแต่มีการแพร่ระบาด และแต่ละโรงงานก็มีมาตรฐานและเป็นระบบอยู่แล้ว

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ SMEs ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายเล็ก ๆ เนื่องจากการทำ Factory Sandbox จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และหากทำกันอย่างจริงจังและรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ “รายเล็กก็อาจแบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว”

สอดคล้องกับ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ในการทำ Factory Sandbox

ด้าน นางสาวิตรี แก้วพวงงาม กรรมการบริหาร บริษัทไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง กล่าวว่า บริษัทได้ยกระดับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น มีการคัดกรองและแบ่งกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้แต่ละกลุ่มปฏิบัติงานได้และเข้าถึงความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม รวมถึง การตรวจคัดกรองเชิงรุก 100% พร้อมดูแลค่าใช้จ่ายการตรวจทั้งหมดและยังแผนพิจารณาการสุ่มตรวจแบบ ATK ในทุกๆสัปดาห์ด้วย

ล่าสุดบริษัทได้ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 77% ได้เพิ่มสวัสดิการพิเศษในการเข้ารับวัคซีนทางเลือกให้กับพนักงานทุกประเภทตลอดจนสมาชิกในครอบครัว ทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์กักตัวชั่วคราวที่ได้มาตรฐาน สำหรับกลุ่มพนักงานที่ใกล้ชิดผู้ป่วยเพื่อแยกการกักตัวตามกำหนด 14 วัน และตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งก่อนกลับเข้ามาทำงาน

ส่วนบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ Factor Sandbox ที่เพิ่งประกาศออกมานั้น คาดว่าหลาย ๆ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด เพราะทุกโรงงานต่างต้องการเข้าถึงการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายเดือนนี้น่าจะมีความชัดเจนออกมา โดยบริษัทได้มีการจัดทำศูนย์พักคอยสำหรับพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ไว้แล้ว โดยใช้พื้นที่ของศูนย์ฝึกอบรมสุวินทวงศ์ มีเตียงรองรับได้ประมาณ 2,000 เตียง

แต่ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการใช้งาน เนื่องจากไม่มีการพบพนักงานติดเชื้อ เช่นเดียวกับผู้บริหาร ฮอนด้า ออโตโมบิล กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานฮอนด้าทั้ง 2 แห่ง มีมาตรการป้องกันความสี่ยงของโควิด-19 อย่างเข้มงวด และกำลังศึกษามาตรการ Factory Sandbox อยู่

นายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสันประเทศไทย รองประธานสายงานการตลาดและการขาย นิสสัน ภูมิภาคอาเซียน และ ประธานกรรมการบริหาร นิสสัน อินโดนีเชีย กล่าวว่า นิสสันจะยังคงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับภาครัฐและพร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการต่างๆที่จะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวไปพร้อมกับการช่วยเหลือสังคม

ส่วนนายอภิชาต ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บริษัทใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดก่อนที่รัฐบาลจะกำหนดมาตรการ Factory Sandbox โดยตอนนี้พนักงานของบริษัทเข้าถึงวัคซีนแล้วกว่า 80% อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ทุกอุตสาหกรรมขับเคลื่อนไปได้ บริษัทยังมีเงินหมุนเวียนราว 100 ล้านบาท ให้พนักงานกู้ยืมกรณีจำเป็นจากวิกฤตโควิดด้วย

สมุทรสาคร-ชลบุรีขออุ้ม SMEs

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า โครงการ Factory Sandbox ถือเป็นเรื่องดี แต่ที่ผ่านมาโรงงานขนาดใหญ่บางส่วนที่มีศักยภาพได้ดำเนินการไปแล้ว และมีการจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มมาฉีดให้พนักงานบางส่วน เนื่องจากภาครัฐจัดสรรวัคซีนมาให้จังหวัดน้อยมาก

แต่มาตรการที่บังคับให้โรงงานต้องซื้อ ATK ตรวจทุกสัปดาห์ ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องแบกรับภาระค่อนข้างสูง ชุดตรวจมีราคาเฉลี่ย 200 บาท/ชุด ถ้าโรงงานมีพนักงาน 6,000 คน ต้องสุ่มตรวจพนักงาน 10% คือ 600 คน เท่ากับ 120,000 บาทต่อสัปดาห์แล้ว เป็นต้นทุนที่สูง

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลหันมาพิจารณาช่วยโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินมาตรการป้องกันต่าง ๆ ได้มากนัก

นายสมบูรณ์ ตรีพรเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า โครงการ Factory Sandbox ที่ระบุให้โรงงานขนาดใหญ่ต้องตรวจเชิงรุก และจัดทำโรงพยาบาลสนามนั้น เป็นสิ่งที่โรงงานขนาดใหญ่ทำอยู่แล้ว เพราะมีทั้งพื้นที่และเงินในการจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้พนักงาน ที่น่าห่วงคือโรงงานขนาดกลาง และเล็กซึ่งมีเงินทุนน้อย และพื้นที่จำกัดไม่สามารถทำโรงพยาบาลสนามได้ แต่ภาครัฐไม่เคยมีงบประมาณมาแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการ

นนทบุรี-ปทุมฯจี้รัฐช่วยต้นทุน

นายเชาวลิต เอื้อชูยศ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยว่า ในจังหวัดนนทบุรี ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ทำโครงการ Factory Sandbox ไปแล้วกว่า 80% ผู้ว่าราชการจังหวัดมีนโยบายให้ทุกโรงงานช่วยกันทำ ไม่ใช่เพียงแต่ 4 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งทุกโรงงานก็ปรับตัวได้เร็ว แต่โครงการดังกล่าว ผู้ประกอบการโรงงานต้องแบบรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจพนักงานเองทั้งหมด

“Factory Sandbox อาจช่วยทำให้หยุดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ดีขึ้น แต่ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะผู้ประกอบการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงมาก ปัจจุบันชุดตรวจ ATK ราคาต่ำสุด 150 บาท/ชุด ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐให้เอกชนดูแลตัวเอง นับตั้งแต่เกิดการระบาดด้วยต้นทุนสูงถึง 350-400 บาท/ชุด”

นายชวลิต ครองสิน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า สำหรับ Factory Sandbox จากเงื่อนไขที่ออกมา ถ้าให้สถานประกอบการลงทุนช่วยเหลือตัวเองคงเป็นไปได้ยาก เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และเป็นการโยนหินถามทางมากกว่า ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือมี 3 ข้อ ได้แก่ 1) ลดดอกเบี้ย ให้กับสถานประกอบการ

2) ให้แบงก์ชาติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 1% ให้สถานประกอบการทุกกิจการได้ฟื้นตัวจากที่ได้รับผลกระทบโรคโควิด-19 3) ให้มีการจัดทำโรงพยาบาลสนาม เป็นโมเดลของจังหวัด เพราะสถานประกอบการในจังหวัดปทุมธานีมีค่อนข้างมาก กว่า 4,000 แห่ง มีแรงงานที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม ประมาณ 560,000 คน เพราะฉะนั้น ควรมีโรงพยาบาลสนามที่รองรับแรงงานให้เพียงพอต่อความต้องการ

3 สภาธุรกิจยื่นข้อเสนอนายกฯ

โดยล่าสุดมีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ทำหนังสือข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี 5 ประเด็นหลัก คือ 1.การจัดหาและจัดสรรวัคซีน 2.ยาและอุปกรณ์การแพทย์ 3.การตรวจเชิงรุกด้วย ATK 4.สถานที่กักตัวและคัดแยกผู้ป่วย และ 5.การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ มีข้อเสนอในรายละเอียดจำนวนมาก อาทิ

1.ขอให้ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของ ศบค.ให้มีการสั่งการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการจัดสรรวัคซีน 2.อนุญาตให้เอกชนติดต่อนำเข้าวัคซีนได้ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและค่าใช้จ่าย 3.สนับสนุนให้เอกชนผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์

4.ควบคุมดูแลชุดตรวจ ATK ให้มีราคาที่เหมาะสม 5.สนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้กับภาคธุรกิจเอกชน 6.สนับสนุนค่าใช้จ่ายเอกชนในการทำ company isolation 7.ขอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีธุรกิจเอสเอ็มอี (บัญชีเดียว) เป็นเวลา 3 ปี


8.ให้รัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหาย ผ่าน บสย.เป็น 60% จากเดิม 40% เพื่อให้แบงก์กล้าปล่อยกู้มากขึ้น 9.ขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ในปีภาษี 2565 10.ลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายซื้อ ATK และวัคซีน 11.เสนอผ่อนปรน เช่น พิจารณาเปิดบางกิจการที่พนักงานและลูกจ้างได้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว เป็นต้น