คลังยกเครื่อง “ซอฟต์โลน” แก้ทุกปมเดินคู่โกดังพักหนี้

เงินบาท-ธนบัตร
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

“คลัง-แบงก์ชาติ” เร่งยกร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ แก้ปมซอฟต์โลน 5 แสนล้าน อุ้มธุรกิจท่องเที่ยวขาดสภาพคล่องหนัก เผยร่างใหม่ปลดทุกล็อก ขยายเวลาปล่อยกู้ 5-10 ปี เพิ่ม ชดเชยความเสียหายให้แบงก์ เดินเกมคู่ขนาน “โกดังพักหนี้” ธปท.นัดถกสมาคมแบงก์เคาะวงเงินให้ธนาคารรับโอนสินทรัพย์โรงแรมไม่เกิน 1 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งหาข้อสรุปเพื่อออกแพ็กเกจมาตรการดูแลภาคท่องเที่ยว ซึ่งจะรวบรวมออกมาเป็นแพ็จเกจใหญ่ดูแลครอบคลุมทั้งซัพพลายเชน โดยจะพยายามให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ ทั้งนี้ เรื่องหลักที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งดำเนินการอยู่ คือ โครงการ “โกดังพักหนี้” หรือ “Asset Warehousing” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในลักษณะ “แช่แข็งหนี้” ช่วยให้ลูกหนี้ไม่มีภาระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 3-5 ปี (แบงก์ชาติแช่แข็งหนี้ 5 ปี อุ้มท่องเที่ยว : ประชาชาติธุรกิจฉบับจันทร์ 15-พุธ 17 ก.พ. 2564)

ยกร่าง “ซอฟต์โลน” ใหม่

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากนี้ โครงการ “แช่แข็งหนี้ 5 ปี” อีกเรื่องสำคัญที่ สศค.และแบงก์ชาติ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการควบคู่กันก็คือ การยกร่างพระราชกำหนดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ฉบับใหม่ โดยจะมีการปลดล็อกเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนแบงก์ชาติ 5 แสนล้านบาท (ฉบับเดิม) มีการกำหนดเงื่อนไขป้องกันความเสี่ยงสูง ทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ โดยข้อมูลล่าสุด (8 ก.พ. 2564) มีการปล่อยกู้ซอฟต์โลนไปเพียง 125,777 ล้านบาท มีผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิเพียง 74,800 ราย

เนื่องจากในการทำ พ.ร.ก.ฉบับเดิมนั้น ขณะนั้นทุกฝ่ายประเมินว่าปัญหาการระบาดจะสิ้นสุดภายใน 1 ปี โดยไม่คิดว่าปัญหาจะยืดเยื้อและบานปลายขนาดนี้ ทำให้การออกแบบกฎหมายกำหนดระยะเวลาปล่อยกู้ซอฟต์โลนเพียง 2 ปี ดอกเบี้ยต่ำ 2% พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขค่อนข้างมาก จนทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ แต่ในการดีไซน์กฎหมายครั้งนี้จะเน้นความยืดหยุ่น ให้สอดคล้องสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงเน้นปลดล็อกเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการได้มีการนำเสนอหรือร้องเรียนมา

ปลดทุกล็อก-เปิดทุกรูม

แหล่งข่าวกล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ที่จะมีการปรับแก้ อาทิ ขยายระยะเวลาปล่อยกู้จากฉบับเดิมกำหนดเพียง 2 ปี ขยายเป็น 5-10 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% (จากฉบับเดิมกำหนดดอกเบี้ย 2%) เนื่องจากลูกหนี้มีหลากหลายกลุ่ม ความเสี่ยงต่างกัน

รวมถึงเดิมกำหนดผู้ที่จะขอซอฟต์โลนได้ต้องมีสินเชื่อคงค้างกับธนาคาร หรือต้องเป็นลูกหนี้เก่าของธนาคารเท่านั้น แต่ร่างกฎหมายใหม่จะเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีสินเชื่อคงค้างกับธนาคารสามารถขอซอฟต์โลนได้

นอกจากนี้จะมีการปรับแก้เงื่อนไข “การชดเชยความเสียหาย” ให้กับธนาคารกรณีเป็นหนี้เสีย โดยครั้งนี้จะปรับวิธีการคำนวณ รวมทั้งปรับเพิ่มการชดเชยความเสียหายเพื่อให้ธนาคารกล้าปล่อยกู้มากขึ้น โดยอาจปรับเป็นชดเชยความเสียหายไม่เกิน 80% ของลูกหนี้แต่ละราย

คู่ขนาน “ซอฟต์โลน-ฟรีซหนี้”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่นี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง โดย สศค. และแบงก์ชาติ โดยที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ก็เข้าร่วมรับฟังและเห็นชอบในหลักการเสนอร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอาจจะมีการปรับแก้ในขั้นตอนของกฤษฎีกาก็ต้องติดตามต่อไป

สำหรับวงเงินภายใต้ร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของระดับนโยบายว่า มูลค่าเท่าไหร่จะสอดคล้องกับปัญหา หรือความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ หรืออาจจะเป็นการกำหนดวงเงินที่เหลือจากซอฟต์โลน (ฉบับเดิม) ก็ได้

“การจัดทำร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ เป็นการดำเนินการคู่ขนานกับโครงการแช่แข็งหนี้ เพื่อเป็นกลไกช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ที่ต้องเผชิญกับปัญหาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ๆ แล้ว มีทางเลือก เช่น บางรายอาจต้องการเข้าโครงการแช่แข็งหนี้ เพื่อหยุดภาระเงินต้นและดอกเบี้ย โดยการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ให้แบงก์ แต่มีเงื่อนไขว่ามีสิทธิซื้อคืนทรัพย์จากแบงก์ได้ภายใน 5 ปี แต่ผู้ประกอบการบางรายอาจจะไม่ต้องการโอนทรัพย์ไปให้แบงก์ และต้องการเพียงซอฟต์โลนเพื่อเป็นสภาพคล่องในการทำธุรกิจ ก็จะมีทางเลือก”

ธปท.ถกเจ้าหนี้รับซื้อโรงแรม

สำหรับความคืบหน้าโครงการ “แช่แข็งหนี้” แหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการประชุมร่วมกับสมาคมธนาคารไทย (TBA) และธนาคารสมาชิก สรุปความคืบหน้าโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ในลักษณะของ “โกดังเก็บหนี้” หรือ Asset Warehousing เพื่อช่วยลูกค้าปลดภาระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยมีระยะเวลา 3-5 ปี เป็นการซื้อเวลาช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตในขณะที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดยกำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้สามารถ “ซื้อคืนทรัพย์” จากธนาคารได้ภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงข้อตกลงเช่าประกอบกิจการต่อได้

“เบื้องต้นมีการกำหนดวงเงินที่ธนาคารจะรับซื้อธุรกิจโรงแรมราว 5 หมื่นล้าน-1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี การตีโอนหลักทรัพย์โรงแรมมาอยู่ที่ธนาคาร จะทำให้เกิดต้นทุนภาษี 2 ส่วน คือ ภาษีการโอน และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทางกระทรวงคลังจะต้องออกกฎหมายยกเว้นภาษีทั้ง 2 ส่วนออกมา เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ในการทำโกดังพักหนี้”

ทั้งนี้ กรอบมูลค่าการซื้อธุรกิจโรงแรมราว 5 หมื่นล้าน-1 แสนล้านบาท เป็นกรอบเบื้องต้นเพื่อใช้ในการหารือกับกรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน เป็นต้น เนื่องจากจะต้องมีการออกกฎหมายยกเว้นภาษีต่าง ๆ

แบงก์รับลูก “โกดังเก็บหนี้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับในส่วนภาคธนาคารพาณิชย์ ทุกฝ่ายยอมรับกับแนวทางการช่วยเหลือดังกล่าวเพื่อให้เป็นที่พักทรัพย์ หรือโกดังเก็บหนี้ให้ลูกหนี้อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ธปท.ได้มีมาตรการช่วยเหลือธนาคารให้ไม่ต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น โดยให้ธนาคารสามารถแปลงลูกหนี้การค้าเป็นสินทรัพย์ของธนาคารได้

“เราเห็นว่าโรงแรมตอนนี้ภาระหนี้เยอะ รายได้น้อย จึงให้โอนทรัพย์มาเป็นของแบงก์ และหากลูกค้ามีศักยภาพหรือนักท่องเที่ยวกลับมาก็สามารถซื้อทรัพย์คืนได้ ซึ่งตอนนี้ปัจจัยอยู่ที่ว่ากระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร จะโอเคเรื่องภาษีหรือไม่ เพราะแบงก์ไม่ได้มีปัญหาเพราะต้องการช่วยเหลือลูกค้า ส่วนภาระการตั้งสำรอง ธปท.ก็จะมีมาตรการยกเว้นเพิ่มเติม ส่วนค่าใช้จ่ายที่แบงก์มีเพิ่มขึ้น จะเป็นต้นทุนทางด้านการดูแลรักษาทรัพย์ไว้คงเดิมเท่านั้น เช่น ภาระเบี้ยประกันอัคคีภัย เป็นต้น”

สำหรับการแก้ปัญหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยจะมีการออก พ.ร.ก. ซอฟต์โลนฉบับใหม่เลย เนื่องจากการแก้ไขของเดิมจะใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงได้ร่าง พ.ร.ก.ขึ้นใหม่ โดยหลักเกณฑ์คุณสมบัติต่าง ๆ จะมีความผ่อนคลายและผ่อนปรนมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่ตรงจุดและสามารถให้ปล่อยสินเชื่อได้คล่องขึ้น


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) เข้าที่ประชุม กมธ. เมื่อ 20 มกราคมที่ผ่านมา