คลังกวาดทุกเก๊ะ “งบฯ-เงินกู้” 3.8 แสนล้าน รับมือโควิดระบาดรอบใหม่

กระทรวงการคลัง

“โควิด-19” ระลอกใหม่ จาก“คลัสเตอร์ผับ-บาร์” กำลังไล่ต้อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่มุมอับอีกครั้ง หลังจากทำท่าว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น มีการเตรียมการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทุกอย่างดูฝันสลายลงไป อย่างไรก็ดี การดูแลผลกระทบและการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องทำต่อเนื่อง

โดย “ดร.กุลยา ตันติเตมิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ได้ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหลังเกิดโควิดระลอก 3 เพื่อเตรียมเสนอข้อมูลให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังพิจารณา

และช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ สศค.จะปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหม่ ซึ่งต้องพิจารณาผลกระทบโควิดระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ดี หากไม่มีการล็อกดาวน์เหมือนปี 2563 เศรษฐกิจก็อาจจะไม่ชะลอตัวมาก โดยที่ผ่านมาแนวโน้มเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น จากตัวเลขในเดือน มี.ค.ที่การบริโภคและการลงทุนมีทิศทางดีขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกดีกว่าที่ สศค.คาดไว้เดิมซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออก อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ก็ต้องประเมินใหม่อีกครั้ง

“ดร.กุลยา” บอกว่า ในปี 2564 นี้มีเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจจากการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ภายใต้เหตุการณ์โควิดแพร่ระบาด ทั้งจากโครงการคนละครึ่ง ที่เม็ดเงินออกไปกว่า 1.2 แสนล้านบาท

เมื่อสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 มี.ค. 2564 ทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเมื่อปี 2563 จำนวน 5 หมื่นล้านบาท และในปี 2564 อีก 5.2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินจากการที่รัฐเติมให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ2 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้ถือบัตร 13.34 ล้านคน ขณะที่โครงการเราชนะคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้2.1 แสนล้านบาท

โดยยอดใช้จ่ายผ่านโครงการล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1.9 แสนล้านบาทแล้ว แต่ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่าประมาณการเดิม ดังนั้นจึงจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเพิ่มขึ้นด้วย และยังมีเม็ดเงินจากโครงการ “ม.33 เรารักกัน” อีก 3.71 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปี 2564 ได้ 0.8-0.9%

“ตั้งแต่ปี 2563 ช่วงที่โควิด-19เข้ามาแรก ๆ รัฐบาลได้อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการตั้งแต่เราไม่ทิ้งกัน เยียวยาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เยียวยาเกษตรกร

เยียวยากลุ่มเปราะบางและมีการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นต้น ทั้งหมดกว่า4.36 แสนล้านบาท เม็ดเงินหลัก ๆ มาจากเราไม่ทิ้งกัน 2.28 แสนล้านบาท ช่วยเหลือประชาชนไปกว่า 15.3 ล้านคน

และโครงการเยียวยาเกษตรกร 1.13 แสนล้านบาท กว่า 7.6 ล้านคน ทั้งหมดนี้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ได้ประมาณ 1.2% ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจติดลบน้อยกว่าที่คาด” โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว

สำหรับการรับมือผลกระทบหลังจากนี้ “ดร.กุลยา” บอกว่า ขณะนี้รัฐมีงบประมาณกว่า 3.8 แสนล้านบาทสำหรับใช้ดูแลและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ แบ่งเป็นงบฯ

จากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 2.4 แสนล้านบาทและยังมีงบฯรายจ่ายประจำปี 2564 อีก1.39 แสนล้านบาท ทั้งในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท ที่ใช้ไปเพียง 500 ล้านบาท และงบฯค่าใช้จ่ายที่บรรเทาโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันใช้จ่ายไปเพียง 3,200 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เงินกู้ภายใต้กฎหมายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 จะต้องเร่งดำเนินการภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ และหากมีการกู้เต็มเพดาน 1 ล้านล้านบาทแล้ว แต่ยังจำเป็นที่จะต้องใช้เงินมาบรรเทาผลกระทบโควิดต่อไป ก็จะต้องมีการออกกฎหมายเพิ่มเติม

“ดังนั้นยังมีวงเงินที่จะใช้เหลืออยู่สามารถใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิดรอบใหม่นี้ได้ โดยแต่เดิมเม็ดเงินที่เราวางแผนไว้ให้ลงระบบเศรษฐกิจจะหมดในช่วงปลายเดือน พ.ค. แล้วเม็ดเงินที่เข้ามาใหม่จะเป็นช่วงเดือน ก.ค. หรือไตรมาส 3

แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป มีการระบาดของโควิดระลอกใหม่เข้ามา ก็ต้องมาดูว่าเม็ดเงินควรจะต้องลงสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วกว่านี้หรือไม่ หรือถ้าจะต่อเนื่องต้องเป็นช่วงเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งก็จะสอดคล้องกับไตรมาส 3 ที่เริ่มเดือน ก.ค. เราก็อยากเห็นเม็ดเงินลงไปเพื่อกระตุ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2”

ด้านมาตรการที่ควรจะออกมาต่อเนื่องนั้น คงต้องพิจารณากันอีกครั้ง จากเดิมที่อยู่ระหว่างการพิจารณากันว่าจะกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น คนละครึ่งเฟส 3 ที่จะดำเนินการต่อเนื่อง เมื่อจบโครงการเราชนะ แต่เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไป ดังนั้นคงต้องติดตามว่า นโยบายรัฐบาลจะออกมาอย่างไร

“มาตรการเยียวยาผลกระทบการระบาดรอบ 3 คงต้องประเมินอีกครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ดี คลังก็มีการพิจารณาความพร้อมในเรื่องเม็ดเงิน โดยเม็ดเงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ รวมถึงงบประมาณ ก็ยังมีวงเงินเหลืออยู่ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเยียวยาประชาชน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ” โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว