หวั่นจีดีพีไทยทรุด โอมิครอนพ่วงวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ฉุดดัชนีความเชื่อมั่น ก.พ.65

ส่งออก

หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. ลดต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 43.3 ผลมาจากกังวลยอดติดเชื้อโอมิครอนพุ่ง-ยูเครนซ้ำเติม ราคาน้ำมันพุ่ง

วันที่ 9 มีนาคม 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกุมภาพัน 2565 อยู่ที่ระดับ 43.3 จากเดือนมกราคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.8 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมา

เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

ธนวรรธน์ พลวิชัย

ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3.5-4.5% ในปีนี้

นอกจากนี้ การที่ระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 37.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 40.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 52.6 โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมกราคม ที่อยู่ในระดับ 38.7 41.4 และ 54.4 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 28.5 มาอยู่ที่ 27.5 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำมากแสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 52.5 มาอยู่ที่ระดับ 50.8 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากเช่นเดียวกันและอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

สำหรับปัจจัยลบ ที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ประกอบด้วย ประชาชนกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มเข้ามาในช่วงปลายเดือน ก.พ., ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น, ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัว รวมทั้งปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง, ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าจากเดือน ม.ค.

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 4/64 ขยายตัวได้ 1.9% ส่งผลให้ทั้งปี 64 GDP ขยายตัวได้ 1.6% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 1.2% ขณะที่คาดว่า GDP ในปี 65 จะขยายตัวได้ 4%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 0.50%, รัฐบาลยังมีมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ

เช่น ช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง, ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของทั่วโลกรวมทั้งไทยสามารถทำได้เพิ่มมากขึ้น และราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น