คิงส์เกตรีสตาร์ตเหมืองทอง พลิกขาดทุนทำกำไร 300 ล้าน

เหมืองทอง

“คิงส์เกต” แจ้งเหมืองทองคำพร้อมกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง หลังถูกคำสั่ง คสช.หยุดไป 5 ปี ชี้รัฐบาลไทยต่ออายุประทานบัตร 4 แปลง อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำอีก 44 แปลง พ่วงกับให้เปิดโรงแปรรูปโลหกรรมได้ ถือเป็นการดำเนินการคู่ขนานกับการพิจารณาในอนุญาโตตุลาการ จับตาคำตัดสินสิ้นเดือนมกราคมนี้

ผลจากการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในช่วงเวลานั้นเรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ด้วยการระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ และการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 หรือการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี (Chatree Gold Mine) พื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดพิจิตรกับจังหวัดเพชรบูรณ์ของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Kingsgate Consolidatedผู้บริหารจัดการเหมืองแร่ทองคำรายใหญ่ ต้อง “ปิดกิจการ” ลงไปเป็นเวลาถึง 5 ปี

และตามมาด้วยข้อขัดแย้งระหว่างบริษัท Kingsgate กับรัฐบาลไทยด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า การระงับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรีของรัฐบาลไทย (คสช.) นั้น เป็นการ “ละเมิด” ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) โดยอ้างเหตุผลเรื่องของปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยที่ยังมีข้อโต้แย้งและไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าเกิดจากกระบวนการทำเหมืองแร่ของบริษัทอัคราฯ

และตามมาด้วยการยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท

โดยคณะอนุญาโตตุลาการมีกำหนดการที่จะแจ้งผลคำตัดสินในสิ้นเดือนมกราคมนี้ หลังจากที่ถูกขอให้เลื่อนผลการพิจารณามาหลายครั้ง เนื่องจาก Kingsgate ได้เปิดการเจรจา “คู่ขนาน” กับรัฐบาลไทยเพื่อยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ทยอยต่อประทานบัตร 4 แปลง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในช่วงระหว่างปี 2563-2564 ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (2560) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้กลับมาพิจารณาอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และคำขอต่ออายุประทานบัตรของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งถูกคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 ให้ “ระงับ” การดำเนินการทั้งหมดไปตั้งแต่ปี 2560

โดยในเดือนตุลาคม 2563 คณะกรรมการแร่ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ได้ให้ความเห็นชอบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2563-46/2563 ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2568 เพื่อการสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง (397,696 ไร่) ในพื้นที่ อ.ชนแดน กับ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ (คำขอที่ บมจ.อัคราฯ ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และปี 2548) อาชญาบัตรพิเศษฉบับใหม่นี้ให้มีอายุในการสำรวจไม่เกินแปลงละ 5 ปี

ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2564 หรือหลังจากที่ให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ 44 แปลงได้ 1 ปี คณะกรรมการแร่ก็ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ “ต่ออายุ” ประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำ และเงินจำนวน 4 แปลง

แบ่งเป็น 1.ประทานบัตรที่ 25528/14714 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 2.ประทานบัตรที่ 26910/15365 3.ประทานบัตรที่ 6911/15366 และ 4.ประทานบัตรที่ 26912/15367 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ออกไปอีก 10 ปี โดยประทานบัตรในการทำเหมืองทองจะมีอายุตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2574

นอกจากนี้ กพร.ยังได้ “ต่ออายุ” ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 (ใบอนุญาตแปรรูปทองคำ-เงิน) ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กับที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ออกไปอีก 5 ปี (19 มกราคม 2565-18 มกราคม 2570)

โดยให้เหตุผลว่า คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่ บมจ.อัคราฯได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม และต่อมาได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (2560) ด้วย

พร้อมเปิดเหมืองทองคำอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าห้วงเวลาในการพิจารณาอาชญาบัตรพิเศษ การต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และการต่ออายุโรงแปรรูปโลหกรรมให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซสนั้นอยู่ในระยะเวลาเดียวกันกับกระบวนการหารือเพื่อยุติข้อพิพาทนอกคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ระหว่างบริษัท Kingsgate กับรัฐบาลไทย หรือกระบวนการให้การพิจารณาในคณะอนุญาโตตุลาการ 3 ฝ่ายก็พิจารณากันไปส่วนการหารือนอกรอบก็ทำกันไป

จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้เกี่ยวข้องว่า รัฐบาลไทยกำลังหาทางที่จะยุติข้อพิพาทเนื่องจาก Kingsgate เรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกคำสั่ง คสช.ให้ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำคิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 25,000 ล้านบาท ขณะที่ทางอนุญาโตตุลาการเองก็เลื่อนประกาศคำตัดสินมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า บริษัท Kingsgate ได้ออกเอกสารแถลงข่าวในวันที่ 19 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ กพร.ยอม “ต่ออายุ” ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้กับ บมจ.อัคราฯ

โดย Kingsgate ได้แสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยต่ออายุประทานบัตรเดิมของบริษัทจำนวน 4 แปลง การต่ออายุโรงโลหกรรมส่งผลให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี (ที่ถูกคำสั่ง คสช.ระงับการดำเนินการ) สามารถกลับมาเปิดดำเนินการใหม่ หรือ reopen ได้อีกครั้ง โดยบริษัทพร้อมที่จะปรับปรุงโรงงาน จัดหาคน ผู้เชี่ยวชาญในการทำเหมืองต่อไป

“ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี ทาง Kingsgate รับทราบความร่วมมือและความปรารถนาดีของรัฐบาลไทยที่แสดงผ่านทางการต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 4 แปลงในครั้งนี้” เอกสารของ Kingsgate ระบุไว้อย่างชัดเจน

อัคราฯเริ่มกลับมามีกำไรอีกครั้ง

แหล่งข่าวในวงการเหมืองแร่ตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารแถลงข่าวของบริษัท Kingsgate ฉบับล่าสุดแสดงให้เห็นว่า Kingsgate ตอบรับสัญญาณบวกจากรัฐบาลไทยและแสดงความยินดีที่จะได้กลับมาดำเนินการเปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่ถูกปิดไป 5 ปีก่อนให้กลับมาทำเหมืองทองคำต่อในพื้นที่ อ.ทับคล้อ-วังโป่ง

โดยก่อนหน้านี้ในปลายปี 2563 รัฐบาลไทยก็ยอมให้ บมจ.อัคราฯนำ “กากตะกอน” ที่เป็นทองคำจำนวน 4,750 ออนซ์ กับเงิน 34,800 ออนซ์ ซึ่ง บมจ.อัคราฯถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทคิดเป็นมูลค่า 14 ล้านเหรียญออสเตรเลียให้บริษัทไปดำเนินการต่อได้

สำหรับผลประกอบการล่าสุดของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซสรอบเดือนมิถุนายน 2564 ปรากฏว่าบริษัทมีกำไร 307,943,542 บาท จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2563) มีผลประกอบการขาดทุน -70,455,130 บาท ในขณะที่ปี 2562 ขาดทุน -258,085,995 บาท, ปี 2561 ขาดทุน -286,513,254 บาท และเดือนมิถุนายน 2560 มีกำไร 977,378,348 บาท