ตรึงไม่อยู่ ‘สินค้าแห่ขึ้นราคา’ TDRI เตือนมาตรการรัฐทุบภาคการผลิต

สินค้าพาเหรดขึ้นราคาสวนทางพาณิชย์ขอความร่วมมือ “ตรึง” ล่าสุดทีดีอาร์ไอชี้ตรึงราคาไม่ช่วยหวั่นเอกชนลดกำลังผลิตหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนแรงกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลกดันเงินเฟ้อไทยปี 2565 โตทะลุเป้าแบงก์ชาติ 3.6% สูงสุดในรอบ 11 ปี ด้านกรรมาธิการแนะรัฐปรับมาตรการ เร่งดูแลเพิ่มรายได้ผู้มีรายได้น้อย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัญหาเรื่องราคาสินค้ารุนแรงมากขึ้นในไตรมาส 1 โดยขณะนี้มีผู้ผลิตสินค้าประกาศปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน น้ำมันพืช เนื้อหมู (ตามกราฟิก)

ปัจจัยหลักต้นทุนน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นกระทบต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ธัญพืชโลกปรับตัวสูงขึ้น โรคระบาดอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF)

ซึ่งการปรับราคาดังกล่าวสวนทางกับมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า 18 กลุ่มเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งแทบจะครอบคลุมทุกกลุ่ม

อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสด อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืชน้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ บริการผ่านห้าง ค้าปลีก-ส่ง

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยระหว่างการเสวนาหัวข้อ สินค้าราคาแพง…รัฐแทรกแซงตลาด คือทางออก ?

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 มีนาคม 2565 ว่า ปัญหารัสเซีย-ยูเครนมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเฉลี่ย 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขยายตัว 5.28% ที่ผ่านมา

โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงได้ในครึ่งปีหลังเฉลี่ย 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะไม่ต่ำไปกว่านี้แน่นอนเป็นผลมาจากสหรัฐ เพิ่มการผลิตน้ำมันเชลออยล์เพื่อลดแรงกดดันราคาน้ำมันที่เกิดจากสงคราม และจากผลราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็จะมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

ขณะที่ปัญหาราคาเนื้อสุกรของไทยปรับขึ้นกว่าจะคลี่คลายและเพิ่มผลผลิตหมูต้องใช้เวลาเป็น 1 ปี ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นจากรัสเซีย-ยูเครนเป็นประเทศที่ผลิตข้าวสาลี 1 ใน 5ของโลกที่ผลิตออกสู่ตลาดโลก

“มาตรการตรึงราคาไม่ได้ช่วยแต่อาจจะเป็นการกดดันไม่ให้เอกชนผลิตสินค้าออกมา และผู้ประกอบการก็อาจจะต้องปรับตัวจัดการต้นทุน นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยเหลือ เพราะหากจะทำรายได้ด้านราคาก็อาจจะทำไม่ได้ในภาวะเช่นนี้

ส่วนการอุดหนุนดีเซลที่รัฐบาลทำเป็นการช่วยเหลือทุกส่วน คนขับรถหรูที่ใช้ดีเซลก็ได้ประโยชน์ไปด้วย รัฐควรจะแก้ไขและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแบบเจาะจง เช่น กลุ่มรถบรรทุกที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน หรือการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย คนละครึ่งทั่วประเทศอาจจะเจาะจงผู้ที่เดือดร้อน การทำร้านธงฟ้า”

อย่างไรก็ตาม จากแรงกดดันปัญหาต่าง ๆ มองว่าในปีนี้ธนาคาiแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะความต้องการสินค้าบริการยังไม่สูงขึ้น

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประเมินว่าเงินเฟ้อของไทยทั้งปี 2565 จะขยายตัว 3.5-3.6% สูงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ 3% ถือว่าเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยคาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาค่าครองชีพที่ปรับขึ้นแล้วการจะปรับลดลงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย


การที่ภาครัฐนั้นมีมาตรการออกมาขอความร่วมมือในการตรึงราคา ยังไม่ใช่มาตรการที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ทั้งยังเข้าถึงน้อยด้วยแต่สิ่งสำคัญการเข้าแทรกแซงราคาต้องดูเป็นจุด อีกทั้งภาครัฐต้องช่วยเพิ่มรายได้ประชาชนในช่วงนี้