คลังปรับแผนกู้เต็มเพดาน 1 ล้านล้าน ดันหนี้สาธารณะปีงบ’64 พุ่ง 56%

เงิน

สบน. เผยปีงบ’64 มีแผนก่อหนี้เพิ่ม 2.3 ล้านล้านบาท พร้อมปรับแผนกู้เงินตาม พ.ร.ก. เต็มอัตรา 1 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะพุ่ง 56% ยันบริหารหนี้ดีเมื่อเทียบประเทศอื่น ชี้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพราะเหตุการณ์ไม่ปกติ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา สบน. กู้เงินผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ส่วนที่เหลือจะมากู้ในปีงบประมาณ 2564 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) ได้เพิ่มไปแล้ว ซึ่งที่เหลืออยู่ยังไม่ได้กู้ก็ได้ใส่เข้าไปในแผนกู้เงินปีนี้ทั้งหมด โดยหากกู้เงินทั้งหมดครบ 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลให้หนี้สาธารณะสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ระดับ 56% ภายใต้การประเมินจีดีพีมีการหดตัว 1% จากโควิด-19 รอบใหม่เข้ามา

แพตริเซีย มงคลวนิช
แพตริเซีย มงคลวนิช

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาปรับกรอบหนี้สาธารณะ ถ้าไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินส่วนใดเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้หนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบที่สูงสุดไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี โดยในปีงบประมาณ 2564 สบน.มีแผนการก่อหนี้รวมทั้งหมด 2.3 ล้านล้านบาท โดยใช้เครื่องมือผ่าน พันธบัตรรัฐบาล 8.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 36%, ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) 5.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 22%, ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) 8.22 แสนล้านบาท คิดเป็น 35%, พันธบัตรออมทรัพย์ 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 5% และเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) วงเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2%

“ตอนนี้เหตุการณ์ไม่ปกติ มีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเข้ามา ซึ่งต้องบอกว่าการกู้ของหนี้สาธารณะประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เราดีกว่าเยอะ ทุกคนยังมองว่าเราบริหารได้ค่อนข้างดี ซึ่ง 50% ของหนี้สาธารณะ จริง ๆ หนี้ของรัฐบาลที่รับภาระแค่ 40% อีก 10% เป็นของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกรอบ ซึ่งเขาก็ไม่ได้เป็นภาระงบประมาณ ฉะนั้นหากเทียบของเรา ต้องมาดูว่าภาระงบประมาณจริง หนี้สาธารณะของเราต้องใช้ตัวเลข 40% เมื่อเทียบกับสากล แต่ก็ปฏิเสธเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงินเข้ามาช่วยโควิดไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีก็จะไม่มีเม็ดเงิน เช่น อเมริกา ก็กู้เหมือนกัน”

ทั้งนี้ ถ้าสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย ขณะนี้ก็ยังมีวงเงินเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ยืนยันว่ารัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอในการดูแลประชาชน เพราะนอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินจากงบกลางและอื่น ๆ ฉะนั้น เงินยังพอมีเหลืออยู่เยอะ ส่วนจะใช้เม็ดเงินจากส่วนใดมาดูแล ก็เป็นเรื่องของสำนักงบประมาณที่จะต้องดูในเรื่องงบกลาง แต่หากไม่ใช้งบกลาง สบน.ก็มีเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน

ทั้งนี้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 22 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินไปแล้ว 711,607 ล้านบาท โดย สบน.กู้ไปแล้วทั้งสิ้น 393,761 ล้านบาท คิดเป็น 39% และจะทยอยกู้ไปเรื่อย ๆ โดยแบ่งเป็น 1.แผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติกรอบแล้ว 19,698 ล้านบาท ซึ่ง สบน.ได้มีการตั้งเบิกไปแล้ว 1,561 ล้านบาท

2. แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 565,000 ล้านบาท ซึ่งโอนมาจากแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 10,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติกรอบแล้ว 558,753 ล้านบาท โดยมีการตั้งเบิกแล้ว 322,819 ล้านบาท ซึ่งส่วนที่เหลือ 210,200 ล้านบาท จะเป็นเรื่องของโครงการเราชนะ

และ 3. แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 390,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติกรอบ 133,159 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 48,998 ล้านบาท