บอร์ดอีอีซีเดินหน้าระยะ 2 ดึงลงทุน BCG ดัน GDP โต 5% ต่อปี

คณิศ แสงสุพรรณ
คณิศ แสงสุพรรณ

บอร์ดอีอีซีเดินหน้าแผนระยะ 2 ดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ปีละ 4 แสนล้านบาท ดัน GDP โต 5% ต่อปี ชี้หลังไตรมาส 1/65 4 โครงการยักษ์เดินหน้าก่อสร้างตามแผน

วันที่ 7 มกราคม 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธานที่ประชุมว่าปี 2565 นี้

อีอีซีจะเร่งสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ขับเคลื่อนแผนลงทุนระยะ 2 (ปี 2565-2569) ตั้งเป้าเกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท จากการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท ดึงดูดการลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ต่อยอดจากฐานปกติ และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ปีละ 4 แสนล้านบาท เพื่อให้เกิดการลงทุนนวัตกรรมใหม่เคียงคู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตขึ้น (GDP) 5% ต่อปี มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการของไทยมีมูลค่าสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ จะเกิดการพลิกโฉมการศึกษาพัฒนาทักษะบุคลากรโดยเฉพาะด้านดิจิทัลที่จะสร้างตำแหน่งงานใหม่ รายได้มั่นคง

“ส่วนปัญหาการแพร่ระบาดของโอมิครอนตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และยังต้องรอการประเมินที่ชัดเจนมากกว่านี้ ด้านความรุนแรงของการแพร่ระบาด การเสียชีวิต อย่างไรก็ดีในปีนี้อีอีซีมีความก้าวหน้าในด้านการลงทุนและจะเร่งให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องต่อไป”

และโดยปี 2572 อีอีซี ยังจะตั้งเป้าหมายสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงจากฐานราก ให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนา รวมทั้งยกระดับคุณภาพชุมชนในมิติต่างๆ ต่อเนื่อง สร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างชุมชนที่มั่งคั่ง ให้กับคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเป็นองค์กรต้นแบบการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษทั่วประเทศในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุม กพอ. ยังรับทราบความก้าวหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสำคัญของอีอีซีที่ได้ผลักดันการลงทุนร่วมรัฐ-เอกชน (PPP) จนสำเร็จครบ และต่อจากไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ ทุกโครงการ (รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบัง) จะสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ตามแผนทั้งหมด

นับเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ไม่ต้องพึ่งพิงเงินกู้ต่างประเทศเช่นในอดีต รัฐได้ประหยัดงบประมาณ ร่วมมือกับเอกชนไทย ใช้เงินไทย ใช้บริษัทไทย ใช้คนไทย ร่วมสร้างประเทศไทยที่แข็งแกร่งเป็นแกนหลักนำพันธมิตรต่างชาติมาร่วมลงทุน สร้างงาน สร้างเงินให้คนไทย มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 654,921 ล้้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนสูงถึง 210,352 ล้านบาท

ส่วนความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่ อีอีซี ยกระดับให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี และบริการที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งปัจจุบันสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สกพอ. ได้ลงนาม ในสัญญาจ้าง และสัญญาเช่าที่บริการถอดรหัสพันธุกรรม กับกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี และจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้อง เป็นต้นแบบในพื้นที่ อีอีซี เพื่อให้คนไทยทุกคน ได้รับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รักษาได้ตรงอาการ และมีสุขภาพดี

นายคณิศกล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมการดำเนินงาน อีอีซี ที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน โดยใน ปี 2561-64 ถือเป็นช่วงวางเสาเอก หรือเริ่มต้นมี พ.ร.บ.อีอีซี ถึงแม้ใน 2 ปีหลังจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ อีอีซี ได้อนุมัติการลงทุนแล้วกว่า 1.7 ล้านล้านบาท (การลงทุนภาคเอกชน 80% และภาครัฐ 20%) เกิดจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 654,921 ล้านบาท ลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 924,734 ล้านบาท และบูรณาการเชิงพื้นที่ประมาณ 82,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลังจากเกิด อีอีซี ทำให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เฉลี่ยสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2559 (ก่อนมี อีอีซี) ที่มีมูลค่าลงทุน 1.7 แสนล้านบาท (คิดจากมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ BOI) เกิดสัดส่วนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ต่อประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 52% จาก 36% ก่อนมี อีอีซี เกิดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 59% (ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์สงครามการค้า (Trade war) และโควิด-19 ในช่วงปี 2562-ปัจจุบัน) เกิดการริเริ่ม พัฒนาทักษะบุคลากร สร้างคนตรงกับงาน (อีอีซี โมเดล) ให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้นถึง 14,467 คน

พร้อมมีแผนขยายผลผูกพันเพิ่มเติมอีกกว่า 150,000 คน เกิดความร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐ เสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ชุมชนคนพื้นที่ เข้าถึงแหล่งเงินทุนฟื้นฟูกิจการคลายผลกระทบช่วงโควิด-19 โดยได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจประชาชนไปแล้ว 7,672 ราย คิดเป็นมูลค่า 1,052.7 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการขนาดรายเล็ก 1,359 ราย คิดเป็นมูลค่า 1,986.8 ล้านบาท และยังเกิดการพัฒนาและยกระดับชีวิตชุมชนครบมิติ

อาทิ เกิดแผนเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดี มั่นคงใช้เทคโนโลยีผลิตสินค้าตรงความต้องการของตลาด ส่งเสริมการลงทุนศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี รักษาตรงจุด เข้าถึงได้ทุกคน แผนการพัฒนาท่องเที่ยว NEO Pattya สร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน เสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ชุมชนคนพื้นที่ เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดกิจการคลายผลกระทบช่วงโควิด-19 เป็นต้น